“ประดิษฐ์” เข้าชี้แจงอนุฯสอบรับเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้าน ปัดตอบสื่อซัก อ้างชี้แจงผ่านสภาไปหมดแล้ว ขณะที่ปธ.สอบเผย “บัญญัติ-พรเทพ” คิวต่อไป คาดหากสอบปากคำครบสรุปผลเสนอ กกต.ได้ 19 ส.ค.นี้
วันนี้ (4 ส.ค.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวน กรณีเงินบริจาคและเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 258 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้เวลาชี้แจงเกือบ 2 ชั่วโมง ภายหลังการชี้แจงนายประดิษฐ์พยายามปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าได้เคยอภิปรายชี้แจงไปในสภา รวมทั้งได้ชี้แจงกับคณะกรรมการไต่สวนฯ แล้ว คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา
เมื่อถามว่า คำชี้แจงของนายประจวบ สังข์ขาว ผู้บริหารบริษัท เมซไซอะ บิชิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ที่ปรากฏทางสื่อเป็นการให้การเท็จหรือไม่ นายประดิษฐ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนตนได้อภิปรายไปเช่นไรข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น และได้ให้การต่อ กกต.ไปหมดแล้ว และกรณีดังกล่าวจะเป็นสาเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบพรรคหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้
ด้าน นายอิศระ หลิมศิริวงษ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวน กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการสอบสวนไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยในวันที่ 11 ส.ค.นี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ในฐานะเหรัญญิกพรรคในขณะนั้น และผู้ดำเนินการอนุมัติโครงการดังกล่าวจะเดินทางเข้ามาให้ถ้อยคำกับคณะกรรมการไต่สวน ส่วนนายธงชัย ดลศรีชัย ที่ถูกระบุว่าเป็นญาติกับนายประดิษฐ์นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เข้ามาให้ถ้อยคำ แต่เบื้องต้นนายประดิษฐ์รับปากว่า จะพานายธงชัยเข้ามาให้ถ้อยคำในเร็วๆนี้ จึงคิดว่าการทำงานของคณะกรรมการไต่สวนไม่น่าที่จะต้องขอขยายเวลาออกไปอีก หากทั้ง 3 คนเข้ามาให้ถ้อยคำ
นายอิศระกล่าวอีกว่า คณะกรรมการไต่สวนน่าจะสรุปสำนวนเสนอให้กับ กกต.ได้ไม่เกินวันที่ 19 ส.ค. ซึ่งจะเป็นการเสนอในประเด็นข้อเท็จจริง และขึ้นอยู่กับ กกต.ว่าจะมีมติหรือดุลยพินิจเป็นอย่างไร หรือถ้าจะให้สอบเพิ่มในประเด็นอื่นเพิ่มเติมก็พร้อมดำเนินการ
เมื่อถามว่า จากที่ได้สอบปากคำนายประจวบ และนายประดิษฐ์แล้ว กรณีนี้เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ นายอิศระกล่าวว่า คณะกรรมการฯยังสรุปไม่ได้ เพราะต้องรอให้สอบปากคำบุคคลต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนจากนั้นก็ย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงของเรื่องตั้งแต่สอบมารวมถึงสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ทั้งหมดเป็นไปตามประเด็นคำร้องหรือไม่ แล้วจึงไปดูข้อกฎหมายต่อว่ามีการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ได้ข้อยุติ
“ในส่วนของนายบัญญัติต้องเข้ามาให้ถ้อยคำในเรื่องของเงินบริจาคที่ได้รับมาขณะนั้น การใช้จ่ายเงิน การอนุมัติโครงการในส่วนของการโฆษณา ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เบื้องต้นคณะกรรมการเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเชิญมาให้ถ้อยคำ เนื่องจากในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องดำเนินการในด้านธุรกรรมเท่านั้น” นายอิศระระบุ
เมื่อถามว่า บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เป็นบริษัทที่มีการก่อตั้งจริงหรือไม่ นายอิศระกล่าวว่า จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่อยู่รูปของนิติบุคคล ในลักษณะบริษัทจำกัด