xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนฉุดจีดีพีไตรมาส2ติดลบ5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คลังเผยจีดีพีไตรมาส 2 ยังติดลบที่ 5.0-6.0% ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งการเบิกจ่ายต่ำเป้าและไข้หวัด ระบุภาคอุตสาหกรรม ส่งออกและการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณบวกดันจีดีพีไตรมาสสุดท้ายเป็นบวกได้ แต่ต้องระวังการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขาดความเชื่อมั่น พร้อมเร่งอัดเงินเข้าสู่ระบบ 9 เดือนเบิกจ่ายแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท ส่วนงบกลางปีใช้ไปแล้วกว่าครึ่ง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะติดลบ 5-6% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 7.1% และเชื่อมั่นว่าจะฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงมาก ทั้งจากความวุ่นวายทางการเมืองและการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

“สัญญาณที่ดีขึ้นสะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับมาเพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการหดตัวที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง โดยนักท่องเที่ยวไตรมาส 2 ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับไตรมาสแรกที่ลดลง 3.6% โดยเฉพาะจากการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากกระทบความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนหยุดการใช้จ่าย ทั้งนี้มองว่าไข้หวัดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 0.15% เท่านั้นคงไม่ร้ายแรงเท่ากับปัญหาโรคซาร์ส และคาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไป 1.8 ล้านคน สูญเสียรายได้ 146 ล้านบาท” นายสมชัย

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ระดับสูงมากที่ระดับ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยในด้านนโยบายการคลังถือว่าได้ทำไปหมดแล้ว เหลือเพียงสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้ได้ คือเร่งใช้จ่ายเงินภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ถือว่าการเบิกจ่ายงบประมาณยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายได้เพียง 67% จากเป้าหมาย 69% ขณะที่งบกลางปีเบิกจ่ายได้ 54% หรือ 62,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 110,000 ล้านบาท ที่ต้องเบิกจ่ายให้หมดภายในเดือนก.ย.นี้ รวมถึงเร่งเบิกจ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

***ห่วงเงินเฟ้อกระทบเศรษฐกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีสัญญาณบวกมากขึ้น จากการส่งออกที่หดตัวชะลอลงเช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังน่าเป็นห่วง เพราะยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่นคือ การเมืองที่มีเสถียรภาพ การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐบาลมีมากขึ้น

ส่วนนโยบายการเงิน และการแลกเปลี่ยนนั้น กระทรวงการคลังคงไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่ทำได้ตามกลไกที่มีอยู่ โดยการผลักดันการนำเงินออกนอกประเทศ ให้นำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ โดยสศค.กำลังเร่งศึกษาการปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุน เพื่อใช้ในการส่งออก เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมผู้ส่งออกให้มีการส่งออกสินค้ามากขึ้น

“ขณะนี้เงินเฟ้อพื้นฐานหลุดกรอบเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาแล้ว 1 ไตรมาส ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน แต่เห็นว่าหากปล่อยให้เงินเฟ้อพื้นฐานหลุดกรอบต่อไป เป็นห่วงว่าจะมีปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนจะปรับกรอบเงินเฟ้อหรือไม่คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ธปท.และกนง.ทั้งนี้คาดว่าต้องคงรอเงินเฟ้อพื้นฐานอีก 1 ไตรมาส” นายเอกนิติกล่าว

***9 เดือนเบิกจ่าย 1.25 ล้านบาท
น.พ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง กล่าวถึงการเบิกจ่ายเงินว่า ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.52 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายไปแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท หรือ 68.37% ของวงเงินงบประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย 1.63% โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1.04 ล้านล้านบาท หรือ 70.67% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเบิกจ่าย ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน 1.66%

สำหรับรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 2.07 แสนล้านบาท หรือ 58.71% ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน 6.43% แต่สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 55.00% โดยมีรายงานจากกรมบัญชีกลางภายหลังเชิญหน่วยงานที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำมาประชุมหารือเมื่อวันที่ 28 ก.ค.52 ทราบว่า มีหน่วยงานที่ได้รับงบลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 12 หน่วยงาน และเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ต้องเปลี่ยนแปลงรายการ เปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้าง บางโครงการเป็นงบผูกพันข้ามปีก็ต้องเบิกจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีก่อนโดยคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีจะเบิกจ่ายได้อยู่ระหว่าง 30 – 74%

***งบกลางปีเข้าสู่ระบบ 46%
สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552มีการเบิกจ่ายแล้วทั้ง 16 โครงการ โดยมีอัตราการเบิกจ่าย 46.08% ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 1.16 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการที่มีอัตราการเบิกจ่ายสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท (เช็คช่วยชาติคนละ 2,000 บาท) โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี มีการเบิกจ่ายแล้ว 95.86% 86.49% และ 82.43% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละโครงการ ตามลำดับ

ส่วนหน่วยงานที่มีผลเบิกจ่ายต่ำ กว่าเป้ามี11 หน่วยงาน 8 โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการตามงวดงานตามแผนแล้ว แต่ผลการเบิกจ่ายต่ำเนื่องจากหน่วยงานได้จ่าย จากเงินทดรองราชการไปก่อนแล้ว จึงเบิกจ่ายจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลัง ก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้เร่งเบิกจ่ายให้ถูกต้องแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 80 – 95%
กำลังโหลดความคิดเห็น