xs
xsm
sm
md
lg

อัด2หมื่นล.ลงใต้บี้ธ.รัฐคายสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ยังไม่ถึงคิวสภาอุตฯ ปลัดคลังเผยซอฟท์โลน 2.5 หมื่นล้าน ได้ข้อสรุป ออมสินรับช่วงแบงก์ชาติปล่อยกู้แบงก์ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ดอกเบี้ย 0.01% ปล่อยต่อ SME 1.50% “ประดิษฐ์” ไล่บี้แบงก์รัฐเข็นสินเชื่อให้เข้าเป้า 9.27 แสนล้าน กลุ้มตัวเลขครึ่งปีปล่อยแล้ว 3 แสนล้าน แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 1 แสนล้าน


นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือไปยังธนาคารออมสินเพื่อหารือแนวทางให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งที่มีสาขาในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทหลังจากที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พ.ศ.2551 ที่มีผลบังคับใช้ได้ยุติบทบาทการปล่อยซอฟท์โลนให้กับสถาบันการเงิน

โดยวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทนี้ธนาคารที่กู้เงินจากธนาคารออมสินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% จะต้องปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะกู้เงินในโครงการนี้ในอัตราดอกเบี้ย 1.50%

“โครงการนี้คือกระทรวงการคลังมอบหน้าที่ปล่อยซอฟท์โลนของแบงก์ชาติที่มีอยู่เดิมให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่ต่อเท่านั้นเนื่องจากกฎหมายแบงก์ชาติฉบับใหม่ไม่ให้อำนาจในการปล่อยซอฟท์โลนจึงต้องหาหน่วยงานมาทำหน้าที่แทน ส่วนเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ได้โฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจใดโดยเฉพาะเพียงแต่ต้องกำหนดให้เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น” นายสถิตย์กล่าว

ในระหว่างนี้กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารออมสินไปศึกษาต้นทุนการดำเนินงานในโครงการนี้ว่าต้นทุนของธนาคารออมสินที่จะนำมาปล่อยกู้ซอฟท์โลนวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทนั้นกระทรวงการคลังจะต้องชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ 0.01% กับต้นทุนจริงของธนาคารออมสินเท่าไร เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเตรียมตั้งวงเงินชดเชยเข้าไปในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 – 2556 ต่อไป

สำหรับโครงการปล่อยซอฟต์โลนเดิมของ ธปท.นั้นจะสิ้นสุดโครงการในปี 2553 มีวงเงินโครงการประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถดำเนินการต่อไปได้จึงได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไปและให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับหน้าที่แทน ธปท. โดยโครงการในครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2554 – 2556 เพื่อรองรับกับซอฟท์โลนของ ธปท.ที่สิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้

ประดิษฐ์ไล่บี้แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อ

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในการอำนวยสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยปี 52 เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจแต่ละแห่งไว้เรียบร้อยแล้วรวมทั้งสิ้น 927,000 ล้านบาท และจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ รับทราบ จากนั้นจะเร่งหารือกับผู้บริหารของแต่ละธนาคาร เพื่อแยกบัญชีช่วยเหลือทางสังคม (พีเอสเอ) หรือสินเชื่อตามนโยบายรัฐของแต่ละแห่งอีกจำนวนเท่าใด และรายงานให้ครม.ทราบในสัปดาห์ถัดไป เพื่อให้แต่ละแห่งเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

"จากการรายงานตัวเลขปล่อยสินเชื่อของ 6 แบงก์รัฐพบว่า แม้ครึ่งปีแรกจะอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 3 แสนล้านบาท แต่ที่น่าตกใจคือผู้กู้เบิกเงินจริงเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้นจากเป้าสินเชื่อใหม่ที่คาดจะปล่อยให้ได้ทั้งปี 9 แสนล้านบาท จึงเหลืออีก 8 แสนล้านบาทในช่วง 4 เดือนกว่าๆ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดอย่างเต็มที่เพราะขณะนี้รัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบไม่มาก" นายประดิษฐ์กล่าว

สาเหตุที่แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อได้น้อย มีทั้งที่เกิดจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และแบงก์เอสเอ็มอี อนุมัติสินเชื่อล่าช้า โดยเป็นผลจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานกังวลถึงผลที่จะตามมาหากอนุมัติสินเชื่อไปแล้วเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ดังนั้นจากนี้จึงต้องเร่งผลักดันสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเร่งด่วน โดยจะเสนอ ครม.ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ช่วง ก.ย.51 หรือช่วงที่ธนาคารเลย์แมน บราเธอร์ในอเมริกาล้ม โดยรัฐจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่โครงการพีเอสเอ และให้ความคุ้มครองพนักงานของรัฐในการพิจารณาสินเชื่อ หากเกิดปัญหาเอ็นพีแอลขึ้นภายหลัง โดยจะเน้นในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากเพื่อจะให้การช่วยเหลือให้เกิดการฟื้นตัว ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สำหรับภาคธุรกิจอื่นๆ ก็จะอยู่ในบัญชีปกติ

ส่วนยอดสินเชื่อใหม่ทั้ง 301,500 ล้านบาทนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยเพิ่มขึ้น 147,000 ล้านบาท เน้นหนักในโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ธนาคารออมสิน 80,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 26,500 ล้านบาท ธสน. 17,500 ล้านบาท ธพว. 17,500 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) 13,000 ล้านบาท โดยที่น่าเป็นห่วงว่าจะปล่อยได้ตามเป้าหมายใหม่หรือไม่นั้นคือ ธสน.และ ธพว. เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีปัญหาอยู่แล้ว

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่มีสินค้าพร้อมพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ตนได้หารือร่วมกับรมว.และรมช.พาณิชย์ จัดหาแหล่งเงินและแหล่งทุนให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยสามารถขอสินเชื่อด้วยการนำสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นหลักประกันกับธนาคารได้ ซึ่งคงไม่ใช่การจัดตั้งเป็นธนาคารทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากที่ผ่านมามีประสบการณ์ทั้งกับการจัดตั้งธพว.และธสน.ที่มีปัญหา และไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจได้ตามเป้าประสงค์และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างทบทวนและประเมินแบงก์เหล่านี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น