การประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติด 2 ราย ด้วยการฉีดยาพิษ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังคงเป็นกระแสต่อเนื่อง เมื่อ สหภาพยุโรป หรือ อียู ( European Union : EU ) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการลงโทษด้วยการประหารชีวิต โดยในแถลงการณ์ระบุว่า
"อียูเสียใจที่การประหารชีวิตครั้งนี้ทำให้การงดใช้โทษประหารในประเทศไทยเป็นเวลาเกือบ 6 ปี ต้องสิ้นสุดลง"
แปลจากภาษาการทูตเป็นภาษาคนทั่วไปคืออียูไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต และตำหนิติเตียนประเทศไทยที่ยังคงโทษดังกล่าวไว้ สอดคล้องกับท่าทีขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่ต้องการให้ประเทศไทยยกเลิกการประหารชีวิตเช่นกัน โดยกล่าวถึงหลักสิทธิมนุษยชน
แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะยังไม่พร้อมกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตในขณะนี้ และคงต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อจะสื่อสารเรื่องนี้กับสังคมไทย ซึ่งถ้ามองในแง่ดี การเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากยิงเป้าเป็นการฉีดยาก็ถือเป็นการขยับเขยื้อนจากการเรียกร้องในแง่สิทธิมนุษยชนเช่นกัน
“เมื่อก่อนพอมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็มักจะมีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนมาร่วมกันต่อต้าน โจมตี ว่าการลงโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม แต่ไม่ว่าอย่างไร ตราบใดที่ยังมีกฎหมายอยู่ กรมราชทัณฑ์ก็จำเป็นต้องมีการประหารชีวิต เพราะเราดำเนินการตามกฎหมาย ดำเนินการตามหน้าที่ มีหน้าที่อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม”
นัทธี จิตรสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เล่าย้อนไปถึงกระแสเรียกร้องของสังคมที่ทำให้เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2546 มาตรา 19 ที่เปลี่ยนจากการประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้าเป็นการฉีดยาพิษ
จากกระแสเรียกร้องให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของนักโทษประหาร กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบวิธีการลงทัณฑ์ที่ลดทอนความรุนแรงลงนั้น ยังมีแง่มุมรายละเอียดทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจมองข้าม ดังความเห็นจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์
“เมื่อเกิดการเรียกร้อง จึงมีการปรึกษากันว่าจะทำเช่นไรให้วิธีการประหารชีวิต เป็นวิธีที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมมากขึ้น ในที่สุด เราจึงปรับเปลี่ยนวิธีการประหารเสียใหม่”
แล้วการยิงเป้าประหารชีวิตนักโทษที่มีความผิดร้ายแรงตามกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร? นัทธีอธิบายว่า
“การลงโทษโดยการยิงเป้านั้น บางครั้งเมื่อยิงไปแล้วปรากฏว่าผู้ที่ถูกยิง ยังไม่ตายทันที เพราะเล็งไม่ตรงหัวใจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องนำไปยิงใหม่ เลือดก็จะนอง กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้ง นักโทษร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด ศพมีสภาพบุบสลาย เป็นการลงโทษที่ไม่น่าดูเท่าไหร่ เราจึงศึกษาวิธีการประหารของต่างประเทศ ในที่สุดก็ลงความเห็นว่า การฉีดยาประหารชีวิตน่าจะเป็นการประหารที่ดูมีมนุษยธรรมที่สุด”
แน่ล่ะ วิธีการที่เปลี่ยนไปดำเนินไปตามครรลองที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม แต่เราก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า วิธีการที่ดูนุ่มนวลขึ้นนี้จะส่งผลให้คนกลัวการลงโทษน้อยลงหรือไม่? คำตอบของอธีบดีกรมราชทัณฑ์นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
“เมื่อวิธีการประหารชีวิตเปลี่ยนไป ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่าเมื่อดูไม่น่ากลัว แล้วคนจะกลัวการลงโทษประหารชีวิตเหรอ? คนจะเกรงกลัวการทำผิดเหรอ? แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าเรื่องของความตายนั้น ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีการไหน ผลสุดท้ายก็ตายเหมือนกัน
“ดังนั้น คำถามที่ว่าโทษประหารที่ดูมีมนุษยธรรมขึ้นจะมีผลยับยั้งการทำผิดกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ผมว่าสิ่งสำคัญกว่า ขึ้นอยู่กับว่าโทษประหารมีการบังคับใช้อย่างแน่นอนเด็ดขาดสักแค่ไหนเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ แม้จะเปลี่ยนจากยิงเป้าเป็นการฉีดยาพิษ แต่วิธีการก็เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการประหาร เพราะความน่ากลัวของโทษประหารอยู่ที่ความตาย ไม่ได้อยู่ที่ว่าตายด้วยวิธีใด เมื่อตายไปแล้วย่อมถือว่ามีผลยับยั้งคนทำผิด”
นัทธี ย้ำว่า สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ โทษประหารจะมีผลยับยั้งคนผิดได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความแน่นอนและความรวดเร็วในการบังคับใช้กฎหมาย
“ต่อให้โทษประหารใช้วิธีการรุนแรงสักแค่ไหน แต่นักโทษไม่ถูกลงโทษหรือหลุดรอดไปได้ หากเป็นเช่นนั้น ความรุนแรงของวิธีการประหารนั้นก็มีค่าเป็นศูนย์”
ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเองก็มีมุมมองว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้การก่ออาชญากรรมลดลง และไม่ว่าจะประหารชีวิตด้วยวิธีการใด สุดท้าย มันก็คือการทำให้คนคนหนึ่งต้องตายอยู่ดี
ประเด็นนี้ พระครูศรีนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พระสงฆ์ที่เข้าไปเทศนาธรรมแก่นักโทษทั้ง 2 คนในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต และยังเป็นผู้รับหน้าที่เทศน์ให้นักโทษประหารฟังมากว่า 14 ปี เจ้าของฉายา ‘พระนักเทศน์นักโทษประหาร’ กล่าวถึงหลักพุทธศาสนา มีความเห็นว่า
“ตามหลักพระพุทธศาสนาในเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อเขาทำไม่ดี เขาก็ต้องรับกรรม แม้จะคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ที่ทำความผิดร้ายแรงหรือยกเลิกตามคำเรียกร้องของสหภาพยุโรปและองค์การนิรโทษกรรมสากล คนทำผิดก็ย่อมมีเหตุให้ต้องได้รับผลกรรมอยู่วันยังค่ำ หนีไม่พ้นหรอกจนกว่าจะโดนประหารชีวิตหรือโทษอย่างอื่น”
พระครูศรีนนทวัฒน์มองว่า สื่อสมัยใหม่นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนได้เห็นอย่างแพร่หลาย คนทั่วไปจึงได้รับรู้ข่าวประหารชีวิต แต่จะเป็นวิธีป้องกันไม่ให้คนทำผิดร้ายแรงเพราะกลัวโทษประหารชีวิตและนักโทษคนอื่นเห็นแล้วหลาบจำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน
“คนไทยพอเห็นคนถูกประหารทีหนึ่ง ก็ลุกฮือที ออกอาการสลด หรือกลัวแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ต่างจากการได้รับรู้หรือสัมผัสเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในชีวิต
“แต่อย่างน้อย อนุชนรุ่นหลังก็จะได้เห็น ใครที่กลัวก็กลัว พวกที่ไม่กลัวก็จะได้เกรง เพราะได้เห็นตัวอย่างว่าหากทำความผิดร้ายแรงก็จะได้รับโทษเช่นนี้ มันเป็นเหตุการณ์จริง ไม่ใช่นิยายที่เล่าต่อๆ กันมา อาตมาถามเด็กนักเรียนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประหาร เด็กบอกว่าไม่กล้าทำผิดเพราะกลัวถูกประหารชีวิต ตรงนี้เป็นการสอนโดยให้เห็นของจริง จากประสบการณ์จริง คนที่คิดทำก็จะเกิดความกลัว
"นักโทษคนอื่นเห็นแล้วเกิดความสลดก็มี ที่เฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สาก็มี นักโทษบางคนเข้าออกคุกแทบทุกอาทิตย์เลยก็มี นักโทษที่ติดคุกยาวนานเป็น 10-20 ปี น่าจะรู้สึกสำนึก ไม่อยากกลับมาติดคุกอีก เพราะเหมือนพ่อแม่พี่น้องต้องมาติดคุกด้วย ต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมแต่เช้า” พระครูศรีนนทวัฒน์ทิ้งท้ายฝากไว้ให้คิด
ส่วนในฐานะผู้มีส่วนธำรงรักษาไว้ซึ่งการประหารชีวิต นัทธีได้สะท้อนถึงทัศนคติที่มองโทษประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่า
“ผมว่านั่นเป็นเรื่องของความเห็นที่ต่างกัน แต่ในฐานะของกรมราชทัณฑ์ เราก็ต้องทำตามหน้าที่ มีบทลงโทษอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น แม้ในส่วนตัวแล้ว เราก็ไม่ได้อยากทำสักเท่าไหร่ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่น่าดูนัก แต่เราก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ซึ่งไม่ว่าใครจะมองเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่สังคมต้องศึกษาร่วมกันว่า หนทางหรือวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเป็นอย่างไร”
แต่ตราบใดที่บ้านเมืองยังมีกฎหมาย ตราบนั้นโทษประหารย่อมยังคงอยู่ ราวกับเป็นพื้นที่ที่ ‘สิทธิมนุษยชน’ จำต้องหยุดอยู่แค่หน้าประตู เช่นนี้แล้ว อย่าได้ก้าวเท้าเข้ามาจะดีกว่า ดังคำพูดสะกิดใจที่นัทธีฝากทิ้งท้ายเอาไว้
“การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดก็ดี หรือการกระทำผิดที่เป็นการละเมิดผู้อื่นที่เป็นความผิดร้ายแรงก็ดี สุดท้ายแล้วก็ต้องสิ้นสุดที่บทลงโทษประหารชีวิต เพราะฉะนั้นอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำผิด ไม่ว่าโดยตั้งใจ หรือด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือความแค้นเคืองใดๆ ต่อกันก็ตาม อย่าทำเลย มันไม่มีประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้ว ก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำและลงท้ายด้วยการถูกประหารชีวิต”
********
ประหารชีวิต 21 สถาน
วิธีการประหารชีวิตที่บันทึกและอธิบายเอาไว้ในกฎหมายโบราณของไทย มีทั้งหมด 21 วิธี หรือ 21 สถาน ดังนี้ (ขอบอกว่าโหดมาก)
สถาน 1-ทุบศีรษะให้แตกออก แล้วคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในสมอง
สถาน 2-ถลกหนังศีรษะออก แล้วใช้กรวดทรายหยาบขัดจนกะโหลกศีรษะขาวโพลน
สถาน 3-เอาตะขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้วจุดไฟใส่เข้าไป หรือเอาปากสิวแหวะผ่าปากจนถึงหูทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้เลือดไหลออกเต็มปาก
สถาน 4-เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด
สถาน 5-เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด
สถาน 6-เชือดเนื้อให้เป็นริ้วโดยไม่ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วเอาเชือกผูกไว้ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อหนังของตัวเอง ตีให้เดินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย
สถาน 7-ถลกหนังตั้งแต่ช่วงใต้คอถึงเอว และตั้งแต่เอวถึงข้อเท้า แล้วปล่อยให้ห้อยลงมาเหมือนกับชิ้นเนื้อนั้นเป็นกระโปรง
สถาน 8-ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกและเข่าทั้งสองข้าง แล้วเอาเหล็กสอดปักตรึงไว้กับแผ่นดิน ไม่ให้ดิ้นหนี จากนั้นให้เอาไฟลนจนกว่าจะตาย
สถาน 9-เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างกาย เปิดหนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย
สถาน 10-เฉือนเนื้อออกมาเรื่อยๆ ทีละชิ้น จนกว่าจะไม่มีเนื้อให้เชือด
สถาน 11-แล่เนื้อทั่วร่าง เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดคอ ขัดถูจนเนื้อหนังและเอ็นนน้อยใหญ่หลุดลอกออกเหลือแต่กระดูก
สถาน 12-จับนอนตะแคงข้าง แล้วเอาเหล็กตอกลงไปในช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปเรื่อยๆ
สถาน 13-ใช้หินทุบให้กระดูกแหลกละเอียด แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกอง แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า
สถาน 14-เคี่ยวน้ำมันให้เดือด แล้วราดลงมาแต่ศีรษะจนกว่าจะตาย
สถาน 15-ขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ ปล่อยให้อดอาหาร แล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่กระดูก
สถาน 16-ใช้ขวานผ่าอกออกทั้งเป็น แล้วแหกออกเหมือนโครงเนื้อ
สถาน 17-ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย
สถาน 18-ขุดหลุมฝังแค่เอว แล้วเอาฟางลงคลุมร่างก่อนเผาด้วยไฟ พอให้หนังไหม้แล้วจึงไถตามด้วยไถเหล็ก
สถาน 19-ให้เชือดเนื้อออกมาลงทอดในน้ำมัน แล้วกินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย
สถาน 20-ตีด้วยกระบองสั้น-กระบองยาวจนกว่าจะตาย
สถาน 21-ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย
*********
เรื่องโดย : ทีมข่าว CLICK
ภาพโดย : ทีมภาพ CLICK