xs
xsm
sm
md
lg

THAIเร่งกู้ล็อต2 -ยืดรับA380

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบินไทย ปรับโครงสร้างแยกฝ่ายกลยุทธ์และฝ่ายผลิตภัณฑ์บริการลูกค้า เป็นระดับ EVP “อำพน”ชี้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเหตุไข้หวัด 2009 ทำธุรกิจการบินทั่วโลกทรุดหนัก ยันไม่เพิ่มตำแหน่งแต่แยกเนื้องานให้ 2 EVP ที่เป็นตำแหน่งลอยมีงานทำ เน้นดูแลลูกค้า และปรับวิธีจัดหาเครื่องบินไม่ให้มีหนี้ท่วมหัว เผย บอร์ดถก 10 ก.ค. เร่งเงินกู้ล๊อต 2 –เจรจายืดรับA380 วงในเผยยื้อจ้าง”ปิยสวัสดิ์”นั่งดีดี หลังต.ค. ครบ 3ปีลาออกจาก BAFS ตัดปัญหาปมคุณสมบัติ

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมบอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2552 ที่เห็นชอบหลักการแยก 2 หน่วยงานคือ ฝ่ายกลยุทธ์  (DY) ทำหน้าที่วางแผนกำหนดกลยุทธ์ด้านการบิน บริหารความเสี่ยง บริหารงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า (DA) เป็นระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP: Executive Vice President) นั้นไม่ได้เป็นการเพิ่มตำแหน่งในระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แต่อย่างใด โดยยืนยันว่า การบินไทยยังคงมีรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 6 คน เหมือนเดิม และจะต้องไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ บอร์ดการบินไทยเห็นชอบในหลักการดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขของแผนปรับโครงสร้างฟื้นฟูบริษัท เพื่อแก้ปัญหา 2 หน่วยงานที่ยังเป็นจุดอ่อนเพราะตั้งแต่ที่บอร์ดชุดนี้เข้ามาทำงาน ก็ถามมาตลอดว่า การบินไทยมีหน่วยยุทธศาสตร์หรือไม่ เพราะหน่วยนี้มีความสำคัญที่จะต้องแปรแผนฟื้นฟูไปเป็นแผนปฏิบัติ ก็พบว่าไม่มีคนที่รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งผู้ที่คุม 2หน่วยนี้จะต้องรู้เรื่องธุรกิจดีและขึ้นตรงกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยทั้ง2 หน่วยงานที่ปรับขึ้นมาเป็นระดับ EVP นี้ จะต้องหารือการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนล่างก่อนที่จะจัดเรื่องบุคลากรและเริ่มงาน

นายอำพนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถานการณ์ของบริษัทการบินไทย มีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา การระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ในขณะนี้นั้นต้องยอมรับว่า การบินไทยต้องประสบกับวิกฤติอีกครั้ง ซึ่งทุกสายการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นในการบริหารจะต้องหาทางให้บริษัทอยู่รอดให้ได้ และการปรับลดพนักงานจะเป็นทางเลือกสุดท้าย จึงต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงาน แก้ไขส่วนที่เป็นจุดอ่อน โดยเอาธุรกิจเป็นตัวตั้ง และให้ความสำคัญกับลูกค้า ดังนั้นจึงต้องแยกหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์และหน่วยงานด้านผลิตภัณฑ์และดูแลความพึงพอใจของลูกค้า

“โครงสร้างบริษัทเดิม ฝ่ายพาณิชย์ จะดูแลตั้งแต่ลูกค้าจองตั๋ว งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด บริการลูกค้า อยู่คนเดียว แต่ขณะนี้บริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า ความพึงพอใจของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าสะสมไมล์ รอยัลออร์คิดพลัส การแยกฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าจะทำให้ดูแลลูกค้าได้มากขึ้น จัดประเภทลูกค้า วัดความพึงพอใจของลูกค้าได้ตั้งแต่จองตั๋ว ส่วนฝ่ายยุทธศาสตร์ก็จะดูรายละเอียดเรื่องการซื้อ การเช่าเครื่องบิน ว่าจะต้องทำอย่างไรที่ไม่เป็นภาระไม่ผูกพัน ต่อไปก็จะไม่มีปัญหาหนี้ท่วมหัวเพราะเอาแต่ซื้อเครื่องบินอย่างเดียว”นายอำพนกล่าว

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะปรับให้ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัท ดูแลฝ่ายกลยุทธ์ และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สังกัดสำนักงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ดูแลฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า เพราะปัจจุบัน เป็นตำแหน่งลอย ส่วนฝ่าย ช่าง,การเงิน,บุคลากรและพาณิชย์ ยังเหมือนเดิม

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน โครงสร้างระดับ EVP ของการบินไทยมี  6 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักเลขานุการบริษัท รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2. นาย ธรรมศักดิ์ ชุติวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สังกัดสำนักงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3. นางงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี และรักษาบัญชีบริหารและงบประมาณ 4. เรืออากาศเอก มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป 5. เรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ และ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายช่าง 6. นายปานฑิต ชนะภัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์

บอร์ดตามแผนเงินกู้ล็อต 2
นายอำพน กล่าวว่า  บอร์ดการบินไทยจะประชุมวันที่ 10 ก.ค.นี้ เพื่อติดตามแผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทปี 2552 ในล๊อตที่ 2 และความคืบหน้าการพิจารณาสัญญากับ บริษัท แอร์บัส อินดัสทรี จำกัด กรณียกเลิกหรือเลื่อนการรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ โดยบริษัทต้องการกู้เงินประมาณ 34,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้สรุปการเจรจาเงินกู้ล็อตแรกวงเงิน 23,000 ล้านบาทแล้วแบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 5 ,000 ล้านบาท   ธนาคารกรุงเทพ จำนวน 8,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 5,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 5,000 ล้านบาท ยังเหลืออีกประมาณ 11,000 ล้านบาท

ยื้อจ้าง”ปิยสวัสดิ์”หลังต.ค.เหตุครบ 3ปีลาออกจาก BAFS
ด้านแหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวถึงการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งบอร์ดได้เห็นชอบ นายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์  ไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณากำหนดผลตอบแทนและเงื่อนไขการจ้างนั้นคาดว่า จะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างนายปิยสวัสดิ์ เข้ามาทำงานหลังวันที่ 8 ต.ค.2552 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากที่นายปิยสวัสดิ์เคยเป็นกรรมการของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และลาออกมาไม่ถึง 3 ปี โดยนายปิยสวัสดิ์ได้ลาออกจากกรรมการ BAFS เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2549  

ในขณะที่นายอำพนยืนยันว่า กรณีที่นายปิยสวัสดิ์ เคยเป็นบอร์ด BAFS บอร์ดได้หารือฝ่ายกฎหมายยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะ ธุรกิจด้านน้ำมันไม่ใช่ธุรกิจหลักขอองการบินไทยส่วนการเซ็นสัญญาและเริ่มทำงาน เป็นเรื่องของขั้นตอนซึ่งไม่ทราบว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน

อย่างไรก็ตามรายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างที่รอการพิจารณากำหนดผลตอบแทนและเงื่อนไขการจ้างนั้น นายปิยสวัสดิ์ จะเข้ามาเรียนรู้งานก่อนเพื่อไม่ให้เสียเวลา และจะทำให้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อเข้ามารับตำแหน่งดีดี
กำลังโหลดความคิดเห็น