xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เพ้อประกันสินเชื่อ2.7หมื่นล. 5เดือนขาดทุนแล้วถึง22ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บสย.ฝันหวาน สิ้นปีประกันสินเชื่อได้ 2.7 หมื่นล้านบาท หลังจับมือแบงก์ชาติ เดินสายทั่วประเทศ ทำความเข้าใจเอสเอ็มอี กู้อย่างไรให้ได้เงิน ระบุเอ็นพีแอล 5 เดือนแรกแตะระดับ 21% เพิ่มจากสิ้นปีที่แล้วที่ 18% ส่งผลขาดทุนแล้ว 22 ล้านบาท

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเพิ่มทุนให้ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ถึง 3 หมื่นล้านบาทแต่ใน 6 เดือนแรกของปี บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เพียง 245 ล้านบาทเท่านั้น โดยอนุมัติโครงการสูงสุดคือ ธนาคาร กรุงเทพ 147 ล้านบาท ธนาคาร กรุงไทย 48 ล้านบาทและ ธนาคาร นครหลวงไทย 27 ล้านบาท

“สาเหตุที่อนุมัติเงินค้ำประกันล่าช้า แม้ว่าจะผ่านมา 6 เดือนแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการ ธนาคารพาณิชย์ที่จะเป็นคนปล่อยกู้โดยตรง ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งเอกสารและเจ้าหน้า ทำให้กระบวนการล่าช้า แต่คาดว่าหลังจากนี้กระบวนการจะเร็วขึ้น”นายสุรชัยกล่าว

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า บสย.ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมจัดงาน ตลาดนัดเงินกู้ “กู้อย่างไรให้ได้เงิน เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ โดยจะเริ่มที่ 9 จังหวัดภาคอีสานก่อน ในระหว่างวันที่ 10-26 มิถุนายนนี้หลังจากนั้นจึงจะกระจายไปทั่วทุกภาคในประเทศ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้บสย.ค้ำประกันสินเชื่อได้ถึง 2.7 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้

สำหรับโครงการปล่อยกู้เอสเอ็มอี เพื่อนำเงินชำระภาษีนิติบุคคล นายสุรชัยกล่าวว่า บสย.ไม่ได้ปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) กำหนดให้เป็นการกู้ยืมเพื่อชำระภาษีปี 2551 ซึ่งจะต้องดำเนินการยื่นชำระภาษีภายในมิถุนายน 2552 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดนับจากมีมติของคณะรัฐมนตรี เพราะขั้นตอนจะต้องไปยืนขอเอกสารต่างจากกรมสรรพากรด้วย มีเพียง 1 รายที่ยื่นเข้ามา แต่ไม่ผ่านเงื่อนไขจำนวนพนักงานตามที่กำหนดจึงถือโครงการดังกล่าวจบไปแล้ว หากจะดำเนินการใหม่ต้องขึ้นกับมติครม.

สำหรับเอสเอ็มอีที่ยื่นขอกู้สูงสุดในช่วงที่ผ่านมา คือกลุ่มอาหารเครื่องดื่มประมาณ 14.5% รองลงมาคือกลุ่มเกษตร 11.7% และกลุ่มเหล็ก 10% โดยบสย.เปิดกว้างให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มอยู่แล้ว ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล 5 เดือนที่ผ่านมาหรือสิ้น พ.ค.อยู่ที่ 21% ของสินเชื่อรวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากธ.ค.ปี 51ที่อยู่ในระดับ 18.9% เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อไม่ขยายตัวและเป็นผลจากเอ็นพีแอลในส่วนของสถาบันการเงินที่ใช้บริการกับบสย.เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ 5 เดือนที่ผ่านมา บสย.มีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 22 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 32 ล้านบาท ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บสย.ก็ไม่ได้คาดหวังกับผลกำไรอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น