นายกฯ เผย ครม.เห็นชอบแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ขยายสิทธิครอบคลุมคู่สมรส-บุตร เพื่อให้คนไทยมีสวัสดิการที่ดีขึ้น พร้อมรับทราบ เพิ่มสินเชื่อแบงก์รัฐกระตุ้น ศก.เป็นเงิน 9.27 แสนล้าน แยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยขยายสิทธิครอบคลุมคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการทั่วถึงมากขึ้น
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กลับไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ว่า รัฐบาลจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเท่าใด โดยไม่ต้องให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่า ณ สถานะกองทุนประกันสังคมทั้ง 4 สิทธิอยู่ในสถานะที่จะรองรับได้
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ ได้รับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในปี 2552 เพิ่มอีก 301,500 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 625,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 927,000 ล้านบาท
ส่วนการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account:PSA) กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแยกบัญชีธุรกรรมที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟู และช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจเป้าหมาย ออกจากบัญชีธุรกรรมทั่วไป เพื่อที่จะได้ดูแล หรือชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปอย่างเป็นระบบชัดเจน
ทั้งนี้ กำหนดกรอบการพิจารณาโครงการที่สามารถแยกบัญชี PSA เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์และรูปแบบการให้บริการ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม ตามคำจำกัดความของ พ.ร.บ.ป้องกันฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 หรือ ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วิสาหกิจ และหน่วยธุรกิจ และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
เป็นโครงการหรือธุรกรรมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน หรือธุรกรรมที่รัฐบาลสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ โดยต้องมีมติ ครม.ระบุให้มีการชดเชยหรือสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐอย่างชัดเจน
สำหรับเกณฑ์การผ่อนปรนที่สามารถเสนอกระทรวงการคลังเพื่อผ่อนปรนกว่าเกณฑ์ปกติ ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หรือมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน ระยะเวลา เช่น มีระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ หรือระยะเวลาปลอดการชำระหนี้มากกว่าระยะเวลาที่สถาบันการเงินทั่วไปพึงยึดถือปฏิบัติ ปลอดการชำระเงินต้น
กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้พิจารณาโครงการและกำหนดมาตรฐานการคำนวณเงินชดเชย รวมถึงสรุปวงเงินที่ควรได้รับการชดเชยเพื่อประกอบการขอตั้งงบประมาณ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการแผกบัญชีและกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละโครงการ เพื่อให้การดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่การดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อการเร่งรัดการแก้ไขบัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างแท้จริงและยั่งยืน