xs
xsm
sm
md
lg

กรอบความคิดใหม่จำเป็นสำหรับการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ

ผมทำหูทวนลมที่แม่บ้านยกระดับความห่วงใยขึ้นเรื่อยๆ จากเดี๋ยวนี้ไม่หนุ่มแล้วนะ เป็นแก่แล้วนะ จนถึงแก่มากแล้วนะ

สุดสัปดาห์ที่ 26 กรกฎา และ 1 สิงหา 52 นี้ ผมจึงได้ไปร่วมเรียนรู้จากการเดิน ทางไปภูเก็ต อุดรฯ และหนองคาย

บนเครื่องไปภูเก็ตอ่านหนังสือของ “เจ้า” หรือ Zhao Ziyang อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีจีน ที่ถูกปลดและคุมตัวอยู่บ้านจนตาย ฐานหย่อนข้อให้นักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันหมิน

ต่อมานักศึกษาถูกรัฐบาลบดขยี้ตายเป็นเบือ

“เจ้า” ได้แอบบันทึกเทปนำมาพิมพ์เป็นหนังสือขายดีชื่อนักโทษของแผ่นดินหรือ Prisoner of the State สนุกมาก

มีอยู่วรรคหนึ่งใน Foreword หน้า 24 ผมอยากให้นายกฯ อภิสิทธิ์และท่านผู้อ่านได้อ่าน และลองพินิจพิเคราะห์ดู ว่าสมควรจะเปรียบเทียบเป็นบทเรียนแก่เมืองไทยอย่างไร

ผมลอกมาทั้งดุ้น ก่อนจะแปลงเป็นเชิงอรรถในภาษาไทย

“Zhao confesses that as of the mid-1980s, he was an economic reformer and a political conservative. Gradually he came to realize that Without political reform, the economic reform program was in peril: for instance, the massive corruption would continue.”

พวกเราต้องคิดให้ตกว่า จริงหรือไม่ ถ้าหากไม่ปฏิรูปการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจย่อมไร้ผล และคอร์รัปชันโกงกินก็จะบานเบอะมหาศาลต่อไปเช่นเคย อย่างที่ “เจ้า” ว่า

บัดนี้ พวกเราปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้างที่จะทำให้การเมืองดีขึ้น เห็นแต่มีการเมืองเก่าแย่งและแบ่งอำนาจกัน ท่ามกลางระบบราชการที่ไม่เป็นกลาง ไร้ความสามารถและขาดความซื่อสัตย์กล้าหาญ เที่ยววิ่งร่านคอยรับใช้ผู้ที่จะให้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด แม้คนที่หล่นจากตำแหน่งและกลายเป็นนักโทษหนีคุกก็ยังโปรยเงินและมีบารมีเหนือราชการอยู่ได้

ระบบ “เงินไม่มา-ข้าไม่เซ็น” ระบาดจากกระทรวงลงไปถึงตำบลหมู่บ้าน เพราะข้างบนจะต้องสะสมไว้เตรียมจ่ายให้ข้างล่าง เพื่อรักษาอำนาจและเก้าอี้ไว้ให้นาน ข้างล่างคือเจ้าของระบบ “เงินไม่มา-กาไม่เป็น” ก็ติดลัทธิเอาอย่างเลียนแบบจากเจ้านายในกระทรวง ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ

ตกลงช่วยกันถลุงงบประมาณแผ่นดิน จะถึงประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีใครยืนยัน ผมว่าเห็นจะไม่ต่างกับวัดครึ่งกรรมการครึ่งเท่าใดนัก

ที่อุดรธานีผมไม่มีโอกาสขึ้นพูด แต่ที่ภูเก็ตและหนองคายผมได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าผมเป็นนักวิชาการที่มาเป็นวิทยากรให้พันธมิตรฯ โดยไม่เคยเกี่ยง ผมเป็นพันธมิตรฯ แท้ของพันธมิตรฯ ในขณะที่แม่บ้านผมอยากจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่เหลือเกิน ผมไม่มีวันที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้มิใช่ว่าผมใจเดียวรักเดียว เป็นได้แต่สมาชิกพรรคที่ผมมีส่วนร่วมก่อตั้งเท่านั้น พรรคพลังใหม่เป็นพรรคที่มิได้ตั้งโดยและเพื่อหัวหน้า แต่ตั้งโดยนักวิชาการ ข้าราชการ และนักธุรกิจนครบาล เพื่อจะไถ่บาปหรือเป็นแพะบูชายัญช่วยสังคมไทยสู้กับการยึดอำนาจของเผด็จการทหาร

พรรคพลังใหม่ไม่สามารถสร้างพรรคมวลชนสำเร็จ เพราะขาดกำลังทรัพย์ และสังคมในยุคนั้นเทคโนโลยีสื่อสารและการคมนาคมไปมายังล้าหลัง

พรรคดับสูญไปเพราะโดนกองทัพกับพรรคการเมืองเก่าต่างพากันไล่ล่า โดยอาวุธที่ต่างคนต่างถนัด ส.ส.พลังใหม่ถูกลอบสังหารคาตำแหน่ง 2 คน สมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรคถูกระเบิดถล่ม ส่วนผม ถ้าไม่ปวดปัสสาวะลุกขึ้นจากโต๊ะจน 2 คนที่จะเอาระเบิดมาโยนเข้าใจผิด รีบโยนระเบิดถูกกันเองตายหนึ่งแขนขาดจับได้หนึ่ง ก็คงไม่รอดมานั่งเขียนจดหมายนี้ ผมไม่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ที่พาดหัวหน้าหนึ่งเพราะไม่อยากดัง

ทุกกรณีของพลังใหม่ เช่นเดียวกับการลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ไม่เคยรู้หรือจับคนทำผิดมาลงโทษได้เลย ที่แน่ใจได้ก็คือคนร้ายต้องเป็นกำลังส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐแฝง ไม่ใช่อาชญากรธรรมดาอย่างแน่นอน

ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการยึดอำนาจจึงต่างก็พากันเพิกเฉยทั้งสิ้น น่าสนใจว่าการลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล จะลงเอยอย่างไร

ผมเห็นว่านักวิชาการมีสิทธิที่จะเป็นนักการเมืองเท่ากับคนอาชีพอื่นๆ จะไปเป็นลูกน้องนักการเมืองก็ไม่มีข้อห้าม แต่สังคมต้องมีนักวิชาการมืออาชีพที่คงความเป็นอิสระ ไม่สวมปลอกคอใดๆ ทั้งสิ้นสักส่วนหนึ่ง ยิ่งมากก็ยิ่งดี

สำหรับผม เสื้อเหลืองมิได้ผูกขาด เสื้อแดงเชิญ ผมก็เคยไปพูด และบอกเขาว่าที่เขาพูดอยู่นั้นถูกเกือบทั้งหมด มีผิดอยู่อย่างเดียว คือ สิ่งที่เขากระทำกลับตรงกันข้ามกับที่เขาพูดเกือบทั้งสิ้น

เขาบอกว่ารักชาติ แต่เขาพากันทำลายชาติ

เขาบอกว่ารักประชาชน แต่เขาพากันหลอกประชาชน

เขาบอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เขากลับต่อสู้กับประชาธิปไตย

ผมประกาศชัดแจ้งเหมือนกันว่า ผมจะไม่ร่วมการชำแหละพรรคประชาธิปัตย์หรือนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงแม้ผมจะนั่งอยู่บนเวทีเดียวกัน และผมเคารพในสิทธิของผู้พูด แม้จะเริ่มพูดแบบหาเสียงมากขึ้นทุกที แต่ผมจะวิเคราะห์บทบาทของพรรคและนายกรัฐมนตรีจากทัศนะวิชาการของผู้ที่ศึกษาติดตามการเมืองไทยมาตลอดชีวิต

ผมสนับสนุนให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรค จะหนึ่งพรรคหรือมากกว่านั้นก็ยังได้ แต่ต้องเป็นพรรคการเมืองใหม่จริงๆ ต่างกับพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด

พรรคการเมืองปัจจุบันล้วนแต่เป็นแก๊งเลือกตั้งที่ตั้งขึ้นมาโดยหัวหน้า เพื่อประโยชน์ของหัวหน้า ที่เป็นพรรคอยู่ได้ก็เพราะกฎหมายบังคับให้จดเป็นพรรคอย่างนั้นอย่างนี้ โดยผู้ร่างและผู้รักษากฎหมายที่โง่เขลาไม่มีความรู้เรื่องพรรคการเมืองที่แท้จริง

พรรคหัวหน้าตั้งทุกพรรคไม่มีวันยั่งยืน ต้องอับเฉาหรือดับสูญไปตามชะตากรรมของหัวหน้า ท่านผู้อ่านลองนับนิ้วเอาเอง กี่พรรคที่นายพลตั้ง กี่พรรคที่นายธนาคารตั้ง กี่พรรคที่นักการเมืองตั้ง พรรคการเมืองใหม่จะต่างกับเขาก็ที่ตรงนี้ เพราะตั้งโดยมวลชนที่ผ่านการต่อสู้ทำลายสถิติโลกในการชุมนุมเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยที่สวยสดงดงามมาแล้วถึง 193 วัน

แต่แค่นี้ ผมว่ายังไม่พอ

ผมยกเว้นและนิยมประชาธิปัตย์ว่ามิใช่พรรคหัวหน้าตั้ง แต่พรรคก็มีพฤติกรรมเป็นเสมือนแก๊งเลือกตั้งเสียอย่างน้อยครึ่งพรรค ไม่มีพรรคการเมืองแท้ที่ไหนในโลกที่เลขาธิการลาออกไปเป็นคู่แข่งขันหรือศัตรูของพรรคถึง 10 ใน 14 คน ใช้เลขาธิการพรรคเปลืองถึงอย่างนี้แล้ว “แกน” หรือ “แก่น” ที่แท้จริงของพรรคคืออะไร อยู่ที่ไหน

ผมจึงบอกว่านายกฯ อภิสิทธิ์มีหน้าที่สร้างพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคการเมืองสมบูรณ์แบบ และเอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองที่แท้จริงเกิดให้ได้ รวมทั้งพรรคการเมืองใหม่ด้วย อย่าตกเป็นเครื่องมือของอำนาจในพรรคและพันธมิตรฯ นอกพรรคที่จ้องจะกลั่นแกล้งทำลาย

เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิรูปพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองไทยให้ดีขึ้น ซึ่ง “เจ้า” เห็นว่าสำคัญกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจโดดๆ ที่เป็นไปไม่ได้

ระบบพรรคหัวหน้าตั้งนั้นเป็นการเมืองชั่วคราวที่กอบโกยทั้งอำนาจและเงินทองในทางที่ผิด เพราะติดยึดหวังจะอยู่ในอำนาจ เป็นการทำลายชาติเพราะความ “มักได้” และ “มักง่าย” ทั้งของผู้นำและผู้ตาม ผู้นำนั้นมีอยู่ไม่กี่สิบคน ส่วนผู้ตามหรือนักสมัครผู้แทนมีอยู่ไม่เกิน 2 พันคน พวกนี้ “ชนะไหน เข้าด้วย ช่วยกระพือ เหมือนกระสือ ฝูงห่า ลงหากิน” ย้ายพรรคไปเรื่อยๆ ถ้าหัวหน้าหมดเงินหรือวาสนาก็กระโดดไปหาคนใหม่ เหมือนเห็บที่ดูดกินเลือดหมาฉะนั้น

ผมบอกที่ประชุมว่า “ความคิด” เป็นต้นเหตุของการกระทำ การกระทำที่ซ้ำซาก สร้าง “ระบบพฤติกรรม” ระบบพฤติกรรมสร้างระบบการจัดการ หรือองค์การซึ่งวิวัฒน์ไปสู่การเป็น “สถาบัน” ในที่สุด

“กรอบความคิด” หรือ paradigm จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กรอบความคิดเก่า หรือ old paradigm ย่อมสร้าง ส่งเสริมและรักษาการเมืองเก่า ฉันใด “กรอบความคิดใหม่” หรือ new paradigm จึงขาดไม่ได้ ถ้าต้องการมีการเมืองใหม่

“กรอบความคิดใหม่” สำหรับ “การเมืองใหม่” เป็นอย่างไร มาช่วยกันคิดต่อ ดีไหมครับ

                                                               
                                                       ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น