“นพเหล่” ฉุนแทนนายใหญ่ ตะแบงใส่ “มาร์ค” อย่าว่า “พ่อแม้ว” ขี้โกง อ้างที่ดินรัชดาฯ แค่ทำผิดขั้นตอน ไม่ได้คอร์รัปชัน พูดตาหน้าเฉยเลิกหากิน “พระวิหาร” อ้างคดีจบไปแล้ว สงวนสิทธิ์คัดค้านไปก็ไร้ประโยชน์
วันนี้ (4 ก.ค.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สำนึกก่อนแล้วจึงค่อยขอพระราชทานอภัยโทษนั้น นายอภิสิทธิ์น่าจะเข้าใจว่าคดีที่ดินรัชดาฯ เกิดหลังการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นเรื่องการกระทำผิดขั้นตอน ไม่ใช่การทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การที่โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องเหมือนเป็นการชี้นำประชาชนไม่ให้ไปร่วมลงชื่อถวายฎีกา ตนไม่อยากเห็นการดูถูกประชาชนเช่นนี้ เพราะประชาชนเขาคิดเป็น ไม่จำเป็นต้องไปตัดสินใจแทนเขาทุกอย่าง การกระทำแบบนี้ คือ สาเหตุที่ประชาชนไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม การที่นายนพดลอ้างว่าคดีที่ดินรัชดาเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 นั้นถือเป็นการโกหก เพราะการซื้อที่ดินรัชดาฯ ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตรนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 และมีผู้ไปแจ้งความแล้วแค่คดีไม่คืบหน้า จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร คตส.จึงมาดำเนินการต่อ และความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่ศาลพิพากษานั้น ไม่ใช่การทำผิดขั้นตอน แต่เป็นการทำผิดมาตรา 100(1) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเ้มือง และกฎหมายดัีงกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2542
สำหรับกรณีพิพาทเขาพระวิหาร นายนพดลกล่าวว่า อยากให้นายอภิสิทธิ์หยุดการให้ข้อมูลที่บิดเบือน โดยเฉพาะการที่ระบุว่าไทยยังคงสงวนสิทธิ์ในการทวงคืน เพราะกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงแล้วว่ารื้อฟื้นไม่ได้ เนื่องจากคดีความมันจบไปแล้ว ดังนั้น สงวนสิทธิ์ไปก็เท่านั้น อยากให้นายอภิสิทธิ์เลิกหากินกับประเด็นกฎหมายที่ไม่เป็นจริงเสียที จะได้ตั้งหลักเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างถูกทาง
อย่างไรก็ตาม คำพูดของนายนพดลดังกล่าวถือว่าให้ความจริงไม่หมด เพราะนับตั้งแต่ศาลโลกได้ตัดสินคดีเมื่อปี 2505 นั้น ไทยได้ขอสงวนสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์เมื่อมีข้อมูลใหม่ และยังไม่ได้ยกเลิกการขอสงวนสิทธิ์ดังกล่าวจนบัดนี้ ส่วนที่นายนพดลอ้างว่าการรื้อฟื้นคดีทำได้ยากนั้น สาเหตุน่าจะเป็นเพราะนายนพดลเองที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อปี 2551 ซึ่งเท่ากับว่าเรายอมรับในแผนที่ซึ่งกัมพูชาใช้ในการอ้างสิทธิครอบครองปราสาทพระวิหาร ทำให้การโต้แย้งทำได้ยากขึ้น