xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ หนุนใช้ "ฮอร์โมนเทียม" เลี้ยงวัว เพิ่มน้ำนม-ลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมวัวนมในสหรัฐฯ นิยมให้ฮอร์โมน rBST เสริมในแม่วัวเพื่อกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมมากขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ล่าสุดมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลยืนยันว่า การเลี้ยงวัวด้วยวิธีดังกล่าวนั้นยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดีด้วย (ภาพจาก iStockphoto/Gordon Dixon)
นักวิจัยในสหรัฐฯ ใช้ฮอร์โมนเร่งแม่วัว ช่วยโตเร็ว-ให้น้ำนมมาก คำณวนน้ำนมแล้วใช้แม่วัวน้อยลงกว่าแสนตัว แถมยังอ้างช่วยลดปัญหาโลกร้อน เพราะเลี้ยงวัว 1 ล้านตัวด้วยฮอร์โมนที่พัฒนาขึ้น ช่วยลดปริมาณคาร์บอนในอากาศได้มากพอกับการนำรถยนต์ออกจากถนนถึง 4 แสนคัน

ฟาร์มปศุสัตว์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา มีการนำเอาฮอร์โมนอาร์บีเอสที (recombinant Bovine Somatotropin: rBST) หรืออาร์บีจีเอช (recombinant Bovine Growth Hormone: rBGH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ที่ได้จากเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม มาใช้ในการเลี้ยงวัวเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว เพื่อให้วัวผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

แต่ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักวิจัยได้ศึกษาการเลี้ยงวัวด้วยฮอร์โมนดังกล่าว พบว่ายังสามารถช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนสู่อากาศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จูดิธ แคปเปอร์ (Judith Capper) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) มลรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยว่า หากเลี้ยงวัวนมจำนวน 1 ล้านตัว โดยมีการให้ฮอร์โมนอาร์บีเอสทีร่วมกับการเลี้ยงด้วยอาหารตามปกติ จนกระทั่งผลิตน้ำนมได้ในปริมาณหนึ่ง ซึ่งพบว่าวิธีนี้ใช้แม่วัวน้อยลงถึง 157,000 ตัว

ขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดจำนวนอาหารที่ใช้เลี้ยงลงได้อย่างมากมายเช่นกัน ได้แก่ ข้าวโพดลดลง 491,000 ตัน, ถั่วเหลืองลดลง 158,000 ตัน และอาหารเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ปริมาณลดลงรวม 2,300,000 ตัน นั่นหมายความว่าจะสามารถลดพื้นที่เพราะปลูกลงได้ 219,000 เฮกตาร์ (2190 ตารางกิโลเมตร) และลดการชะหน้าดินลงได้ 2.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งนักวิจัยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ด้วยเช่นกัน

ไซน์เดลีมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2550 ที่ผ่านมา นักวิจัยรายงานว่าในสหรัฐฯ มีฟาร์มปศุสัตว์ที่เลี้ยงวัว ด้วยการให้เสริมฮอร์โมนอาร์บีเอสทีจำนวนทั้งสิ้น 9.2 ล้านตัว ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมลงได้ 824 ล้านกิโลกรัม, ลดมีเทนได้ 41 ล้านกิโลกรัม และลดปริมาณไนตรัสออกไซด์ (nitrous oxide) 96,000 กิโลกรัม

ทั้งนี้ การเลี้ยงวัวด้วยฮอร์โมนอาร์บีเอสทีทุกๆ 1 ล้านตัว ช่วยลดปริมาณคาร์บอนในอากาศได้เท่ากับปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น 300 ล้านต้น หรือเท่ากับลดจำนวนรถยนต์บนถนนไปได้ 400,000 คัน

อีกทั้ง นักวิจัยยังให้ข้อมูลเสริมว่า หากเลี้ยงวัวและให้ฮอร์โมนอาร์บีเอสทีเสริมด้วยในระดับอุตสาหกรรม นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตนมวัวได้มากแล้ว ยังเป็นการทำฟาร์มปศุสัตว์แบบยั่งยืน ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยลดมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ โดยเฉพาะลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำฮอร์โมนอาร์บีเอสทีไปใช้ในอุตสาหกรรมวัวนมทั่วทั้งสหรัฐฯ ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอเอฟพีระบุอีกว่า แม้จะมีการใช้ฮอร์โมนอาร์เอสบีทีกับฟาร์มปศุสัตว์ในสหรัฐฯ อย่างแพร่หลายมานานหลายปี ทว่าวิธีเดียวกันนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในยุโรป ที่กังวลว่าฮอร์โมนดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ ซึ่งหลายประเทศของสหภาพยุโรปถึงกับห้ามใช้กันเลยทีเดียว

สำหรับฮอร์โมนอาร์เอสบีทีนั้น เป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่ได้จากเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อให้ได้ฮอร์โมนที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในวัวทั่วไป ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวผลิตขึ้นโดยบริษัทมอนซานโต (Monsanto) สำหรับใช้เป็นฮอร์โมนเสริมให้กับวัว โดยฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้วัวสร้างน้ำนมมากขึ้นจากปกติ 10-15%.
ฮอร์โมน rBST ซึ่งได้จากเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวนม ขณะที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปห้ามใช้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของสัตว์ (ภาพจาก AFP/Getty Images/File/Scott Olson)
กำลังโหลดความคิดเห็น