xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ทำไมสิงคโปร์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นผลสำเร็จ?

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าในบรรดาประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในส่วนดัชนีคอร์รัปชันแล้ว สิงคโปร์อยู่ในอันดับบ๊วยมาโดยตลอด ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่มักอยู่ในอันดับต้นๆ หากไม่เร่งแก้ไขแล้ว อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะครองแชมป์ก็เป็นไปได้ ดังนั้น ประเด็นสำคัญ คือ สิงคโปร์มีเคล็ดลับอย่างไรที่สามารถรักษาอันดับบ๊วยในด้านนี้มาโดยตลอด

จากรายงานการศึกษาล่าสุดของสถาบัน Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 โดยสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจระดับผู้บริหารทั้งของบริษัทในท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติประมาณ 1,750 คน โดยจัดอันดับคอร์รัปชัน 16 ประเทศ จำแนกเป็น 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศภายนอกภูมิภาคอีก 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

ผลการสำรวจพบว่าอินโดนีเซียครองแชมป์อันดับ 1 โดยได้รับคะแนน 8.32 ส่วนประเทศ
ไทยได้รับตำแหน่งรองแชมป์ คือ 7.63 คะแนน ส่วนกัมพูชาอันดับ 3 ได้รับ 7.25 คะแนน อินเดียอันดับ 4 ได้รับ 7.21 คะแนน และเวียดนามอันดับ 5 ได้รับ 7.11 คะแนน

สำหรับอันดับ 6 ถึงอันดับที่ 12 เรียงตามลำดับ คือ ฟิลิปปินส์ 7.0 คะแนน มาเลเซีย 6.70 คะแนน ไต้หวัน 6.47 คะแนน จีน 6.16 คะแนน มาเก๊า 5.84 คะแนน เกาหลีใต้ 4.64 คะแนน และญี่ปุ่น 3.99 คะแนน

ส่วนประเทศที่ครองอันดับบ๊วย ซึ่งแสดงว่ามีความใสสะอาดระดับสูงสุด คือ สิงคโปร์ 1.01 คะแนน สำหรับรองบ๊วยอันดับ 2 – 4 คือ ฮ่องกง 1.89 คะแนน ออสเตรเลีย 2.40 คะแนน และสหรัฐฯ 2.89 คะแนน

จากระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและใสสะอาด ทำให้กลายเป็นจุดขายสำคัญของสิงคโปร์ ส่งผลให้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้เคยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 ภายหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “In a region where corruption is everywhere, we have a clean and meritocratic system.” หรือ “ในภูมิภาค(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งปัญหาคอร์รัปชันแพร่ระบาดอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่เรา (สิงคโปร์) กลับมีระบบ (ราชการ) ที่ใสสะอาดและมีคุณธรรม”

จากความใสสะอาดระบบราชการของสิงคโปร์ ทำให้ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ Jakarta Post ของอินโดนีเซีย ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อข่าว “Singapore Courts Win Trust, Jakarta Courts Win Bribes” หรือ “ศาลสิงคโปร์ชนะความเชื่อถือ ขณะที่ศาลกรุงจาการ์ต้าชนะสินบน” โดยกล่าวถึงการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบริษัทอินโดนีเซียซึ่งแพ้คดีความในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยกรณีแพ้คดีแพ่งในสิงคโปร์แล้ว จะมีทัศนะว่าผู้พิพากษาสิงคโปร์นั้นเป็นคนโง่ แต่เมื่อแพ้คดีในอินโดนีเซียแล้ว กลับมีทัศนะในทางตรงกันข้าม จะมีความคิดเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามน่าจะมีการติดสินบนผู้พิพากษาอย่างแน่นอน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่หยิบยกขึ้น คือ การซื้อเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างบริษัทจำหน่ายเครื่องบินซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นมาก ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ซื้อเครื่องบินเพียงแค่ไม่กี่ลำ สร้างความแปลกใจให้แก่คนทั่วไปเป็นอย่างมาก

เหตุผลสำคัญที่บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจขายเครื่องบินแก่สิงคโปร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากกองทัพอากาศแห่งนี้ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติว่า ฝ่ายจัดซื้อมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชัน และปฏิบัติงานศึกษาเกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องบินแบบมืออาชีพ

ผู้ขายเครื่องบินของบริษัทฝรั่งเศสได้เคยกล่าวว่าสิงคโปร์นับเป็นลูกค้าอ้างอิงคนสำคัญ เปรียบเสมือนกับเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ แสดงว่าเครื่องบินแบบนั้นๆ ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นเครื่องบินมีสมรรถนะไม่ได้เรื่อง แต่ตัดสินใจซื้อเพราะหวังอามิสสินจ้าง ดังนั้น หากสามารถจำหน่ายเครื่องบินแก่กองทัพอากาศสิงคโปร์ได้แล้ว จะทำให้กองทัพอากาศของประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจที่จะซื้อเครื่องบินแบบนั้นๆ ตามไปด้วย

ความจริงแล้ว เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว สิงคโปร์มีคอร์รัปชันจำนวนมากพอๆ กับประเทศไทย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อปี 2488 อัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในช่วงนั้นแม้แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งต้องการเพียงแค่ดื่มน้ำร้อน ก็จำเป็นต้องติดสินบน ในรูปแบบที่สิงคโปร์เรียกในคำพูดว่า “เงินกาแฟ” (Coffee Money) แก่บรรดาบุคลากรของโรงพยาบาล มิฉะนั้น จะไม่บริการน้ำร้อนมาให้ดื่ม

เมื่อนายลีกวนยูเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยได้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มงวด ทำให้สถานการณ์ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ประการแรก ผู้นำประเทศ รวมถึงคณะรัฐมนตรี ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่คอร์รัปชันเสียเอง มิฉะนั้น ข้าราชการและประชาชนทั่วไปจะหัวเราะเยาะและไม่เชื่อถือกับมาตรการปราบปรามคอร์รัปชัน โดยเขาเคยกล่าวปราศรัยเมื่อปี 2522 ว่าประเทศสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงต้องไม่คอร์รัปชัน ทั้งนี้ จากรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ และกระตือรือร้นในการส่งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายคอร์รัปชันให้แก่รัฐบาล

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เคยกล่าวให้ทัศนะเปรียบเทียบกับไทยและสิงคโปร์ในประเด็นนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2544 ว่ากรณีของประเทศไทย “ผมแปลกใจที่ไม่มีการตรวจสอบบ้านของคนใหญ่คนโตที่หรูหรา มีที่หลายสิบไร่ มีที่จอดรถได้ 18 - 20 คัน ซึ่งมองไม่ออกเลยว่ามีมาได้อย่างไร ไปได้เงินทองมากมายมาจากไหน ... สังคมของสิงคโปร์ที่พ้นภาวะคอรัปชั่นได้เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนไม่กิน รวมถึงข้าราชการด้วย เขาใช้วิธีกำจัดออกไป”

ประการที่สอง มอบอำนาจอย่างเต็มที่ให้แก่หน่วยงาน Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจที่จะสอบสวนการกระทำผิดอย่างจริงจัง สามารถเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ปากคำ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม และดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ไม่ดำเนินการสอบสวนแบบชักช้า หรือแบบลูบหน้าปะจมูกเป็นมวยล้มต้มคนดู

อนึ่ง นอกจากดำเนินคดีภายหลังคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานแห่งนี้ยังมีอำนาจในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นเหตุ ตามกฎหมายป้องกันคอร์รัปชัน Prevention of Corruption Act (POCA) กล่าวคือ หน่วยราชการบางแห่ง เช่น หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานศุลกากร กรมสรรพากร หน่วยงานตำรวจจราจร ฯลฯ เดิมมีปัญหาคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก และสาเหตุของปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนและระบบการทำงาน

ดังนั้น หน่วยงาน CPIB ได้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการทำงาน รวมถึงตรวจสอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานเสียใหม่ให้มีโอกาสเกิดคอร์รัปชันลดลง นับว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นที่ต้นเหตุอย่างได้ผล

ประการที่สาม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดว่าการที่ข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือมิฉะนั้น ก็มีวิถีชีวิตใช้จ่ายเงินจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับแล้ว เป็นต้นว่า มีเงินเดือนเพียงแค่นิดเดียว ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย แต่กลับขับรถยนต์หรูหราราคาแพงมาทำงาน อาศัยอยู่ในบ้านราคาหลายสิบล้านบาท ถือว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ ประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ พนักงานสอบสวนไม่ต้องไปหาหลักฐานใบเสร็จให้เหนื่อยยาก ดังนั้น เว้นแต่ข้าราชการคนนั้นๆ สามารถอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวแล้ว จะถูกดำเนินคดี ส่วนบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกริบเป็นของทางราชการด้วย

ประการที่สี่ กำหนดโทษระดับสูง โดยกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท รวมถึงต้องจ่ายค่าปรับเท่ากับเงินสินบนที่ได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หากคอร์รัปชันเกี่ยวข้องกับสัญญาของรัฐบาลหรือเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว โทษจำคุกเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 7 ปี

ประการที่ห้า ขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการให้พอเพียงต่อการดำรงชีพและอยู่ระดับใกล้เคียงกับเงินเดือนในภาคเอกชน เนื่องจากข้าราชการบางคนนั้น แม้จะมีทัศนคติที่ดีไม่ต้องการคอร์รัปชัน แต่อาจจะถูกสถานการณ์บีบบังคับ

ประการที่หก รณรงค์ประชาชนให้ตระหนักว่าคอร์รัปชันเป็นเชื้อโรคร้ายที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศผ่านสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในอดีตว่ากระทบต่อประเทศสิงคโปร์มากน้อยเพียงใด หน่วยงาน CPIB ได้เปิดพิพิธภัณฑ์คอร์รัปชันขึ้นที่สำนักงานใหญ่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เยี่ยมชม โดยกำหนดลูกค้าเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนสิงคโปร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ ที่เกิดภายหลังรัฐบาลปราบปรามคอร์รัปชันแล้ว ส่วนใหญ่จึงไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านคอร์รัปชันมาก่อน ต้องมาทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ว่าในอดีตคอร์รัปชันเป็นไปอย่างไร รวมถึงลูกค้าเป้าหมายเป็นบรรดาข้าราชการต่างประเทศที่เดินทางมาดูงานเพื่อต้องการเรียนรู้ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชันของสิงคโปร์ด้วย

พิพิธภัณฑ์ได้แสดงคดีดังคดีเด่นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะ “เกียรติประวัติ” บุคคลสำคัญหลายคน เป็นต้นว่า คดีที่นาย Teh Cheang Wan ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2529 ขณะอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชันโดยหน่วยงาน CPIB รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับคดีของนาย Wee Toon Boon อดีตรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในด้านคอร์รัปชันเมื่อปี 2518 ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ซึ่งต่อมาเขาอุทธรณ์ จึงได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 3 ปี

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น