xs
xsm
sm
md
lg

จีนขอบคุณแต่ไม่ยอมรับแนวคิด “จี-2”

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China says ‘no thanks’ to G-2
By Jian Junbo
28/05/2009

แม้จะถูกยกยอจนตัวลอยด้วยแนวความคิดเช่นนี้ แต่จีนก็ไม่ได้ปรารถนาที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่ม จี-2 กับสหรัฐฯ เพื่อแสดงบทบาทในการครอบงำกิจการระหว่างประเทศทั้งหลายทั้งปวง แนวความคิดเรื่อง 2 ประเทศที่เป็นผู้นำโลกนี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับการตั้งตัวเป็นเจ้าโลกนั่นเอง มันเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับหลักการที่เป็นแกนกลางด้านนโยบายการต่างประเทศของจีน ซึ่งก็คือความต้องการะเบียบโลกแบบที่มีหลายๆ ขั้ว นอกจากนั้นฐานะการเป็นสมาชิกรายหนึ่งในจี-2 ก็ยังเกินกว่าศักยภาพและความมุ่งมาตรปรารถนาในปัจจุบันของจีนอีกด้วย

เซี่ยงไฮ้ – ในการประชุมระดับผู้นำจีน-สหภาพยุโรป(อียู) ที่กรุงปราก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ของจีนได้ปฏิเสธแนวความคิดว่าด้วยการมี 2 ประเทศรวมกลุ่มกันเป็นผู้นำโลก (หรือ จี-2) ซึ่งจะประกอบด้วยจีนและสหรัฐฯ โดยเขากล่าวว่า “มันไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิง และก็เป็นเรื่องผิดด้วยที่จะพูดถึงการให้มี 2 ประเทศเป็นผู้ครอบงำกิจการระหว่างประเทศทั้งหลายทั้งปวง”

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องจี-2 ถึงแม้เวินและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ตลอดจนสถาบันศึกษาวิจัยของจีนอีกจำนวนหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อกังขาถึงความสามารถในเชิงนำไปปฏิบัติ ของพวกแนวคิดทำนองนี้ในอดีตซึ่งเรียกกันว่า “จีนเมริกา” (Chimerica)

แนวความคิดเรื่อง จี-2 นั้นเริ่มเสนอขึ้นมาโดยแวดวงนักวิชาการสหรัฐฯในปี 2006 แต่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งโดย สบิกนิว เบรซินสกี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูง อีกทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ เบรซินสกีพูดเรื่องนี้ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในโอกาสที่ประเทศทั้งสองเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ทำนองเดียวกับ “จีนเมริกา” ที่จะจัดสหรัฐฯกับจีนให้อยู่ตรงส่วนหน้าสุดของการดำเนินกิจการระหว่างประเทศทั้งหลายทั้งปวง แนวความคิดเรื่องการรวมเป็นกลุ่มจี-2 ก็ได้รับความสนใจกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเบรซินสกีเคยเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบารัค โอบามาในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มจี-20 ในกรุงลอนดอนเดือนที่แล้ว ทั้งสื่อมวลชนและแวดวงนักวิชาการฝ่ายตะวันตกก็มีการเผยแพร่แนวความคิดเรื่องกลุ่มจี-2นี้กันอีก หลังจากนั้นอีกหลายๆ สัปดาห์ ในช่วงก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำจีน-อียูครั้งที่ 11 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในเดือนนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ เดวิด มิลลิแบนด์ ของอังกฤษ ก็ได้พูดทำนายว่า ในระยะไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ไป จีนจะกลายเป็นหนึ่งในสอง “มหาอำนาจที่มีบทบาทอิทธิพลอย่างแท้จริง”

เขากล่าวว่า “จีนกำลังกลายเป็นมหาอำนาจที่ไม่อาจขาดได้ในศตวรรษที่ 21 ทำนองเดียวกับที่ [อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ] แมเดลีน อัลไบรต์ เคยพูดว่า สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจที่ไม่อาจขาดได้ในช่วงสิ้นศตวรรษที่แล้ว” เขายังเสนอแนะด้วยว่ามันขึ้นอยู่กับยุโรปเอง ถ้าหากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง จี-2 ให้กลายเป็น จี-3

ขณะที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางนั้น แนวความคิดเรื่องกลุ่มจี-2 กลับมิได้มีการให้คำจำกัดความกันอย่างชัดเจน โดยตามคำพูดของเบรซินสกี กลุ่มจี-2เป็นการบรรยายถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับมิลลิแบนด์ เขามองว่ากลุ่มจี-2คือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลเกินไปนัก

นอกจากนั้นเรื่องโครงสร้างของกลุ่มจี-2ที่เสนอกันออกมา ก็ยังไม่มีความแน่นอนเช่นกัน สิ่งที่พูดจากันเกี่ยวกับจี-2ดูเหมือนจะส่อแสดงนัยว่า 2 ประเทศที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มนี้จะมีทั้งความแข็งแกร่ง, ศักยภาพ, และเจตนารมณ์ ที่จะเป็นผู้กำหนดวาระต่างๆ ให้แก่กิจการระหว่างประเทศทั้งหลาย หากเป็นดังที่พูดกันนี้ก็สามารถโต้แย้งได้ว่า การที่มีเพียง 2 ประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแสดงบทบาทดังกล่าว ย่อมคล้ายๆ กับการวางตัวเป็นเจ้าโลกนั่นเอง

จีนนั้นทั้งไม่มีศักยภาพและก็ไม่มีความปรารถนาที่จะกลายสมาชิกรายหนึ่งในกลุ่มจี-2 เป็นความจริงที่จีนเวลานี้กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก, เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ซึ่งก็คือสหรัฐฯ, และก็เป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งจีนก็แลดูเหมือนเป็นมหาอำนาจใหญ่จริงๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่อย่างมหาศาล และช่วงห่างทั้งทางด้านความมั่งคั่งและด้านการพัฒนา จีนก็สามารถที่จะมองได้เช่นกันว่าเป็นประเทศยากจนและด้อยพัฒนา โดยที่จีดีพีถัวเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร ยังอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลกจากการจัดอันดับของธนาคารโลกในปีที่แล้ว จีนยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สหรัฐฯยังคงก้าวหน้าไปไกลกว่ามากในแทบทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ และในด้านอำนาจอ่อน (soft power) ตลอดจนความเข้มแข็งทางทหาร ในขั้นตอนปัจจุบันนี้ตลอดจนในอนาคตอันไม่ไกลเกินไปนัก จีนยังไม่มีทางที่จะเทียบกับสหรัฐฯในแง่ของความแข็งแกร่งโดยรวม

ความรับผิดชอบของสมาชิกในกลุ่มจี-2ที่จะต้องร่วมกันจัดรูปเศรษฐกิจโลกและกิจการระหว่างประเทศนั้น เกินเลยความสามารถและความมุ่งมาตรปรารถนาของจีนไปมาก เช่นเดียวกับในระดับของบุคคล ในระดับของประเทศแล้วก็ย่อมไม่ใช่เรื่องฉลาดเลยที่จะไปผูกพันตนเองเข้ากับอะไรที่เกินเลยความสามารถของตน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเมื่อพวกนักวิจารณ์ชาวตะวันตกถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องจี-2 จึงช่วยไม่ได้ที่จีนจะต้องเกิดความรู้สึกระแวงสงสัยเจตนาของพวกเขา นักวิชาการชาวจีนจำนวนมากหวาดกลัวว่าการเข้าไปอยู่ในกรอบของจี-2 ก็อาจทำให้จีนหลงติดอยู่ในโครงสร้างที่สหรัฐฯสร้างขึ้น อีกทั้งจีนจะถูกเรียกร้องให้ต้องมีคุณูปการต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกเกินกว่าที่จะให้ไหว

การเข้าไปอยู่ในกลุ่มจี-2 ยังเป็นการส่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่จีนจะต้องดำเนินการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงด้านธรรมาภิบาลภายในประเทศ ในฐานะที่เป็นสมาชิกรายหนึ่งในกลุ่มจี-2 จีนก็จำเป็นจะต้องเป็นผู้นำทั้งในด้านกิจการต่างประเทศและกิจการภายในประเทศ และนี่ก็ทำให้เกิดความหวั่นเกรงเพิ่มขึ้นว่า ฝ่ายตะวันตกจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน

การรวมกลุ่มเช่นนี้ยังเป็นการขัดแย้งกับหลักการต่างๆ ที่เป็นแกนกลางของนโยบายการต่างประเทศของจีน เป็นต้นว่า ลัทธิพหุภาคีนิยม และความปรารถนาที่จะเห็นระเบียบโลกที่มีหลายๆ ขั้ว ตัวอย่างเช่น เวินได้เน้นย้ำในการประชุมระดับผู้นำจีน-อียูที่กรุงปราก ถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่จีนมีกับอียู

เหตุผลใหญ่อีกประการหนึ่งที่จีนปฏิเสธแนวความคิดจี-2 ก็คือ มันจะกลายเป็นโครงสร้างระหว่างประเทศที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ถ้าหากจี-2ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าใครกันเป็นผู้มอบอำนาจหรือให้อำนาจแก่สหรัฐฯที่จะทำเช่นนี้ เราสามารถจินตนาการได้ว่า จี-2จะต้องถูกประเทศส่วนใหญ่ปฏิเสธถ้าหากมีการจัดลงประชามติระดับโลก ไม่มีประเทศอื่นใดเลย ยกเว้นสหรัฐฯเท่านั้น ที่ต้องการเห็นระบบปกครองแบบจีนกับอเมริกาเป็นใหญ่ (Pax-Chimericana) แต่การปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดจี-2 ไม่ได้หมายความว่าจีนจะลดความรับผิดชอบในระดับโลกของตนลงมา จีนนั้นแสดงความยินดีต้อนรับบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนเองและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ได้รับอยู่จากกรอบโครงแบบกลุ่มจี-20

กระทั่งว่าหากจี-2กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ มันก็จะไม่สามารถแทนที่อำนาจ, หน้าที่, และความชอบธรรมของสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศเพียงองค์การเดียวซึ่งได้รับการยอมรับจากรัฐส่วนข้างมากในโลก ถึงแม้สหประชาชาติต้องเผชิญปัญหาจำนวนมากที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความสามารถที่จะตรวจสอบได้ขององค์การนี้ แต่มันก็ยังคงเป็นเวทีซึ่งดีที่สุดสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ ที่จะทำความตกลงกันอย่างสันติในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

ดังเช่นที่สหรัฐฯได้ตกเป็นเป้าของลัทธิต่อต้านอเมริกันในโลก ภายหลังจากอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เริ่มสงครามอิรักขึ้นมาในปี 2003 วันหนึ่งกลุ่มจี-2ก็อาจตกเป็นเป้าของขบวนการต่อต้านการวางตัวเป็นเจ้าโลก หรือขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยม อันจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ในโลกของจีน

เหตุผลอีกประการหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นมาของภาคประชาสังคม ในฐานะที่เป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่งขึ้นทุกทีในด้านธรรมาภิบาลระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ยุคสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา หากไม่มีการเข้าร่วมของพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (NGOs) ระดับข้ามชาติแล้ว ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศจำนวนมากก็จะไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ ทว่าถ้าหากมีกลุ่มจี-2ขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องธรรมาภิบาลระหว่างประเทศ มันก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อภาคประชาสังคมของโลก เนื่องเพราะโครงสร้างที่เป็นแบบมุ่งเป็นเจ้าโลกของจี-2 ย่อมกลายเป็นตัวจำกัดบทบาทหน้าที่และความสามารถของตัวแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอื่นๆ, สหประชาชาติ, หรือพวกเอ็นจีโอทั้งหลาย

เป็นหลักฐานชัดแจ้งในตัวมันเองอยู่แล้วว่า การตั้งกลุ่มจี-2ขึ้นมาจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศและมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกดาวรุ่งทางอุตสาหกรรมเฉกเช่น อินเดีย, รัสเซีย, และบราซิล ชาติต่างๆ เหล่านี้ต่างมีความมุ่งมาตรปรารถนาที่จะแข่งขันชิงอิทธิพลและอำนาจกับทั้งสหรัฐฯและจีนภายในแวดวงระหว่างประเทศ แนวความคิดเรื่องจี-2จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศ และไม่ได้ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์ของจีนและประเทศอื่นๆ ในโลกแม้แต่น้อย

ดร.เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น