xs
xsm
sm
md
lg

คำสั่งซื้อระยะสั้นทยอยเข้าQ3ส่งออกติดลบลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.เผยแนวโน้มออร์เดอร์ไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มทยอยกลับแต่ส่วนใหญ่คำสั่งซื้อเป็นระยะสั้น 3 เดือนทำให้ยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นต่อเนื่องหรือไม่ คาดส่งออกน่าจะติดลบต่อแต่ต่ำลงเทียบกับไตรมาส 2 ส่งผลให้การเลิกจ้างชะลอตัวลงแต่ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตยังไม่กระเตื้องนักชี้จะกลับมาเป็นปกติได้อาจเป็นปี 2553

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศในไตรมาส 3 เริ่มทยอยกลับเข้ามาบ้างในบางสินค้าเช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอบางรายการ แต่ยังคงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นไปจนถึงสิ้นปีหรือไม่ อย่างไรเนื่องจากยังคงเป็นคำสั่งซื้อระยะสั้น(3เดือน) เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคาดว่าปี 2553 จึงจะเข้ากลับสู่ภาวะปกติได้ในกรณีที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว

“แม้ว่าออร์เดอร์จะมีกลับเข้ามาบ้างแต่ก็ไม่มากนักภาพรวมยังคงติดลบแต่เป็นอัตราที่น่าจะติดลบน้อยลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสแรกและสอง แต่ออร์เดอร์ที่เข้ามาก็ยังทำให้เราไม่ค่อยมั่นใจเท่าใดนักว่าจะดีขึ้นจริงหรือไม่เพราะเป็นเพียงออร์เดอร์ระยะสั้น ปกติออร์เดอร์จะวางกันยาว6 เดือน- 1ปีจึงจะถือว่ากลับมาเป็นปกติ”นายทวีกิจกล่าว

ทั้งนี้ผลพวงจากออร์เดอร์ที่เริ่มกลับเข้ามาทำให้ภาพรวมการเลิกจ้างงานชะลอตัวลงไปพอสมควร ดังนั้นแรงงานที่ยังจ้างอยู่ในปัจจุบันผู้ประกอบการคงจะพยายามประคองไว้ให้มากที่สุดเพื่อรอออร์เดอร์ในช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่งแต่โอกาสที่จะรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างออกไปก่อนหน้านั้นคงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้เพราะออร์เดอร์ที่เข้ามาเป็นการทยอยและไม่มากซึ่งจะเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยยังอยู่ระดับ 50-55% เท่านั้นซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตระดับปกติในอดีตนั้นเฉลี่ยควรอยู่ระดับ 90%

สำหรับโครงการชะลอการเลิกจ้างงานนั้นล่าสุดส.อ.ท.ได้เสนอขอความสนับสนุนงบประมาณผ่านกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมไปแล้วระยะแรกวงเงิน 280 ล้านบาทในการช่วยสนับสนุนค่าฝึกอบรมแรงงาน 4 เดือน จำนวน 4 หมื่นคนใน 105 บริษัทซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามมาตรการดูแลภาคอุตสาหกรรมนั้นเห็นว่ารัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการให้เร็วกว่าปัจจุบันเพราะผ่านไปหลายเดือนแล้วมาตรการส่วนใหญ่เพิ่งเป็นรูปธรรมและหลายโครงการยังไม่เกิดขึ้น

“ กรณีการลดการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 3% จริงๆ แล้วเราเสนอไปนานแล้วเพิ่งจะมีผล กรณีชะลอการเลิกจ้างเองก็เช่นกันค่อนข้างช้ามากทั้งที่ปัญหานั้นได้ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้วจนบางรายปิดกิจการไปไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ”นายทวีกิจกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.สายงานโลจิสติกส์ กล่าวว่า คำสั่งซื้อที่เริ่มกลับมาบ้างแต่ถือว่าภาพรวมไม่มากนักแต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องติดตามคือปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ขณะนี้แม้ว่าสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งเริ่มเข้ามาดูแลแต่จากนโยบายรัฐบาลที่จะมีการทยอยออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไปนั้นจะเป็นการดูดซับสภาพคล่องจากสถาบันการเงินที่มีอยู่ออกไปเพิ่มอีกดังนั้นรัฐบาลควรจะจัดสรรวงเงินในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไว้ให้มากซึ่งรูปแบบควรจะดำเนินการเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สนับสนุนภาพคล่อง 5,000 ล้านบาทหากดำเนินการได้เชื่อว่าภายในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น