xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:พ.ร.บ.สภาเกษตรกร : ชานชาลาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ขณะกระดูกสันหลังประเทศไทยคือเกษตรกรรม หากเกษตรกรไทยกลับคงยังยากจนข้นแค้นเสมอมานับแต่บรรพกาล ยิ่งห้วงปัจจุบันยิ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามปริมาณการซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตปริมาณมากๆ ตามกระบวนทัศน์การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ซึ่งพึ่งพาระบบชลประทาน เมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูง ยากำจัดแมลง และเคมีภัณฑ์

ถึงแม้นวัตกรรมพืชพันธุ์มหัศจรรย์ผลผลิตสูงจักคลี่คลายภาวะทุพภิกขภัยในช่วงทศวรรษ 1960-1970 จนประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกรอดพ้นภาวะทุพโภชนาการ ทว่าการปฏิวัติเขียวก็ทิ้งมรดกหายนะไว้มหาศาล ตั้งแต่ทลายวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมจากการเกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture) สลายความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Erosion) จากการเลิกปลูกพืชพันธุ์พื้นเมือง สุขภาพเสื่อมทรุดจากการบริโภคพืชผักปนเปื้อนสารพิษ จนถึงสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการละโมบโหมใช้

การกลับมาของข้าวยากหมากแพงหรือขาดแคลนอาหารที่รุนแรงเลวร้ายขนาดประชากร 1 ใน 6 ของโลกหรือราว 1.02 พันล้านคนอดอยากหิวโหยตามการประเมินของ FAO จึงถึงจุดทบทวนปฏิวัติเขียว ที่ต้องกระทำควบคู่กับคำนึงถึงภาวะโลกร้อน ขีดจำกัดทรัพยากรธรรมชาติ และจำนวนประชากรโลกที่ทวีถึง 7.67 พันล้านคนใน ค.ศ. 2020 เฉพาะทวีปแอฟริกาดินแดนแห่งความหิวโหยก็ราว 1.27 พันล้านคน ตามคาดการณ์ของ United Nations Population Division 2008

ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ถึงประชากรจะเพิ่มเป็น 71.44 ล้านคนในปีเดียวกันนั้น กระนั้นด้วยผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ สภาวะขาดแคลนอาหารอาจเกิดขึ้นได้ยากมากกว่าข้าวยากหมากแพง

แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขคือนับต่อจากนี้รัฐบาลต้องบริหารจัดการภาคการเกษตรอย่างชาญฉลาดด้วยการหาจุดสมดุลระหว่างพืชพลังงานกับพืชอาหาร การทุ่มงบประมาณการเกษตรมากขึ้น การขจัดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และที่สำคัญสร้างเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภาคการเกษตรเพื่อรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ เทรนด์รักษ์สุขภาพ และความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย

ภาคเกษตรกรรมไทยจักยืนหยัดบนโครงสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อปฏิวัติระบบเกษตรกรรมปัจจุบันให้ได้เสียก่อน เพื่อไม่ให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตกใต้อาณัติอิทธิพลเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) ที่ทิ้งมรดกหนี้สินรุ่นต่อรุ่นจนเริ่มต้นใหม่ในวิถีถูกต้องยั่งยืนไม่ได้แม้มีต้นแบบที่ดี

เพราะลำพังการมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ถึงทุ่มเททำเกษตรอินทรีย์จนได้ผลผลิตสูงเพียงใด หากไร้เสียซึ่งการขานรับระดับนโยบายของรัฐบาลเสียแล้ว การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเศรษฐกิจการเกษตรภาพรวมย่อมยากเป็นจริง ดังนั้นรัฐควรกำหนดนโยบาย วางแผนสนับสนุน สร้างเครือข่ายสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงระบบการศึกษา และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างกัน

หนึ่งทางออกคือภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่เป็นนวัตกรรม (Innovation) สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพราะสามารถผสานวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างลงตัวจนนำความเปลี่ยนแปลงทางบวกมาสู่ประเทศชาติและตัวเกษตรกรได้ ไม่เหมือนกับเกษตรกรรมอุตสาหกรรมที่ขณะทำกำไรให้บรรษัทเกษตรกรรมงดงาม เกษตรกรรายย่อยกลับย่อยยับขาดทุน

ส่วนกลไกเปิดกว้างประตูเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ภาคการเกษตรนอกจากคำมั่นสัญญาทางการเมืองประเภทกำหนดเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นครัวโลกสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนถึงโครงการครีเอทีฟ อีโคโนมี พัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืนยังน่าจับตา

ทว่าวาดหวังได้จริงๆ น่าจะเป็นการอนุวัติการ ‘พ.ร.บ.สภาเกษตรกร’ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (8) ที่มุ่งคุ้มครองผลผลิตและการตลาดของเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปสภาเกษตรกร เพราะสามารถพิทักษ์สิทธิเกษตรกร (Farmers’ Rights) อย่างเป็นรูปธรรมทั้งด้านการเข้าถึงและครอบครองปัจจัยการผลิต การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะ การได้รับผลตอบแทนเพียงพอเป็นธรรม รวมถึงการรักษาฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน

ตลอดจน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฉบับประชาชนยังเปิดกว้างแก่เกษตรกรทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมคัดเลือกตัวแทนโดยตรง ส่วนสภาเกษตรกรก็มีอำนาจหน้าที่จัดกิจกรรมพัฒนาสิทธิเกษตรกรด้วยการทำแผนแม่บทและนโยบายสาธารณะเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานใดๆ รวมทั้งยังมีกองทุนสำหรับบริหารงานอย่างอิสระด้วย

พ.ร.บ.สภาเกษตรกรจึงเป็นกลไกเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สำคัญสุด เพราะเป็นฐานสำหรับรวมกลุ่มเกษตรกรในระดับพื้นที่และประเภทผลผลิตต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่จะผนึกทักษะความสามารถของบุคคลเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นลงตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็รังสรรค์เศรษฐกิจมิติอื่นๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม จากกระบวนการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value added)

เพราะเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ก็ราคาในตลาดโลกสูงกว่าผลผลิตจากสายพานเกษตรกรรมสมัยใหม่มาก ยิ่งถ้าผ่านกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) จนกระทั่งสร้างคุณค่าและความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Value & Satisfaction) ได้ ท้ายสุดธุรกิจการเกษตรไทยก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) โดยที่เกษตรกรรายย่อยไม่ต้องเสียเปรียบเหมือนก่อน เพราะไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพื่อขาดทุนต่อเนื่อง

ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ด้านเศรษฐกิจการเกษตรจนตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเวทีโลกได้เหนือประเทศคู่แข่งขันจึงเรียกร้องรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เชื่อมโยงของดีของไทยเข้ากับโอกาสทางธุรกิจ เท่าๆ กับปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเหมือนกับเกาหลีใต้ที่ลงทุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture Industry) จนเกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่นำรายได้มหาศาลเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ดนตรี ละคร และภาพยนตร์ หรือนิวซีแลนด์ที่ร้อยละ 65 ของนักท่องเที่ยวมาเพราะประทับใจภาพยนตร์ The Lord of the Rings

หากแต่ไทยจะมั่งคั่งยั่งยืนกว่าเพราะ ‘ยา-อาหาร’ เป็นสินค้าปัจจัย 4 ฉะนั้นครัวโลกที่ใช้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ถ้าบริหารดีๆ ก็จะมีเม็ดเงินเข้าประเทศมากมายจากการท่องเที่ยวและส่งออก

ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมที่ผ่านการเพิ่มมูลค่ามาจึงเป็นชานชาลา (Platform) ของกระบวนการสร้างคุณค่าที่ประเทศไทยไม่อาจพลาดถ้าปรารถนาเป็นทั้งผู้นำตลาดสินค้าเกษตรและผู้กตัญญูรู้คุณกระดูกสันหลังของชาติ ไม่ใช่สักแต่ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวตามแนวคิดปฏิวัติเขียวมากๆ เพื่อส่งออกในรูปวัตถุดิบ ที่ถึงจำนวนมโหฬารเพียงใดก็ได้เม็ดเงินน้อยนักเมื่อเทียบกับแปรรูปแล้ว และนับวันก็จะถูกสินค้าเกษตรคู่แข่งที่ต้นทุนต่ำกว่า แต่คุณภาพใกล้เคียงกันแย่งส่วนแบ่งตลาด

ความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้ในเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อต่อยอดข้าวไทยให้แข่งขันกับต่างชาติได้จึงต้องวิจัยและพัฒนา (R&D) ออกแบบ (Design) อย่างยึดโยงกับทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาผ่านเรื่องเล่าท้องถิ่นที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพมากขึ้น ควบคู่กับขจัดข้อจำกัด (Constraint) ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะที่คนไทยไม่ภาคภูมิใจในการบริโภคข้าวไทย ไม่กรุ่นกลิ่นธรรมชาติข้าวหอมมะลิเท่ากับกลิ่นสังเคราะห์แฮมเบอร์เกอร์ อย่าว่าแต่เวลาเปิบข้าวทุกคราวคำจะนึกถึงหยาดเหงื่อเขียวคาวชาวไร่ชาวนาข้างหลังตามกาพย์ยานี 11 ของจิตร ภูมิศักดิ์เลย

เกษตรอินทรีย์ที่เป็นส่วนผสมสินทรัพย์วัฒนธรรม ความสร้างสรรค์ เศรษฐกิจต้นทุนต่ำกำไรสูง และเทคโนโลยีพื้นฐานจึงสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจการเกษตรของไทยได้ในวันวิกฤตอาหารโลกและทุนนิยมล่มสลาย หากไม่พลาดรถไฟสายนี้เสียก่อนเพราะมัวเมาแต่โดยสารสายปฏิวัติเขียวขื่นคาว

การหยุดยืนถูกที่ถูกเวลา ณ ‘ชานชาลาเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรภาคประชาชนจึงนับเป็นห้วงโอกาสเดียวที่ประเทศไทยจะจับรถไฟสายเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีสถานีปลายทางเป็นการปฏิวัติเขียวที่เขียวกว่าเดิมได้-ไม่ผิดหรือตกขบวนอีกต่อไป

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น