xs
xsm
sm
md
lg

“ผมไว้ใจคุณได้หรือเปล่า?” จากวันที่ “สนธิ” ถูกยิงและถามตำรวจคนนั้น!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภาพวันที่ 17 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นวันแรกของการที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล เลือดจากศีรษะด้านขวาอาบใบหน้าและลำตัว เป็นภาพที่หลายคนแทบไม่เชื่อตาตัวเองว่าจะเกิดขึ้นได้ การรอดชีวิตได้จากห่ากระสุนนับร้อยนัดเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แต่การที่ต้องผ่าตัดกะโหลกเพื่อเอาเศษกระสุนออกจากศีรษะทำให้ประเด็นการสร้างกระแสข่าวว่าจัดฉากหรือแค่สั่งสอนต้องเป็นอันหมดสิ้นไป และกลายเป็นการรุมสังหารหมู่อย่างไม่ต้องสงสัย

ภาพชุดนายสนธิถูกยิงและถูกส่งตัวไปรักษาตัวเบื้องต้นที่ ร.พ.วชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

โดยสัญชาตญาณของนายสนธิ ซึ่งเป็นคนที่ทำงานสื่อมวลชนมาเกือบทั้งชีวิต ได้บอกคนที่สนิทและใกล้ชิดในขณะที่เลือดอาบโดยทันทีในวันนั้นได้ว่าใครทำ และผู้ที่ถูกเอ่ยชื่อในวันนั้นก็เป็น “บิ๊กสีเขียว” คนหนึ่งที่ยังคงมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน

ทันทีที่ได้ส่งตัวนายสนธิพร้อมกับไปที่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ก็ปรากฏว่า พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ได้มาพบกับนายสนธิในโรงพยาบาลและกล่าวว่า “ผม พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาความปลอดภัยให้แล้วครับ”

นายสนธิได้ถามกลับไปยัง พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ตามสัญชาตญาณอีกครั้งหนึ่งว่า “ผมไว้ใจคุณได้หรือเปล่าเนี่ย?”

บัดนี้เวลาผ่านไป 3 เดือนเศษนับจากวันลอบสังหาร การสันนิษฐานและการตั้งคำถามโดยสัญชาตญาณของนายสนธิที่พูดถึง “บิ๊กสีเขียว” คนนั้น และการไม่ไว้วางใจตำรวจในวินาทีนั้น กำลังได้รับการยืนยันในวันนี้ว่าแผนการลอบสังหารเป็นฝีมือของ “ทหาร” และ “ตำรวจ” เพียงไม่กี่คนที่กำลังจะทำให้ชื่อเสียงของสถาบันตำรวจและสถาบันกองทัพเสียหายอย่างย่อยยับ

คนที่ทำเช่นนี้ได้ต้องมีอิทธิพลและเครือข่ายทั้งตำรวจและทหารอย่างกว้างขวาง จึงสามารถทำภารกิจอัปยศ 3 ประการได้

ประการแรก มีอำนาจและอิทธิพลถึงขั้นสั่งใช้กำลังที่ร่วมมือกันระหว่างทหารและตำรวจ ซึ่งรวมถึงการตัดกล้องวงจรปิดล่วงหน้าในบริเวณที่เกิดเหตุ การใช้อาวุธสงคราม และใช้กระสุนที่มาจาก “กองทัพบก”

ประการที่สอง ใช้อาวุธสงครามทั้งปืนกลและระเบิดใจกลางพระนครรุมยิงถล่มเพื่อสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีทหารเฝ้าตามจุดต่างๆ บริเวณจุดเกิดเหตุ และจุดที่รถปฏิบัติการลอบสังหาร แต่ก็ปล่อยให้หลบหนีไปได้

ประการที่สาม มีอิทธิพลสามารถแทรกแซง ข่มขู่ คุกคาม ชุดพนักงานสืบสวนคลี่คลายคดีลอบสังหารนายสนธิได้ จนถึงขั้นทำให้คดีเดินหน้าไปอย่างยากลำบากและมีอุปสรรคมาก เต็มไปด้วยไส้ศึกและหนอนบ่อนไส้ แม้ว่าจะมีตำรวจระดับ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลคดีนี้แล้วก็ตาม

ภารกิจอัปยศ 3 ประการข้างต้น ไม่มีทางที่จะหลงเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือเพียงแค่นายทหารยศพันเอกคนหนึ่ง นอกเสียจากว่าจะมีใบสั่งจาก “ผู้ที่มีอำนาจ” ในปัจจุบันเท่านั้น

จากที่ปรากฏเป็นข่าวว่า พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ เป็นตำรวจที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่สามารถช่วยคดีลอบสังหารนายสนธิ ต้องถูกโยกย้ายให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีตามเดิม ก่อนที่จะต้องส่งกลับมาร่วมชุดคลี่คลายคดีลอบสังหารอีกครั้งจากนโยบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีส่วนทำให้มีการออกหมายจับผู้ต้องหา 2 รายในเวลาต่อมา

และนั่นอาจเป็นที่มาของข่าวหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่โยงใยเครือข่ายขบวนการลอบสังหารสั่งฆ่านายสนธิ ก็คือข้อมูล “การใช้โทรศัพท์มือถือ” !

ข่าวชิ้นนั้นได้รายงานว่า พ.อ.(ส.) ใช้ให้ ส.ต.อ.วรวุฒิ มุ่งสันติ สังกัด บช.ปส.ช่วยราชการดีเอสไอ (ผู้ต้องหาตามหมายจับ) เป็นคนไปซื้อโทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง เพื่อนำมาใช้ในงานนี้ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายของทีมสังหาร ซึ่งตำรวจสอบสวนพบว่า เบอร์โทร.หลักที่มีการโทร.เข้า-โทร.ออกกับทีมฆ่า ล้วนมาจากเบอร์ของ พ.อ.(ส) ทั้งสิ้น

ภายหลังจากการลอบสังหารนายสนธิล้มเหลว พ.อ.(ส) ได้โทรศัพท์รายงานผลต่อ “บิ๊กสีเขียว” ผู้มีอำนาจระดับสูงในรัฐบาลชุดนี้ จากนั้นได้โทร.ติดต่อนายตำรวจระดับสูง พ.ต.อ.(ท)ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นที่ 21 ด้วยกัน และมีความสัมพันธ์อันดีกับน้องสาวคนหนึ่งของผู้นำกลุ่มอำนาจเก่า รวมทั้งโทร.ทางไกลไปดูไบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งกบดานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำนวนหลายครั้ง

หากข่าวที่ปรากฏและข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความจริง ก็ต้องถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการติดต่อทั้ง “บิ๊กสีเขียวผู้มีอำนาจระดับสูงในรัฐบาลชุดนี้” แล้วยังมีการติดต่อ “กลุ่มอำนาจเก่า” ด้วย จึงทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามว่า ผู้มีอำนาจใหม่ในปัจจุบันกำลังจับมือกับอำนาจเก่าได้หรือไม่ อย่างไร!?

ในข้อเท็จจริง นักการเมืองและข้าราชการก็มีโอกาสที่จะรู้จักกันได้แม้ว่าจะอยู่การเมืองคนละขั้ว “ถ้าไม่นำเรื่องคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุลมาเกี่ยวข้องแล้ว” ก็จะเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ประเภทนี้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เคยมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงขนาดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยถึงขั้นไปเยี่ยมถึงบ้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์กันอย่างไรไม่ใครทราบได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งต้องดูแลหลายคดีซึ่งรวมถึงคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ เอสซีแอสเสท ก็มีกระแสข่าวถึงความ ใกล้ชิดสนิทสนมแนบแน่นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแม้ว่า พ.ต.อ.ทวี จะกลับเข้ามาเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยพรรคพลังประชาชนและทำให้คดีเอสซีแอสเสทต้องเงียบหายไป แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว พ.ต.อ.ทวี ก็ยังสามารถรักษาเก้าอี้ตัวเดิมได้อย่างเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จนปรากฏเป็นข่าวการร่วมกิจกรรมและการเจรจาพูดคุยกันหลายหน

นายธีระศักดิ์ สุวรรณยศ นักการเงินและนักธุรกิจ มือทำงานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเป็นทั้งบอร์ดการบินไทย บอร์ดองค์การโทรศัพท์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ก็มีกระแสข่าวเช่นเดียวกันว่า มีความใกล้ชิดสนิทแนบแน่นกับนางเยาวเรศ ชินวัตร

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสายสัมพันธ์ในตัวละครบางส่วนของรัฐบาลชุดเก่าและรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีความใกล้ชิดกันจนแยกไม่ออก จนกลายเป็นเรื่องที่นักการเมืองชอบพูดกันเสมอว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”!? หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร”!?

วันนี้ จึงเกิดคำถามกับประชาชนว่า หากสมมติว่านายสนธิ ลิ้มทองกุลถูกลอบสังหารสำเร็จจริงๆ ตามแผนที่วางเอาไว้แล้ว กลุ่มอำนาจใหม่และอำนาจเก่าที่วางแผนลอบสังหารครั้งนี้มีความฝัน หรือฝันหวานว่าจะเกิดอะไรขึ้น!?

คนเหล่านี้น่าที่จะอยากเห็นการกำจัดคนรู้เท่าทันอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล และน่าจะอยากให้ ASTV จอดับ เพื่อให้การตรวจสอบของภาคประชาชนอ่อนแอลง และเมื่อมีประชาชนไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือเป็นพันธมิตรฯ ปลอมออกมาชุมนุมหลังการลอบสังหารนายสนธิ ก็อาจจะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์จลาจลทำให้เกิดการวุ่นวาย และอ้างเหตุนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

ถ้าสมมติว่ามีการรัฐประหารจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ก็จะถือโอกาสกำจัดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกไป หลังจากเพิ่งจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงได้ในเวลานั้น และคิดฝันว่าจะสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐใหม่โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น

หรือเรียกให้เข้าใจให้ง่ายก็คือแผน “จับกุมแดงและกำจัดเหลือง”!

เช่นเดียวกันกับแผนตากสิน 2 ก่อนหน้านี้ ที่มีข่าวว่าผู้ที่ปล่อยออกมาก็เป็นฝ่ายทหารบางคนที่ต้องการสร้างสถานการณ์ตามแผนนั้น แล้วโยนความผิดให้กับคนเสื้อแดงให้กลายเป็นเหยื่อ เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารในท้ายที่สุด

ถ้าหากสมมติว่ามีการรัฐประหารสำเร็จ อย่าว่าแต่แรงจูงใจที่จะทำให้คดีตำรวจฆ่าประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือคดีการลอบสังหารนายสนธิที่จะเงียบหายไปอันเป็นประโยชน์ต่อ “อำนาจใหม่” เท่านั้น แม้แต่คดีของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ก็อาจจะมีโอกาสได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องอิสรภาพจากคดีความที่คั่งค้าง ทรัพย์สินที่ถูกอายัด รวมถึงการเจรจากับประเทศกัมพูชาในเรื่องปราสาทพระวิหารและผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งเกิดขึ้นได้หากมีการเจรจาตกลงผลประโยชน์กันได้สำเร็จระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่

ฉากหน้าดูเหมือนมีประโยชน์ที่ร่วมกันได้ทั้งกลุ่มอำนาจใหม่ และกลุ่มอำนาจเก่า ส่วนจะวางแผนเพื่อเจรจาตกลงกันจริงๆ ใครจะหักหลังใคร หรือใครหลอกใช้ใครเป็นเรื่องอนาคตที่ไม่สามารถที่จะพิสูจน์กันได้ในวันนี้!

เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ เราจึงได้กลิ่นอายของความผิดปกติในการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง และการทำลายการประชุมอาเซียน พร้อมๆ กับกระแสข่าวลือแพร่สะพัดว่ามีความพยายามที่จะรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จจึงเกิดการกลับลำในช่วง “สงกรานต์ดับแดง” ที่ผ่านมา แล้วจึงตามมาด้วยการวางแผนยิงถล่มเพื่อสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในระหว่างการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อหวังที่จะรัฐประหารให้ได้อีกครั้ง

แต่พระสยามเทวาธิราชมีจริง การลอบสังหารนายสนธิไม่สำเร็จ และการรัฐประหารก็ไม่เกิด คดีตำรวจฆ่าประชาชน 7 ตุลาคม 2551 ยังคงเดินหน้าต่อไป และคดีการลอบสังหารก็กลายเป็นปมร้อนขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งคดีที่กำลังไล่ล่า “กลุ่มอำนาจใหม่” หนักมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ

แรงต้านจาก “กลุ่มอำนาจใหม่” ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ทั้งการออกหมายเรียกผู้ที่มีศักยภาพทั้งหมดที่มีโอกาสจะขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ในอนาคตด้วยข้อหาการก่อการร้าย ตามมาด้วยความพยายามฉุดรั้งคดีตำรวจฆ่าประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ในทุกรูปแบบ ทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับลูกหลานคน ป.ป.ช. การคุกคามคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการเจรจานอกรอบในหลายระดับ รวมถึงการขัดขวางทุกรูปแบบในการสอบสวนและจับกุมผู้ต้องหาในคดีลอบสังหารนายสนธิ

ซึ่งวันนี้ แรงต้านจาก “กลุ่มอำนาจใหม่” กำลังจะอ่อนแรงลงด้วยการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งจากสื่อมวลชนและการยืนหยัดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

แต่ทว่า ยิ่งความเสี่ยงภัย “ในระบบ” ต่อกลุ่มอำนาจใหม่ใกล้ตัวขึ้นเท่าใด อันตรายต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล “นอกระบบ” ย่อมเสี่ยงมากขึ้นท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลและประชาชนเฝ้าระวังและไม่ประมาท “ขบวนการล้มกระดาน” ก็จะไม่สามารถที่จะทำสำเร็จได้

สำคัญที่สุดคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ควรจะปล่อยให้กลุ่มอันธพาลที่เป็นอันตรายต่อชีวิตความปลอดภัยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติให้มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป

เราไว้ใจนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้หรือเปล่า พิสูจน์ได้ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะใช้ความกล้าหาญในการขจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดินให้ออกไปโดยเร็วได้หรือไม่เท่านั้น!
กำลังโหลดความคิดเห็น