xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาเลือกก้าวเดินแค่สั้นๆ ใน‘ซัมมิตมอสโก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สงครามเย็นกำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ทว่าพลังขรึมขลังและลี้ลับที่แวดล้อมการหารือระดับสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-อเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (6-7 ก.ค.)ยังคงลอยอ้อยอิ่งอยู่ในสายลมมิรู้หาย

เห็นได้ชัดเจนว่า ภายหลังการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเวเดฟ ฝ่ายรัสเซียนั้นแทบจะปล่อยให้พวกมือดีของทำเนียบขาวไปตีฆ้องร้องป่าวกันเองในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชน เพื่อมุ่งแพร่กระจายความรู้สึกประทับใจที่ว่าการประชุมสุดยอดคราวนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เด่นชัด ขณะที่รัสเซียนั้นใช้ท่าทีเงียบเฉยไม่ค่อยพูดอะไรออกมา

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความขรึมขลังและลี้ลับเกี่ยวกระหวัดการประชุมซัมมิตมอสโกคราวนี้ ก็คือ ภาพลักษณ์ส่วนตัวอันดึงดูดใจของโอบามา และเสน่ห์ชวนหลงใหลจากท่าทางและคำพูดของเขา

แต่ฝ่ายรัสเซียก็รู้สึกว่า ยังมีปริศนาเกี่ยวกับตัวโอบามา “... เขาเป็นผู้รักประชาธิปไตยจริงๆ และเป็นบุคคลผู้รักษาคำพูด หรือว่าเป็นเพียงนักพูดจอมกะล่อน เขาให้คำมั่นสัญญาในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่จะกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่อง (reset) ปรับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซียเสียใหม่ ...” หนังสือพิมพ์อิซเวสเตียตั้งคำถาม ในวันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้จะมาถึงกรุงมอสโก

การที่ฝ่ายรัสเซียจะมีความเคลือบแคลงสงสัยนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อย่างแรกสุด โอบามาได้รวบรวมทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศมาดูแลเรื่องรัสเซีย โดยที่ประกอบด้วยตัวบุคคลหลายๆ คน ซึ่งทราบกันดีว่ามี “แนวทางแข็งกร้าว” ต่อรัสเซีย

อย่างที่สอง ดังที่อิซเวสเตียได้ชี้เอาไว้แล้ว คำพูด, สำนวนโวหาร, และกิริยามารยาทอันดีของโอบามานั้นมันก็ใช้ได้อยู่หรอก ทว่า “คณะรัฐบาลสหรัฐฯยังต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนไปจริงๆ เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรสักหยดหนึ่งถูกเทออกมาจาก ‘ขวดแห่งคำมั่นสัญญา’ เข้าไปใน ‘แก้วแห่งความสัมพันธ์ที่มีการกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่’เอาเลย”

อย่างที่สาม สืบเนื่องจากอย่างที่สอง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การพูดถึง“การกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่” คือการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงในโยบาย หรือว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนถ้อยคำโวหารเท่านั้น ความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกากำลังอยู่ในสภาพที่หล่นฮวบลงมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี ส่วนที่เป็นด้านดีก็คือมีสัญญาณหลายๆ ประการว่าคณะรัฐบาลโอบามากำลังดำเนินการขบคิดทบทวนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯในโลกทุกวันนี้ ทว่าส่วนที่เป็นด้านยากลำบากก็คือ เราไม่สามารถที่จะขบคิดเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียแบบเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าๆ ได้ เหตุผลก็คือ มีอะไรเกิดขึ้นมามากเกินพอเสียแล้ว เป็นต้นว่า “การปฏิวัติสี”ที่อุปถัมภ์โดยสหรัฐฯในจอร์เจียและยูเครน, การที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) ยังคงขยายตัวเข้าไปในดินแดนที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต, การแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลอย่างไม่ลดราวาศอกในดินแดนยูเรเชีย, แผนการของสหรัฐฯที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปกลาง, ความขัดแย้งในแถบคอเคซัส ฯลฯ

ความเห็นอย่างเป็นฉันทามติทั้งทางฝ่ายอเมริกาและฝ่ายรัสเซียก็คือ ซัมมิตคราวนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดการผ่าทางตันอันน่าตื่นเต้นใดๆ ได้หรอก แล้วสิ่งที่ออกมาจริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น มันไม่ได้มีผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งใหญ่ ทว่าก็ดูเหมือนมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ใน 2 ประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย

ประเด็นแรกคือ มีความคืบหน้าไปหลายอย่างในเรื่องการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ มันยังเป็นก้าวเล็กๆ และไม่ใช่ก้าวที่น่าเชื่อมั่นอะไรมากด้วย แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างความคืบหน้าดังกล่าวขึ้นมาได้ สำหรับประเด็นที่สองคือการทำข้อตกลงกันในเรื่องอัฟกานิสถาน เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันไม่ได้ถึงขั้นที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย หรือจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางโคจรของสงครามอัฟกานิสถาน กระนั้นมันก็เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย

มอสโกมองว่าการร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถาน คือส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความพยายามใดๆ ที่จะกดปุ่มตั้งเครื่องปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วยังคงมีความชะงักงันในประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่จำนวนมากทีเดียว โอบามาไม่ได้มีท่าทีที่จะประนีประนอมในประเด็นเหล่านี้ใดๆ เลย และในแง่นี้เขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนๆ ในยุคหลังสงครามเย็น

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดคราวนี้สามารถสรุปได้ว่า วอชิงตันกับมอสโกยังคงมีความคิดเห็นกันไปคนละทางทั้งในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, ประเด็นร้อนรุ่มใกล้ระเบิดว่าด้วยจอร์เจีย, และอิทธิพลของรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต
(เก็บความตัดทอนจากเรื่อง Obama takes small steps in Moscow
เขียนโดย M K Bhadrakumar อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียที่เคยประจำอยู่ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี)
กำลังโหลดความคิดเห็น