xs
xsm
sm
md
lg

หญิงท้องติดหวัดยัง “โคม่า”ลูกดีขึ้น-หวั่นกระทบสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผอ.รพ.จุฬาฯ เผยหญิงราชบุรีติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ อาการยังวิกฤต ขณะที่ทารกหญิงอาการดีขึ้น เชื่อติดเชื้อจากแม่ผ่านทางน้ำคร่ำ แพทย์ดูแลใกล้ชิดหวั่นส่งผลต่อสมองหรือพัฒนาการของเด็กในอนาคต นายกฯ รับต้องปรับระบบกระจายยาต้านหวัดให้คนติดเชื้อเข้าถึงยาเร็วขึ้น "หมอไพจิตร์" ชี้กระจายยาสู่คลินิกจำเป็น แต่ต้องขึ้นทะเบียน มั่นใจโอกาสดื้อยาไม่ง่าย กรมการแพทย์เปิดห้องปฏิบัติการผ่าศพเก็บข้อมูล

วานนี้(26 ก.ค.)ศ.นพ.อดิศร ภัทรดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยคณะแพทย์ประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้เชี่ยวด้านโรคระบบทางเดินหายใจ พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ แพทย์สาขาโรคติดเชื้อ ร่วมกันแถลงความคืบหน้าอาการของหญิง วัย 26 ปี ชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งคลอดลูกก่อนกำหนด หลังตั้งครรภ์ได้เพียง 7 เดือน สาเหตุเพราะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างรุนแรง และถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทางเฮลิคอปเตอร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

รศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่า ขณะนี้หญิงคนดังกล่าวอาการยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ต้องรักษาตั ในห้องไอซียู เนื่องจากปอดทั้งสองข้างติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์ต้องให้เครื่องช่วยหายใจในอัตราสูงมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงให้ยานอนหลับเพื่อให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่รำคาญเครื่องช่วยหายใจ ขณะเดียวกันได้ให้ยาโอเซลทามิเวียร์ทางเส้นเลือดเพื่อต้านไวรัส โดยแพทย์ต้องคอยดูอาการอย่างใกล้ชิด

ด้านศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ส่วนอาการของเด็กหญิงที่คลอดจากหญิงคนดังกล่าว ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ด้วย ล่าสุดได้รับรายงานจากโรงพยาบาลราชบุรีว่าอาการเริ่มดีขึ้น ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อน่าจะมาจากการติดเชื้อจากมารดาผ่านทางน้ำคร่ำที่เด็กอาจจะกลืนกินลงไป เพราะเป็นไปได้มากกว่าการติดเชื้อทางสายสะดือ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน เพราะนับเป็นผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ขณะที่ในต่างประเทศยังไม่มีรายงานการติดเชื้อในลักษณะดังกล่าว ซึ่งคณะแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาผลกระทบว่าจะส่งผลต่อสมองหรือพัฒนาการของเด็กในอนาคตหรือไม่

ด้าน พญ.เลลานีกล่าวว่า อยากแนะนำให้หญิงมีครรภ ดูแลตนเองอย่างเข้มงวด ทั้งการล้างมือบ่อยๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดคนเป็นหวัดและพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากสงสัยว่าตนเองจะเป็นไข้หวัดให้รีบพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมงเพื่อรับยาต้านไวรัส พร้อมฝากเตือนผู้ที่เป็นหวัดให้หลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดหญิงมีครรภ์ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการโรคแทรกซ้อนรุนแรง

**นายกฯ สั่งรื้อระบบกระจายยา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่พบว่ามีเด็กในครรภ์ติดเชื้อดังกล่าวจากแม่ว่า ขณะนี้หญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนคนดังกล่าวได้รับการดูแลอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งจะมีการติดตามดูว่ามีการถ่ายทอดเชื้อหรือไม่อย่างไร ส่วนการติดตามด้านสาธารณสุขนั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดคือระบบการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพราะจำเป็นต้องให้ยาตัวนี้แก่ผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงให้เร็วขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกินวันที่ 2 และ 3 หลังจากที่เริ่มมีอาการ

ทั้งนี้ มีหลายส่วนในภูมิภาคที่ไม่สามารถจ่ายยาตัวนี้ได้อยู่ จึงต้องมีการปรับแก้ โดยต้องอยู่บนความพอดี เพราะผู้เชี่ยวชาญไม่อยากปล่อยยาตัวนี้ให้ถูกนำไปใช้อย่างไม่จำเป็น เนื่องจากจะมีความเสี่ยงเรื่องดื้อยาตามมา ซึ่งบางประเทศเริ่มเจอแล้วแต่ยังไม่รุนแรงมากนัก

อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้คุยกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อช่วงเช้า ซึ่งบอกว่าระบบการกระจายยาคงต้องไปที่คลินิกด้วย โดยต้องมีวิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เร็วขึ้น เพราะผู้เสียชีวิตหลายรายที่เราตามอยู่ ได้รับยาหลังจากที่เริ่มมีอาการได้ 6-7 วันแล้ว และบางครั้งเคยได้รับการรักษาพยาบาล 1-2 ครั้งวนเวียนอยู่ในที่ที่ไม่มียาตัวนี้ ทั้งนี้ ได้มีการสำรองวัคซีนและยาดังกล่าวแล้ว ซึ่งอาจได้ไม่เท่าประเทศที่มีกำลัง แต่คิดว่าเพียงพอ

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องดังกล่าวดีขึ้น ทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละที่ต้องใช้ดุลยพินิจ เช่น โรงเรียนที่มีการปิดอยู่หลายแห่งก็ต้องดูสถานการณ์ของแต่ละที่ไป ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วมากกว่าที่จะให้รัฐบาลประกาศว่าทุกคนต้องปิดหรือเปิด หรือห้ามทำสิ่งใด ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่าเราต้องบริหารจัดการและต่อสู้กับเรื่องนี้ยาวไปจนถึงปีหน้า

เมื่อถามว่าจะขอความร่วมมือจากส.ส.ฝ่ายค้านหรือไม่ เพราะในหลายพื้นที่ มีส.ส.บางคนไปให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนต่อต้านนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทุกคนเรียกร้องให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งก็คือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขทำงาน คงไม่มีนักการเมืองที่ไปทำร้ายประชาชนอย่างนั้นด้วยการให้ข้อมูลผิดๆโดยเจตนา

ทั้งนี้ ผู้ที่สังเกตการณ์ในต่างประเทศบอกว่ามีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่นำเรื่องนี้มาเล่นการเมืองมากที่สุด ดังนั้น ตนอยากขอว่าเรื่องนี้ให้ช่วยกันทำงานดีกว่า เพราะตนไม่เชื่อว่ามีพรรคการเมืองใดหรือนักการเมืองคนใดอยากจะเห็นประชาชนเสียชีวิตจากโรคระบาด

**"หมอไพจิตร์" ชี้กระจายยาสู่คลินิกจำเป็น

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การกระจายยาไปยังคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศถือว่ามีความจำเป็นเนื่องจากผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตส่วนหนึ่งได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ช้าและไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงที โดยจะต้องหารือรายละเอียดในการประชุมที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติในวันที่ 27 ก.ค.ก่อน โดยแนวทางเบื้องต้นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัดจะต้องมีการขึ้นทะเบียนคลินิกที่จะรับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพื่อใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และมีระบบในการติดตามรายงานผลการใช้ยาอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนเกินไป

“แม้ว่าทางการแพทย์จะมีความเป็นห่วงในเรื่องการดื้อยา แต่สุดท้ายต้องห่วงชีวิตคนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนว่าการให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มต้นช่วยป้องกันการเกิดปอดบวมหรือนิวมอเนียในผู้ป่วยได้ ซึ่งหากแพทย์ให้ยาตามข้อบ่งชี้และรับประทานยาครบรอบที่กำหนดคือ รับประทานยาวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน โอกาสการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ก็ไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยในประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่พบรายงานการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง”นพ.ไพจิตร์กล่าว

**เปิดห้องปฏิบัติการผ่าศพเก็บข้อมูล

นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่โดยสถาบันพยาธิวิทยา ซึ่งมีห้องปฏิบัติการผ่าชันสูตรศพที่สามารถชันสูตรศพโรคติดเชื้อได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยขณะนี้ ได้ทำการชันสูตรศพอย่างละเอียดไปแล้ว 2 ราย ทำให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของไวรัสที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆ โดยเฉพาะความรุนแรงต่อระบบการหายใจทั้งระบบ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์และการรักษาโรค

“ห้องปฏิบัติการชันสูตรศพของสถาบันพยาธิวิทยาเป็นห้องแยกปลอดเชื้อ (Negative Pressure) ที่เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน สามารถแบ่งความดันลบได้ถึง 3 ระดับ มีมาตรการป้องกันตั้งแต่การลำเลียงศพเข้า –ออก ที่มีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างเข้มข้น โดยออกแบบระบบปรับอากาศและระบายอากาศ แบบ 100% เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้ปฏิบัติงาน มีการเติมอากาศและกรองอากาศ รวมถึงการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี เชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัย 100 % “ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.เรวัติกล่าวด้วยว่า หากญาติอนุญาตให้ทำการผ่าศพเพื่อพิสูจน์เป็นวิทยาทานทางการแพทย์ ก็จะดำเนินการทันที เพราะถ้ามีการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยที่ดีพอ เชื่อมั่นว่า แม้จะมีการคาดการณ์ การระบาดของโรคระลอกสองในเดือนส.ค.-ต.ค.นี้ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาได้อย่างทันท่วงที

**มานิตสั่ง อสม. เร่งค้นหาผู้ป่วย

ที่จังหวัดนครราชสีมา นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเปิดการรณรงค์รู้ทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 และมอบนโยบาย อสม. ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการเสียชีวิต ที่โรงเรียนชุมชนประทาย อำเภอประทาย หอประชุมอำเภอโนนแดง อำเภอโนนแดง และโรงยิมเนเซียม เทศบาลตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง โดย อสม.จะออกปฏิบัติงานพร้อมกันทั่วประเทศ วันนี้ ( 27 ก.ค.) เป็นต้นไป

นายมานิตกล่าวว่า เพื่อสนองนโยบายของนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ อสม. กว่า 980,000 คนทั่วประเทศ เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการคัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดย อสม. จะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน ไต ผู้ที่อ้วน ผู้สูงอายุมากว่า 65 ปี เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ส่วน อสม.จะติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ

สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้ได้แพร่ระบาดกระจายทั่วประเทศ และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สธ. มีมาตรการควบคุมการระบาด โดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยโรคทางเดินหายใจหรือต้องอยู่ในที่ชุมนุมชน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และมาตรการการรักษา ต้องรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วเพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยได้จัดทำคู่มือรักษาพยาบาลสำหรับแพทย์ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นให้การรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย หรือผู้ที่ป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

เนื่องจากพบสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ประเด็นคือ พบผู้ป่วยกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง อีกสาเหตุหนึ่งคือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นนโยบายระดมพลัง อสม.ทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำการป้องกันโรค และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยจะต้องให้พบแพทย์ทันที มั่นใจว่ามาตรการนี้จะสามารถลดการเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น