xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:เมล็ดพัน (ธุ์) ธนาการ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ขณะวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยและอาหารโลกขาดแคลนขนาด 1.02 พันล้านคนหิวโหยจากการนำธัญพืชมากกว่า 1 ใน 3 มาใช้เลี้ยงปศุสัตว์แทนคน และสัดส่วนที่เหลือจำนวนมากนำมาผลิตพลังงาน หากทว่าบรรษัทเกษตรกรรมระดับโลกต่างทำกำไรได้ถ้วนหน้าจากการจำหน่ายเคมีภัณฑ์และเมล็ดพันธุ์ ดังกำไรก่อนภาษีที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 120, 63, 40, 37 และ 19 จากปี 2007 ของ Monsanto, Dow, Bayer, BASF และ Syngenta ตามลำดับ ตามรายงานของ Grain เดือนเมษายน 2008

ใช่แค่เมล็ดพืชผักเพื่อการบริโภคหรือวัตถุดิบในสายพานอุตสาหกรรม (Grain) จะขาดแคลน เพราะแม้แต่เมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูก (Seed) ที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักของเกษตรกรก็ยังเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน ทั้งยังมีแนวโน้มรุนแรงกว่ามากจากสภาวะถูกล่ามร้อยโดยข้อสัญญาทาสในนามของเกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture) และเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์สูงสุดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยขณะกำไรในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทเกษตรกรรมข้ามชาติในไทยทะยาน แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่เพียงหนี้สินทับถมทวีคูณ หากหนทางเข้าถึงปัจจัยการผลิตยังตีบตันคับแคบขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรรายย่อยยากครอบครอง เพราะเริ่มต้นฤดูปลูกเมื่อไรก็ต้องกู้หนี้ยืมสินซื้อหาเมล็ดพันธุ์เมื่อนั้น ซ้ำร้ายยังตกเป็นเบี้ยล่างตลอดวงจรชีวิตพืชผักและตนเอง อันเนื่องมาจากบรรษัทเกษตรกรรมต่างๆ จะประกอบกิจการในลักษณะครบวงจร (Vertical Integration) มากขึ้น จึงมีอำนาจมากขึ้นนับแต่กำหนดราคาปัจจัยการผลิตจนถึงแทรกแซงตลาดไปโดยปริยาย

เกษตรกรรายย่อยจึงถูกผู้ประกอบการเกษตรกรรมรายใหญ่ในตลาดเอารัดเอาเปรียบเรื่อยมาด้วยเทคนิคหว่านล้อมชักจูงใจให้สินเชื่อทั้งเงินสดและปัจจัยผลิต รับซื้อเมล็ดพันธุ์คืน และตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเกษตรกรที่แปลงปลูกพืชและการประชุมเกษตรกร โดยการสนับสนุนของบางหน่วยงานรัฐ

การรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นเครือข่ายหรือองค์กร โดยเฉพาะสภาเกษตรกรตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (8) จึงพอจะต้านทานการกอบโกยกำไรในหยาดเหงื่อแรงงาน กระทั่งพลิกกลับมาสร้างสรรค์การแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการที่ต่างกันทั้งขนาด ระดับ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้ ในเวลาเดียวกันก็เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและครอบครองปัจจัยการผลิตด้วย

สิทธิเกษตรกร (Farmers’ Rights) ที่กำลังจะถูกปฏิบัติการจริงใน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรจะสร้างสรรค์ความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลกและพึ่งพิงตนเองและพึ่งพาซึ่งกันตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ ด้วยเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงสิทธิในการครอบครองเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ‘เมล็ดพันธุ์’ อย่างมั่นคง ตลอดจนมีทักษะบริหารจัดการด้านการผลิต ต้นทุน และการตลาด

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร จำต้องพัฒนาทักษะความรู้ทั้งเกษตรเชิงพาณิชย์และดำรงชีพ พร้อมกับเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและจัดตั้งรูปแบบต่างๆ ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนจากการเข้าถึงที่ดิน น้ำ และเมล็ดพันธุ์

เพราะเฉพาะข้าว ชาวนาไทยใช่ปรารถนาแค่ที่ดินและระบบชลประทานที่ดี หากยังต้องการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีราว 540,000 ตัน/ปีด้วย แต่กระนั้นปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนกลับผลิตได้เพียง 180,000 ตัน/ปี จนเกิดภาวะขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพหรือปลอมปนเพราะขาดระบบควบคุมคุณภาพและหวังกำไรจากความไม่เท่าทัน

กอปรกับชาวนาส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงผลดีของการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี หรือถึงคำนึงก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะถูกจองจำไว้ด้วยสัญญาบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่มาพร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ลวงหลอกคุณภาพเกินจริง การใช้ชาวนาเป็นหนูทดลองคุณภาพพันธุ์พืชที่ยังไม่นิ่ง และการบังคับซื้อพ่วง (Tie-in-sale) ซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงก็ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัทนั้นๆ ด้วย

ครั้นหวนหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ต่างก็สาบสูญ หรือเหลือไม่เพียงพอเพาะปลูก รวมถึงขาดการส่งต่อภูมิปัญญาบรรพบุรุษเพราะถูกปฏิวัติเขียวกลืนกินเกือบเกลี้ยงความหลากหลายทางพันธุกรรม

ไม่เหมือนอดีตที่ครัวเรือนเกษตรกรจะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี (Good Seed) ไว้ทำพันธุ์ ด้วยการปันผลผลิตส่วนหนึ่งไว้ในกระพ้อมเพื่อเก็บไว้เพาะปลูกฤดูกาลถัดไป หรือไม่ก็ใช้เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่ได้จากกระบวนการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์ที่เน้นองค์รวมและเกื้อหนุนระบบนิเวศ เช่น บวบก็ตากแดด 2-3 วัน ถั่ว ข้าวโพดก็แขวนผึ่งลมห้ามโดนแดด พริก มะเขือ มะระก็นำเมล็ดไปล้างแล้วผึ่งแดดจนแห้ง ขณะมะเขือเทศ มะละกอ แตงกวา ก็ขูดเมล็ดแล้วหมักไว้ 1-2 คืน ล้างน้ำ และตากแดดให้แห้งสนิท

ฉะนั้น การกระจายเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่ทั่วถึงต่อเนื่องจึงต้องกระทำควบคู่กับยกระดับสิทธิเกษตรกรอย่างเข้มข้น โดยใช้ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรเป็นคานงัดสำคัญในการเข้าถึงสิทธิเมล็ดพันธุ์ทั้งประเภทเมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation Seed) เมล็ดพันธุ์ขยาย (Stock Seed) และเมล็ดพันธุ์จำหน่าย (Certified Seed) ตามความเหมาะสมบนฐานคติว่าเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ เพื่อสุดท้ายทลายวงจรชีวิตเกษตรกรไทยไม่ให้ตกห้วงเหวหนี้สินจากการซื้อหาเมล็ดพันธุ์ที่ถูกผูกขาดและแสนแพง

กระบวนการคู่ขนาน (Dual Track Process) ที่ต้องกระทำก็คือสืบสานองค์ความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่สั่งสมในผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรกระแสรอง โดยอิงแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาตรา 85(1) ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ที่มุ่งอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมยุติธรรม ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่

ปฏิบัติการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์จักแข็งแกร่งในสังคมทุนนิยมได้ก็ต่อเมื่อปลดพันธนาการเมล็ดพันธุ์ด้วยเครื่องมือที่มีความเป็นสากลอย่างความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิชุมชน และสิทธิเกษตรกร

กระนั้น ความหวังเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิภาคก็ยังดำรงอยู่ เฉกเช่นเดียวกับสิทธิของบริษัทปรับปรุงพันธุ์ที่วิจัยพัฒนา (R & D) คุณภาพเมล็ดพันธุ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็ยังมี แต่ทั้งสองต้องไม่มากล้นจนกุมชะตาชีวิตเกษตรกรว่าจะหายนะหรือไม่ ไม่ใช่คิดจะขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์ก็ขึ้นจนเกษตรกรแบกรับต้นทุนไม่ไหว หรือใช้ไทยเป็นฐานผลิตเมล็ดพันธุ์ แล้วส่งคืนเจ้าของสิทธิบัตร ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ราคาแพงกลับเข้ามาขายเกษตรกรไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์จะจีรังมั่งคั่งอย่างไรได้ ถ้าไม่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยไทยให้เข้าถึงและครอบครองเมล็ดพันธุ์ได้มั่นคง เพราะไม่เพียงจะไม่มีเกษตรกรหน้าใหม่เข้ามาในระบบด้วยเห็นฉากตอนหนี้สินถั่งโถมบรรพบุรุษจนกลัวตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยของบรรษัทเกษตรกรรมเท่านั้น ทว่าระยะยาวประเทศชาติจะสูญเสียบุคลากรการเกษตรที่มีทักษะความรู้ด้วยไร้ผู้รับไม้ต่อ

ถึงสร้างทดแทน แต่ก็ไม่อาจพ้นเพื่อรองรับการเกษตรเชิงเดี่ยวและเกษตรพันธสัญญา เพราะถึงวันนั้นก็ไม่หลงเหลือความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชที่เกษตรกรรายย่อยไทยเข้าถึงได้แล้ว

ไม่เท่านั้น สิทธิเกษตรกรด้านเมล็ดพันธุ์ยังสัมพันธ์กับอธิปไตยอาหาร (Food Sovereignty) ที่ประดุจทางเลือกของความมั่นคงอาหาร (Food Security) อันเป็นปัจจัยกำหนดความอดอยากของประชากรโลกอีกต่อหนึ่ง ด้วยถึงที่สุดถ้าเกษตรกรไม่มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเพาะปลูก จะเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารจากที่ใด หรือกำไรในความหิวโหยหอมหวานเกินกว่าสายตาขอบคุณของผู้ขาดแคลน

การปลด ‘เมล็ดพัน (ธุ์) ธนาการ’ ด้วยการเสริมสร้างสิทธิเกษตรกรให้เข้าถึงและครอบครองเมล็ดพันธุ์อันเป็นสมบัติร่วมกันของมวลมนุษย์อย่างยั่งยืนมั่นคงจึงเป็นความหวังมลังเมลืองทั้งกับเกษตรกรและประชากรทั่วทั้งโลกที่จะหลุดพ้นหนี้สินและความหิวโหย.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น