หอการค้าฯ ชงที่ประชุมฯ กกร.จี้รัฐดูแลค่าบาทอ่อน เพราะเสียเปรียบคู่ค้า 12 ชาติสำคัญ แนะอัตราที่เหมาะสม 37 บาท/ดอลลาร์ พร้อมเสนอ 3 ปัญหาเร่งด่วน เสนอมุมมองค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาทต่อดอลลาร์ จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.03% จ้างงานเพิ่ม 1.1 แสนตำแหน่ง
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมเสนอ 3 ปัญหาเร่งด่วนของภาคเอกชนต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ประกอบด้วย การดูแลค่าเงินบาท การสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)
สำหรับปัญหาค่าเงินบาทนั้น พบว่าแข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคส่วนใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นมา การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักทั้ง 12 สกุลเงิน 2.71% ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาประมาณ 2.71% นับจากต้นปี
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยเห็นว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับปัจจุบันควรอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์
"การบริหารเงินของประเทศเพื่อนบ้านทำได้ดีกว่าเรา ในขณะที่ของเรา(แบงก์ชาติ) ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เราเห็นว่าบาทควรจะอ่อนลงกว่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งหรือคู่ค้า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราขอมาตลอด"
ในทางกลับกัน มองว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาทต่อดอลลาร์ จะช่วยทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น และส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ให้เพิ่มขึ้น 0.03% และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคน ซึ่งแม้มูลค่าการส่งออกในปัจจุบันจะยังติดลบอยู่มาก แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยเอื้อให้มูลค่าการส่งออกไม่ติดลบมากไปกว่าที่เป็นอยู่ และมีโอกาสจะขยายตัวเป็นบวกได้เร็วขึ้น
"หากการบริหารจัดการค่าเงินมีเสถียรภาพ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าดูแลค่าเงินอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่โจมตีค่าเงินบาท และไม่จำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกร.ต่อไป"
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภาคเอกชนยังต้องการให้มีการสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก (Risk Insurance) ซึ่งปัจจุบันแม้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธนส.) หรือ Exim Bank จะดำเนินการอยู่แล้ว แต่ภาคเอกชนต้องการให้ปรับปรุงขั้นตอนให้มีความรวดเร็วขึ้น และไม่ควรจำกัดเพดานของการรับประกันความเสี่ยง
"หากธนาคารปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท จะทำให้การลงทุนขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 และเพิ่มการจ้างงาน 10,000 คน รวมทั้งขอให้มีการสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก เพราะหลังจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจโลก คู่ค้าของไทยในต่างประเทศไม่มีการเปิดวงเงินสำหรับการออก Letter of credit (LC) และขยายเวลาในการชำระเงินไปอีก 30-90 วัน ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างหนัก"
ดังนั้น ภาคเอกชนจึงขอให้มีการทำระบบประกันความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ส่งออกนำใบสั่งซื้อสินค้า (ใบ PO) ไปทำประกันความเสี่ยงกับ Exim Bank เมื่อผ่านการการันตีแล้วสามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้
ส่วนเรื่องการให้สินเชื่อ Soft Loan นั้น หลังจาก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ทำให้ ธปท.ไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายใหม่ ดังนั้นจึงขอให้มีการปรับแก้กฎหมายอีกครั้งเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้เหมือนในอดีต เพื่อให้สามารถช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการได้