xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยส่อแววสดใส แต่ยังต้องลุ้นผลพวง"ไข้หวัดใหญ่2009"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูเหมือนว่า ทิศทางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะได้รับการยอมรับแล้วว่า ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่จุดเริ่มต้นของการฟื้นตัว เพราะหลายต่อหลายปัจจัย ทั้งตัวเลขการขยายตัวของจีน ตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นทั่วโลก ล้วนแล้วแต่สนับสนุนความคิดนี้กันทั้งนั้น...ซึ่งเศรษฐกิจไทยเอง ต้องยอมรับว่าแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการเงิน แต่การที่ตัวเลขส่งออกลดลงอย่าต่อเนื่อง จนฉุดจีดีพีติดลบไป 7.1% ในช่วงไตรมาสแรก ทำให้กลายเป็นความเกี่ยวข้องไปโดยปริยาย ดังนั้น หากสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แน่นอนว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวก็มีอยู่เช่นกัน

แต่ใช่ว่าความเสี่ยงจะหมดไปซะทีเดียว เพราะตอนนี้ แม้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า จะมีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรตามมาอีกบ้าง โดยเฉพาะปัญหาสถาบันการเงิน ที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ นอกจากนี้ ปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ซึ่งไทยเอง ก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน...ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น
ในด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงในไตรมาสปัจจุบัน เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนส่วนใหญ่ยังมีอัตราติดลบสูง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมยังคงลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี อย่างไรก็ดี ก็ยังมีสัญญาณที่ดีให้เห็นจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางด้าน โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index) ที่ปรับผลของฤดูกาลแล้ว ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มมีระดับค่าดัชนีที่ทรงตัวอย่างมีเสถียรภาพตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อยในเดือนเมษายน เนื่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

เพื่อวิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะเดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ซึ่งความหมายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในที่นี้คือภาวะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นบวก ทั้งนี้ โดยปกติ การติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมักอิงกับข้อมูลอัตราการขยายตัวของจีดีพี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่เนื่องจากตัวเลขจีดีพีมีการรายงานเป็นรายไตรมาส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงใช้ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการรายงานเป็นรายเดือน เป็นตัวแปรในการติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแทน โดย “การฟื้นตัว” หมายถึง การที่ดัชนีพ้องเศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นตัวเลขบวกเมื่อเทียบรายปี (Annualized) สำหรับตัวแปรอธิบาย (Explanatory Variables) ที่ใช้ในการพยากรณ์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้ ประกอบด้วยตัวแปร 3 ตัว คือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index) ของธปท. ตัวแปรชี้วัฏจักรเศรษฐกิจ (ว่าอยู่ช่วงถดถอยหรือไม่) และตัวแปรชี้ความเชื่อมั่นโดยรวม โดยตัวแปรอธิบายจะสามารถคาดการณ์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้านับจากเดือนล่าสุดที่มีข้อมูล

จากข้อมูลดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของธปท. ที่มีการรายงานตัวเลขถึงเดือนเมษายน 2552 ทำให้ ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัว ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้น สามารถประเมินโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552 และพบว่าโอกาสที่ดัชนีพ้องเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกมีเพิ่มขึ้น โดยหลังจาก ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัว ลงไปแตะร้อยละ 19 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีความเป็นไปได้ดังกล่าวก็เริ่มค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับร้อยละ 50 ตั้งแต่เดือนเมษายน และล่าสุด ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในระยะ 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2552) มีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 61

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโอกาสของการฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ระดับของความน่าจะเป็นที่ร้อยละ 61 ดังกล่าว ก็ยังคงถือว่ามีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ทำให้ทางการไทยยังคงต้องดูแลประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองในประเทศแล้ว ความเสี่ยงล่าสุดที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังได้แก่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ความเสี่ยงประการหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ในประเทศที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หลังพบการติดเชื้อภายในประเทศในระดับชุมชน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาในช่วงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ตามที่มีการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 405 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินว่าความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอาจจะมีเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อไข้หวัดตามฤดูกาลจะแพร่ระบาดง่ายขึ้น

จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ที่แม้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่สามารถรักษาอาการให้หายได้ ขณะที่โอกาสการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปสู่พื้นที่หลายจังหวัด ไม่น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเหมือนในกรณีโรคซาร์ส

แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดก็อาจสร้างผลกระทบผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดำเนินชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย เช่น ในด้านสันทนาการและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นของเชื้อไข้หวัดนี้ อาจสร้างความกังวลต่อประชาชน และทำให้มีพฤติกรรมที่จะพยายามป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยประชาชนส่วนใหญ่คงหันมาดูแลสุขภาพ และดำเนินการตามมาตรการที่ทางการมีการรณรงค์ ขณะที่คงมีประชาชนบางส่วนที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมในสถานที่ปิด ซึ่งมีผู้คนแออัด พลุกพล่านรวมกันอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ ขณะที่สินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และยาฆ่าเชื้อโรค อาจเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการตื่นตัวในการระวังรักษาสุขภาพของประชาชน ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอยู่ภายใต้ข้อสมมติ กล่าวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน จากนั้นมาตรการในการป้องกัน ควบคุม ดูแลของทางการ และการปฏิบัติอย่างถูกต้องของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ อาจจะทำให้การแพร่กระจายช้าลงมาอยู่ในอัตราที่ต่ำ

ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าว อาจจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมมูลค่าประมาณ 9,000-28,000 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 65 เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 อาจลดลงประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากกรณีพื้นฐาน (Base Case) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าจีดีพีอาจหดตัวร้อยละ 5.6 ขณะจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ลดลงประมาณร้อยละ 0.2-0.9 จากประมาณการกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.0 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2552 อัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 0.1-0.3 จากประมาณการกรณีพื้นฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 3.5

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงกว่าการประเมินในเบื้องต้นนี้ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและยาวนานของการระบาดของโรค แต่กรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 3.5-6.0 นั้นเป็นกรอบที่น่าจะสามารถรองรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ในขั้นรุนแรงได้

ขณะเดียวกัน กรอบประมาณการในกรณีเลวร้าย (กรอบล่างที่คาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 6.0) ได้ผนวกผลของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไว้ด้วย เช่น ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมือง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ทำให้ ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปีนี้แต่อย่างใด

สำหรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ภาครัฐควรมีการเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใส รวมทั้งมีมาตรการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดต่อของโรค เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและชาวต่างชาติต่อแนวทางปฏิบัติและมาตรการรับมือของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น