xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่ได้ต้องการให้อิหร่านไร้เสถียรภาพ

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China doesn’t want Iran unstable
By Jian Junbo
30/06/2009

ตลอดช่วงระยะที่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในอิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ ปักกิ่งแทบไม่ได้พูดอะไรและยึดมั่นอยู่กับแนวทางไม่แทรกแซงกิจการภายในคนอื่น ที่ได้ใช้มานมนานแล้วของตน การเกิดกลียุคทางการเมืองในตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่าน ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศจีนซึ่งกระหายน้ำมัน ดังนั้น เมื่อมองในแง่ของผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว ย่อมเป็นการดีกว่าที่จีนจะสงบปากสงบคำเอาไว้

เซี่ยงไฮ้– รัฐบาลจีนใช้ท่าทีสงบปากสงบคำเรื่อยมา ในเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในอิหร่านภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอันก่อให้เกิดความขัดแย้งกันมากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน โดยหลีกเลี่ยงไม่แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการใดๆ เลย

ท่าทีที่ดูเหมือนกับเมินเฉยรักษาความเป็นกลางลูกเดียวของปักกิ่ง ทำให้เกิดมีการคาดเดาและการกล่าวหาขึ้นมา นักเฝ้ามองจีนที่อยู่ต่างแดนบางรายกล่าวว่า ปักกิ่งกำลังระมัดระวังตัวในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน เนื่องจากหวั่นเกรงว่ามันอาจจะส่งผลด้านกลับ ต่อทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศของจีนเอง อีกหลายๆ รายก็แสดงความคิดเห็นว่า ท่าทีเช่นนี้ของจีนเป็นการสะท้อนภาวะอิหลักอิเหลื่อ เพราะไม่ว่าปักกิ่งจะพูดอะไรออกมาก็จะไม่ดีต่อผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเองทั้งขึ้นทั้งล่อง ทว่าเมื่อใดที่จีนคิดว่าการเข้าไปแทรกแซงจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติของตนแล้ว จีนก็ไม่มีความลังเลเลยที่จะทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ทัศนะต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ พลาดจุดสำคัญไปไกลและก็ไม่ถูกต้องด้วย ประการแรกเลย จีนไม่เคยมีความตั้งใจที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการของอิหร่าน ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีอะไรที่จะต้องพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของที่นั่น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับปักกิ่งที่จะยังคงไม่พูดไม่จาอะไรออกมาต่อไป ทัศนะต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าอกเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของจีนอีกด้วย

จีนนั้นเป็นประเทศเอกราชประเทศหนึ่ง ไม่ได้เป็นรัฐบาลโลกและก็ไม่ได้เป็นสหประชาชาติ รวมทั้งไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเป็นตำรวจโลก ถึงแม้อำนาจบารมีทางด้านเศรษฐกิจของจีนจะกำลังเติบโตขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตามที ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จีนจะงดเว้นไม่พูดแสดงความคิดเห็นในเรื่องกิจการภายในของประเทศเอกราชอีกประเทศหนึ่ง

การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง คือหลักฐานพื้นฐานประการหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศของจีน เมื่อมองดูความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว การไม่แทรกแซงถือเป็นหลักการหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งปรากฏขึ้นมาในยุโรปตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 และ 18 จากนั้นก็ได้รับการรับรองจากสันนิบาตชาติในปี 1919 และในที่สุดก็ได้รับการรับรองอีกครั้งและยืนยันอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นโดยสหประชาชาติในปี 1945

ในฐานะที่เป็นรัฐชาติกำลังพัฒนาซึ่งอยู่บนเส้นทางมุ่งสู่ความทันสมัย สาธารณรัฐประชาชนจีนยึดมั่นชื่นชมในหลักการนี้ ประธานเหมาเจ๋อตงผู้ล่วงลับได้เคยเตือนพวกเจ้าหน้าที่ของเขาและบรรดาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ว่า “เราจะต้องไม่แทรกแซงเข้าไปในกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ไปตลอดกาล แต่จะอยู่ร่วมกับพวกเขาด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน”

ณ การประชุมเอเชีย-แอฟริกา ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1955 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนในตอนนั้น ได้ประกาศ “หลักการ 5 ประการ” [1] ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุว่า “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” หลักการ 5 ประการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ ในเวลาต่อมาก็ได้รับการรับรองจากอินเดียและพม่า และต่อมาก็จากพวกประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ถึงแม้แนวความคิดเรื่อง “หมู่บ้านโลก” (global village) กำลังกลายเป็นหัวข้อร้อนของการอภิปรายถกเถียงกันในโลกของเรา ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่ง แต่กระนั้นจีนก็ยังคงยึดมั่นว่า การไม่แทรกแซงเป็นหลักการด้านการทูตที่เป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตนอยู่นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ปฏิญญาปักกิ่งปี 2006 ของเวทีการหารือว่าด้วยความร่วมมือระหว่างจีน-แอฟริกา มีข้อความระบุว่า “ไม่มีประเทศใดหรือกลุ่มประเทศใด มีสิทธิที่จะบังคับใช้เจตนารมณ์ของตนกับประเทศอื่น เพื่อที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างอย่างไรก็ตามที หรือเพื่อที่จะบังคับใช้มาตรการต่างๆ ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ตามอำเภอใจของตนฝ่ายเดียว”

โดยยึดมั่นอยู่กับหลักการนี้ จีนจึงคัดค้านประเทศใดก็ตามที่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้รวมทั้งพร้อมจะคัดค้านจีนเองด้วยหากกระทำเช่นนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่าน ตลอดจนการถกเถียงกันเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนั้น ย่อมเป็นกิจการภายในของอิหร่านซึ่งควรที่จะปล่อยให้ชาวอิหร่านจัดการกันเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ควรที่จะต้องตอกย้ำว่า การที่ประเทศจีนสงบปากสงบคำในเรื่องที่เป็นกิจการของอิหร่านนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจีนกำลังละเลยความรับผิดชอบทางด้านระหว่างประเทศของตน เพียงแต่ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่านนั้นไม่ได้เป็นกิจการระหว่างประเทศเลย ตรงกันข้าม การสงบปากสงบคำคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า จีนแสดงความรับผิดชอบระหว่างประเทศ ด้วยการยึดมั่นอยู่กับหลักการไม่แทรกแซง

บางคนกล่าวว่า “การปฏิวัติสีเขียว” กำลังเกิดขึ้นในอิหร่าน ดังนั้นจีนจึงหลีกเลี่ยงไม่แสดงความคิดเห็นเพราะกลัวผลสะท้อนด้านกลับ ในทางปฏิบัติแล้ว จีนแทบไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องกิจการภายในของประเทศอื่นๆ เลย ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน หรือมีความสำคัญต่อจีนแค่ไหน ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่มีการเลือกตั้งผู้นำแห่งชาติในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของจีน เป็นต้นว่า เนปาล หรือในพวกประเทศเอเชียกลาง จีนก็ล้วนแต่ใช้ท่าทีสงบปากสงบคำ

นอกจากนั้น รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติสี” ในยูเครน และจอร์เจีย

สรุปรวมความแล้ว การแทรกแซงประเทศอื่นนั้นทั้งไม่ใช่หลักการและก็ไม่ใช่ประเพณีทางการทูตของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศตามปกติ ไม่สามารถที่จะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซง ในแง่มุมนี้แล้ว มีบางประเทศดูเหมือนกำลังทำตัวเลือกปฏิบัติใช้สองมาตรฐาน

ความสัมพันธ์ทวิภาคีตามปกติที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกัน ย่อมไม่ใช่การแทรกแซง ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯมีทหารจำนวนหนึ่งประจำอยู่ในญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหรัฐฯ “กำลังแทรกแซง” กิจการของญี่ปุ่น แล้วทำไมเมื่อตอนที่จีนขายอาวุธตามแบบแผนที่มิใช่นิวเคลียร์ให้แก่ศรีลังกาภายใต้กรอบโครงของสหประชาชาติ จึงกลับมีชาวตะวันตกจำนวนมากพูดว่าจีนกำลังแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น?

เป็นการดีกว่าสำหรับจีนที่จะเก็บปากเก็บคำเอาไว้ในเรื่องกิจการภายในของอิหร่าน เพื่อที่จะไม่ทำให้สถานการณ์ที่นั่นยิ่งยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก จีนนั้นไม่ได้ต้องการเห็นประเทศตะวันออกกลางอีกประเทศหนึ่งต้องตกถลำลงสู่ความไม่สงบ สืบเนื่องจากการที่จีนอาจจะเข้าไปแทรกแซงหรอก

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแทรกแซงจากพวกประเทศภายนอกจะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางยิ่งยุ่งยากซับซ้อนและคาดเดาทำนายไม่ได้หนักขึ้น ดังที่กำลังถูกกล่าวหากันว่าเกิดขึ้นในอิหร่านโดยที่พวกปฏิรูปในประเทศนั้นได้รับการสนับสนุนจากเหล่ามหาอำนาจภายนอก สภาพเช่นนี้เป็นการหว่านความขัดแย้งในสังคมให้เพิ่มมากขึ้นอีก ตะวันออกกลางที่ไร้เสถียรภาพและอิหร่านที่ไร้เสถียรภาพย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับจีนเลย เนื่องจากจีนต้องนำเข้าน้ำมันจำนวนมากจากพื้นที่เหล่านี้ เมื่อมองในแง่มุมนี้แล้ว จึงเป็นการดีกว่าที่จีนจะสงบปากสงบคำเอาไว้

นอกจากนั้นแล้ว มันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลยที่จีนจะต้องเลือกระหว่าง ประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ผู้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง หรือ มีร์ ฮอนเซน มูซาวี ผู้สมัครที่ปราชัยในการเลือกตั้ง เนื่องจากเมื่อดูตามหลักนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพวกเขาแล้ว เป้าหมายด้านนโยบายการต่างประเทศของทั้งคู่ก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ

แน่นอนทีเดียวว่าพวกเขาต้องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทว่าความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่านโยบายของพวกเขาต่อประเทศจีนจะมีความแตกต่างอะไรมากมายเลย มูซาวีได้รับการประทับตราว่าเป็นนักปฏิรูป แต่ในทางเป็นจริงแล้ว เขาก็ไม่ได้เป็นนักปฏิวัติหรอก สามารถที่จะพูดได้ว่าไม่มีประธานาธิบดีใหม่คนไหนเลยที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน-จีนกันอย่างรุนแรง

แม้กระทั่งว่าถ้าหากประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน-จีนซึ่งปัจจุบันดีอยู่แล้ว ประเทศจีนก็จะเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ และพยายามรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยผ่านวิถีทางการทูต ไม่ใช่ด้วยการแทรกแซง

หมายเหตุ
[1] หลักการ 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ประกอบด้วย
**ต่างฝ่ายต่างเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน
**ต่างฝ่ายต่างไม่ก้าวร้าวรุกรานกัน
**ต่างฝ่ายต่างไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
**เสมอภาคและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
**อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ดร.เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น