xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.รุดพบแบงก์ชาติ หาวิธีแก้ภัยบาทแข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.อ.ท. เตรียมถกธปท. หามาตรการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท หลังค่าเงินแข็งค่าขึ้นในเร็วๆ นี้ พร้อมเตรียมแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้เอสเอ็มอีด้วยการหารือร่วม บสย.16 มิ.ย.นี้ช่วยค้ำประกันการส่งออก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะหารือร่วมกับนางธาริษา วัฒนเกศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ถึงกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพื่อหามาตรการในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทรวมไปถึงปัญหาสภาพคล่องและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ยังปล่อยกู้ในจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบ

“ คงจะหารือภาพรวมว่าจะทำอย่างไรให้แบงก์พาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อมากกว่าปัจจุบันทั้งที่มีเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก รวมทั้งหารือเรื่องการสว็อบค่าเงินบาทเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ครั้งที่ผ่านมาด้วย”นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่อยู่ระดับ 35 บาทต่อเหรียญ ล่าสุดอยู่ที่ 33.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 5% ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) โดยภาคเอกชนเห็นว่าค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคยังคงมีทิศทางที่แข็งค่ากว่า อย่างไรก็ตามวันที่ 16 มิ.ย.นี้

จะไปหารือร่วมกับนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานคณะกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ถึงแนวทางการค้ำประกันการส่งออกให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้างเพื่อดูแลเรื่องสภาพคล่อง

“ เอสเอ็มอี เจอหลายด้านทั้งน้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 71-72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 40%จากเดือนก่อน ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปหลายแห่ง ซึ่ง บสย.จำเป็นต้องเข้ามาช่วยค้ำประกันการส่งออกให้เอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อค้ำประกันส่งออกเพียงแค่ 10%เท่านั้น

และยังเป็นการพิจารณาอนุมัติรวมเป็นพอร์ตแล้วทยอยแบ่งจ่ายคืนให้ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้”นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่งได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิม แบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอี แบงก์) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)วงเงินรวม 1.45หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น