xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีเตือนสติผู้นำอย่าใช้อำนาจเพื่อตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-องคมนตรีเตือนผู้นำประเทศ ต้องยึดหลักทศพิธราชธรรม-อย่าลืมตัวใช้อำนาจเพื่อตัวเอง ย้ำนักโทษประหารมีสิทธิทูลเกล้าฯถวายฎีกา แต่ต้องจำคุก ไม่ใช่หนีแล้วขออภัยโทษองคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและความโปร่งใสในภาครัฐ” อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ข้าราชการยึดเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้นำต้องยึดทศพิธราชธรรม อย่าลืมตัวใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การส่งเสริมการจัดทำจรรยาข้าราชการของส่วนราชการและการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในภาครัฐ” พร้อมได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและความโปร่งใสในภาครัฐ " โดยยกพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นให้ประชาชนเป็นคนดี เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และความอยู่เย็นเป็นสุขของพสกนิกร ผ่านการพระราชทานพระบรมราโชวาท กระแสพระราชดำรัสให้แก่บุคคล 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 นอกจากพระราชทานพระบรมราโชวาทแล้ว ยังถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้วย คือ 1 องคมนตรี ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และหน่วยงานอิสระ 2.พระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา 3.ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจ ครู อาจารย์ ลูกเสือชาวบ้าน และ 4. ประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ นายอำพล ได้ยกพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2512 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ คือ “ ต้องสนับสนุนคนดีให้ปกครองบ้านเมือง คนไม่ดีก็ต้องควบคุมไม่ให้มีอำนาจก่อความวุ่นวายได้ ”

นอกจากนี้ นายอำพล ยังได้อัญเชิญพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยึดทศพิธราชธรรม เป็นแนวปฏิบัติ เป็นหลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงประชาธิปไตยปฏิบัติสืบต่อมา คือ 1. ทาน (การให้) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยเหลือคนโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งพระราชอำนาจที่ให้พระองค์ตัดสินจากศาลทั้ง 3 ศาล โดยเฉพาะผู้ที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตมีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษได้ ส่วนใหญ่จะพระราชทานอภัยโทษให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต แต่คนเหล่านั้นต้องจำคุกมาหรือต้องโทษมาแล้ว ไม่ใช่หนีไปอยู่ที่อื่นแล้วมาขอพระราชทานอภัยโทษไม่ได้ และผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นญาติพี่น้อง ใกล้ชิดเป็นผู้ขอ ไม่ใช่ผู้อื่น

2.ศีล (ความประพฤติที่ดีงาม) ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และตลอดทรงครองราชย์ ทรงครองรักกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์เดียว 3. บริจาค (ความเสียสละ) ทรงเสียสละโดยไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันทรัพย์สิน ใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่นอย่างมีอุเบกขา 4.อาชวะ(ความซื่อตรง) โดยระบุว่าพระองค์ไม่เคยทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 5.มัททวะ (ความอ่อนโยน) ทรงไม่ยกตนเหนือผู้อื่น เข้าได้กับทุกชนชั้น ซึ่งน่าเสียใจที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้บริหารจะขาดสิ่งนี้ไป 6. ตบะ (ความเพียร) ความพยายามข่มกิเลสตัณหา พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ ตัดตบะได้ด้วยพระองค์เอง

7.อักโกธะ (ความไม่โกรธ) พระองค์ทรงตั้งความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง พระองค์ไม่เคยกริ้วหรือลงโทษผู้ใด พระพักตร์จะเฉย ๆ หากมีอะไรจะทูลถามว่า “แน่ใจแล้วหรือที่ทำ” 8.อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) 9.ขันติ (ความอดทน) แม้จะมีเรื่องร้ายมารุมร้อนทุกด้านไม่ว่าจะเป็นส่วนพระองค์หรือราชการ ทรงพิจารณาด้วยขันติ แม้สภาพบ้านเมืองจะวิกฤตทรงพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ยุติธรรม ยิ่งช่วงนี้พระองค์ต้องใช้สมาธิและรอบคอบอย่างมากในการพิจารณาคำบอกเล่าหรือคำบังคมทูล โดยพระองค์เคยตรัสออกมาว่า “ แน่ใจหรือเปล่าว่าเป็นเรื่องที่ถูก เป็นข่าวลือหรือเปล่า” 10. อวิโรธนะ (ความยุติธรรม) ทรงวางตนตั้งมั่นในธรรม ทรงมีความเป็นธรรมไม่เอนเอียง

“ท่านเคยรับสั่งสอนคนที่มีอำนาจว่า ผู้ที่มีอำนาจมากมักลืมตัวกับสิ่งยั่วใจ คิดว่าตัวเองเหนือผู้อื่น โดยมากข้าราชการผู้ใหญ่มักลืมตัวลืมใจ มีอำนาจออกคำสั่งเอง ลดภาษีให้ตัวเอง ซื้อหุ้น เป็นเรื่องอำนาจทั้งสิ้น แต่ผมขอย้ำอีกครั้งว่า พระองค์ไม่เคยทรงบำเพ็ญตนละเมิดรัฐธรรมนูญ” องคมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ นายอำพล ยังให้สัมภาษณ์ภายหลังกล่าวปาฐกถาว่า สิ่งที่ตนพูดตอนท้าย เป็นสิ่งที่ข้าราชการผู้ใหญ่ทั่วไปบางคนที่ขาดและลืมตัวใช้อำนาจที่ผิดไป และในทศพิธราชธรรม ที่ยังมีให้เห็นตั้งแต่อดีตสมัยตนรับราชการ คือความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะนักการเมืองจะเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่เมื่อมีความผิดจะไม่ตกกับตัวเอง เพราะมีประสบการณ์ในการหลบเลี่ยง

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายอำพล กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่รู้รายละเอียด รวมทั้งปฏิเสธให้ความเห็นกรณีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย.นี้ กล่าวเพียงว่า ถ้าเป็นอดีตที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ก็สามารถพูดได้ แต่ขณะนี้เป็นองคมนตรีและยังถูกมองว่าเป็นอำมาตยาธิปไตย ก็ยิ่งต้องระมัดระวังคำพูดในความไม่เป็นกลาง แต่ในใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น