xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์รัฐกอดคอลุยสินเชื่อ ครม.ไฟเขียวเป้าสิ้นปี9.2แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ครม.เปิดทางแบงก์ 6 รัฐลุยไฟปล่อยสินเชื่อทั้งปี 9.27 แสนล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 6.25 แสนล้านบาท หวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่โครงการไทยเข้มแข็ง แยกบัญชีสินเชื่อเพื่อสังคมกำหนดวงเงินชดเชยที่ชัดเจน พร้อมผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ให้ยื้ดหยุ่นมากขึ้น

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า วานนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในเรื่องการขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการดังนี้ เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับเพิ่มเป้าหมายการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อปี 2552 จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 625,500 ล้านบาท อีก 301,500 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 927,000 ล้านบาท

โดยมีรายละเอียดดังนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 323,000 ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 147,000 ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 470,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 162,600ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 80,000ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 242,600ล้านบาท

ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 73,500 ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 26,500 ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 26,000 ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 17,500ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 43,500 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 19,700 ล้านบาทเป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 17,500 ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 37,200 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) หรือ iBank เป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 20,700 ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 13,000 ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 33,700 ล้านบาท รวมเป้าการอนุมัติสินเชื่อเดิม 625,500 ล้านบาท เป้าสินการอนุมัติเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 301,500 ล้านบาท เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 927,000 ล้านบาท

โดยกระทรวงการคลังได้เสนอให้มีการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มเป้าหมายที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจก็สามารถดำเนินการอย่างมั่งคงและยั่งยืน กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจแยกบัญชีธุรกรรมที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟู และช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจเป้าหมาย ออกจากบัญชีธุรกรรมทั่วไปเพื่อที่จะได้ดูแลหรือชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านั้นอย่างเป็นระบบชัดเจน โดยมีกรอบในการพิจารณาโครงการที่สามารถแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐได้ ดังนี้

โครงการที่มีวัตถุประสงค์และรูปแบบการให้บริการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม ตามคำจำกัดความของพระราชบัญญัติป้องกันฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 หรือ ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วิสาหกิจ และหน่วยธุรกิจ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

หรือเป็นโครงการหรือธุรกรรมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน หรือธุรกรรมที่รัฐบาลสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ โดยต้องมีมติคณะรัฐมนตรีระบุให้มีการชดเชยหรือสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐอย่างชัดเจน

สำหรับเกณฑ์การผ่อนปรนที่สามารถเสนอกระทรวงการคลังเพื่อผ่อนปรนกว่าเกณฑ์ปกติ เช่น อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หรือมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน หลักประกัน เช่น ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันต่ำกว่าสินเชื่อที่ให้บริการเป็นอย่างมาก ระยะเวลา เช่น มีระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ หรือระยะเวลาปลอดการชำระหนี้มากกว่าระยะเวลาที่สถาบันการเงินทั่วไปพึงยึดถือปฏิบัติ ปลอดการชำระเงินต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาโครงการและกำหนดมาตรฐานการคำนวณเงินชดเชย รวมถึงสรุปวงเงินที่ควรได้รับการชดเชยเพื่อประกอบการขอตั้งงบประมาณ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการแผกบัญชีและกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละโครงการ เพื่อให้การดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่การดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อการเร่งรัดการแก้ไขบัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างแท้จริงและยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น