xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตดีดีใหม่บินไทยเสี่ยงเผชิญวิบากกรรมแก้ขาดทุน-สางทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานวานนี้ (18 มิ.ย.) เห็นชอบให้แต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยรัฐบาล คมช. และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยคนใหม่ ซึ่งเป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้จากข้อตกลงว่า กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องพยายามผลักดันคนของตนไปนั่งในตำแหน่งดีดีของการบินไทย ส่วนกระทรวงคมนาคมเป็นของพรรคภูมิใจไทยที่ได้โควตาตำแหน่งประธานบอร์ดไปแล้วก่อนหน้านี้

แม้ก่อนหน้านายปิยสวัสดิ์จะถูกร้องเรียนคุณสมบัติกรณีที่เคยเป็นกรรมการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS และได้ลาออกมายังไม่ถึง 3 ปี อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ก็ไม่ทำให้เป็นปัญหาในการเข้ามารับตำแหน่งดีดีของนายปิยสวัสดิ์แต่อย่างใด
ชื่อนายปิยสวัสดิ์ผงาดขึ้นเป็นตัวเต็งที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นดีดีการบินไทยทันที ที่ยื่นสมัครหลังจากที่ มีการขยายเวลารับสมัครรอบสอง ท่ามกลางวิกฤติปัญหาที่รุมเร้าบริษัทการบินไทยในปี 2551 ที่ส่งผลประกอบการสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2551 ของการบินไทยที่เปิดเผยออกมา ขาดทุนสุทธิถึง 21,314 ล้านบาท (ขาดทุนต่อหุ้น12.58 บาท) เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,428 ล้านบาท
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุนย่อยยับในรอบปี 2551 เพราะวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกและสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ
ภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน ทีผันผวนในปี 2551 และกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลก ที่ต้องเผชิญเหมือนกัน เพราะเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นแต่ละสายการบินจะต้องวางแผนรับมือตามภาวะการทำธุรกิจในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน
แต่สำหรับการบินไทยปัญหาภายในองค์กร เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าบริษัทจะอยู่รอดหรือไม่ ทั้งการมีขั้วอำนาจของฝ่ายบริหาร การทุจริตที่กลายเป็นจุดรั่วไหลที่สำคัญ การสนองผลประโยชน์ทางการเมือง ในอดีตที่ผ่านมามากเกินไป ซึ่งมีตัวอย่างกรณีการจัดซื้อเครื่องบิน ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจที่แท้จริงและกลายเป็นภาระทางการเงินอยู่ในขณะนี้
การร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของการบริหารภายใน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทกรณีถูกสมาคมขนส่งทางอากาศในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา ,ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์และเกาหลี ฟ้องร้องคดีการค้าอันไม่เป็นธรรม (Antri-trust) ซึ่งในปีนี้ บริษัทตั้งงบประมาณสำรองความเสียหายไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท
2. การจัดซื้อเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำขัดมติ ครม.ที่มีมติไม่ให้บริษัทจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวแต่ให้ดำเนินการเช่าดำเนินงาน การจ่ายเงินจนกระทบต่อสถานะทางการเงินบริษัท 3. การจัดซื้อเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน แอร์บัส A330 ไม่โปร่งใส
4. การจัดซื้อเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน แอร์บัส A380 ไม่โปร่งใส 5. การจัดหาโรงแรมลูกเรือในต่างประเทศทุจริต ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้มีการชี้มูลความผิดแล้ว 6. ความเสียหายกรณีที่ศาลแพ่งตัดสินให้บริษัทแพ้คดีการจัดซื้อไวน์ จำนวน 27 ล้านบาท อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รอ ดีดีคนใหม่ชื่อ”ปิยสวัสดิ์”เข้ามาสะสาง
ซึ่งจากการยืนยันของนายอำพน กิตติอำพน ในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย ถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาฯ ดีดีการบินไทย ที่ว่า นายปิยสวัสดิ์ ได้รับคะแนนสูงสุดในทุกหัวข้อที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ทั้งภาวะผู้นำ ประสบการณ์ ความรู้ ผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน และวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของการบินไทย เหนือผู้สมัครอีก 6 ราย พอจะ สร้างความหวังได้ว่าการบินไทยมีโอกาสหลุดพ้นจากวิกฤติ และเรียกคืนภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นสายการบินแห่งชาติกลับมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น