xs
xsm
sm
md
lg

เตือนธุรกิจรับมือ4ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- จับทิศภาคธุรกิจไทยครึ่งปีหลังยังเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยทั้งค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น สภาพคล่องธุรกิจที่ต้องเกาะติดหลังรัฐระดมออกพันธบัตรอาจซ้ำเติมเอสเอ็มอีให้หาเงินกู้ยากขึ้น ราคาน้ำมันผันผวนในทางที่สูงกว่าต้นปีและไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่หยุดแพร่ระบาด นโยบายคลังครึ่งปีหลังชี้วัดชะตาศก.ไทย
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคธุรกิจที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในครึ่งปีหลังปีนี้ คือ ทิศทางค่าเงินบาท สภาพคล่องธุรกิจ ราคาน้ำมัน และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับความผันผวนของปัจจัยดังกล่าวและการฟื้นตัวของภาคส่งออก โดยมีสัญญาณจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ติดลบเฉลี่ย 14.5% และการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตที่ติดลบ 19.6% แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคอุตสาหกรรมไทยที่อาจต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีนี้
“เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขับเคลื่อนด้วยนโยบายการคลังเป็นหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้มาตรการไทยเข้มแข็งที่ใช้เงินมากกว่า 1.43 ล้านล้านบาท อีกทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2552 และเร่งรัดโครงการลงทุนที่สำคัญภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะที่สองให้มีความคืบหน้า”นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอาจผันผวนไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เนื่องจากคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลมีการออกพันธบัตรตามพ.ร.ก. และพ.ร.บ. รวมกัน 800,000 ล้านบาท อาจสร้างความกดดันความต้องการเงินบาทและโอกาสมีเงินดอลลาร์ไหลเข้ามาซื้อพันธบัตร ดังนั้น ผู้ส่งออกควรมีการทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้าเอาไว้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นประมาณ 3.13% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เงินบาทของไทยค่อนข้างแข็งค่ากว่าหลายประเทศ ซึ่งเงินบาทอ่อนค่า 1 บาทจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.3%
สำหรับปัจจัยสภาพคล่องที่อาจจะยังคงมีทิศทางที่ลดลงได้ แม้ว่าสภาพคล่องทั้งระบบของไทยสูงมากมีเงินเหลือประมาณ 8-9 แสนล้าน แต่ประเด็นอยู่ที่ภาคธนาคารพาณิชย์มองว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อ จึงมีการชะลอหรือมีการปล่อยสินเชื่อน้อยลง อีกทั้งแนวโน้มที่รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นแรก 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.95% จะก่อให้เกิดเงินไหลออกจากสถาบันการเงิน
ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังจะออกพันธบัตรอีกหลายแสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการแย่งเงินในตลาด และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจ SMEs ที่ต้องการสภาพคล่องไปจุนเจือ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัว แต่ขาดสภาพคล่องที่จะไปลงทุนทางด้านเครื่องจักรและการสต๊อกสินค้า ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อทุกหนึ่งแสนล้านบาทมีผลต่อ GDP 0.2-0.3%
ปัจจัยด้านราคาน้ำมันอาจมีความผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้นจากครึ่งปีแรกซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน้ำมันเฉลี่ยจะสูงกว่าครึ่งปีแรกประมาณ 20 เหรียญต่อบาร์เรลหรืออยู่ระดับ 70 เหรียญต่อบาร์เรล แต่อาจไม่สูงถึง 75 เหรียญสหรัฐ จากตัวเลขของ World Bank ซึ่งได้มีการออกประกาศเตือนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน อาจติดลบ 2.9% แต่ค่าเงินเหรียญสหรัฐหากอ่อนค่าลงก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันที่สูงได้เพราะจะมีการย้ายไปเก็งกำไรน้ำมันทันที จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีการวิตกว่าน้ำมันอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจมีการล่าช้าออกไปอีก
สำหรับความเสี่ยงจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เริ่มมีการติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้นทำให้คนทั้งโลกไม่กล้าที่จะไปท่องเที่ยว ส่งผลต่อการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การประเมินเศรษฐกิจโลกติดลบไปกว่าการคาดการณ์ไว้ ส่วนเศรษฐกิจของไทย ผลกระทบจากการท่องเที่ยวอาจจะติดลบไปกว่า 20% อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 3.67 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น