xs
xsm
sm
md
lg

จีนจับตาสหรัฐฯหันกลับมา‘เกี้ยว’พม่า

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China wary of US-Myanmar ‘détente’
By Jian Junbo
16/04/2009

ภายหลังจีนฉกฉวยประโยชน์จากการที่สหรัฐฯในอดีตใช้ท่าทีเป็นปรปักษ์กับพม่ามานานปี จนสามารถบ่มเพาะสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอันลึกซึ้งกับรัฐผู้โดดเดี่ยวแห่งนั้น มาบัดนี้เมื่อสหรัฐฯกำลังแสดงความพยายามที่จะกอบกู้ฟื้นคืนอิทธิพลในพม่า จึงย่อมต้องกลายเป็นภัยคุกคามต่อจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนั้นยังอาจจะกระทบกระเทือนดุลแห่งอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนนำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนวันเวลาอันมืดมนครั้งเก่าก่อน

เซี่ยงไฮ้ – เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ส่งผู้แทน ซึ่งคือ สตีเฟน เบล็ก ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนแผ่นดินใหญ่ เดินทางไปยังพม่า นับเป็นการเยือนในลักษณะนี้ครั้งแรกในรอบระยะเวลา 7 ปี ในเดือนเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เจมส์ สไตน์เบิร์ก แถลงว่า วอชิงตันหวังที่จะได้ร่วมมือกับประเทศเอเชียอื่นๆ ในการพัฒนาจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อช่วยนำพาพม่าให้พ้นจากความโดดเดี่ยว

จังหวะก้าวดังกล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังกันเลยในสมัยคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งตลอด 2 วาระแห่งการดำรงตำแหน่งของเขา มีแต่ใช้นโยบายที่เป็นปรปักษ์ต่อพม่า และมุ่งสร้างแรงกดดันให้พม่าต้องยอมเริ่มต้นกระบวนการสร้างประชาธิปไตย

ดูเหมือนว่าคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายของบุชอย่างเงียบๆ ทั้งนโยบายต่อพม่า และนโยบายต่อชาติอื่นๆ ซึ่งบุชเรียกว่าเป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ” อันได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, และเกาหลีเหนือ ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ทำเนียบขาวได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเริ่มการสนทนากับเตหะราน และเพิ่มพูนสายสัมพันธ์กับเปียงยางโดยผ่านกรอบการเจรจา 6 ฝ่าย นอกจากนั้น ยังมีการส่งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯไปเยือนคิวบาอีกด้วย

เมื่อมองดูทีแรกๆ อาจจะรู้สึกประหลาดๆ ที่โอบามาทำท่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศของผู้เป็นประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขาอย่างรุนแรงและอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทว่าทั้งหมดเหล่านี้คือส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์ของคณะรัฐบาลอเมริกันชุดใหม่ ภายใต้โอบามา นโยบายการต่างประเทศจะมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การมุ่งเดินหน้าเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความชอบธรรมระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และสร้าง “พลังอำนาจแบบอ่อน” (soft power) หรือที่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลินตัน ชอบเรียกว่า “พลังอำนาจแบบเฉียบแหลม” (smart power) ซึ่งได้พร่องไปมากในสมัยคณะรัฐบาลบุช

โอบามากำลังผลักดันลูกตุ้มแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯให้แกว่งไปในอีกด้านหนึ่ง โดยต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่บทบาทความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ซึ่งได้เสียหายอ่อนแอไปอย่างรุนแรงภายใต้คณะรัฐบาลบุช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 สัญญาณทุกๆ อย่างบ่งชี้ให้เห็นว่า ในยุคหลังจากบุชนี้ วอชิงตันต้องการรื้อฟื้นฐานะความเป็นเจ้าโลกผู้เมตตากรุณาของตนขึ้นมาใหม่ เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจนโยบายใหม่ของโอบามาที่มีต่อพม่า ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะฟื้นคืนอิทธิพลของสหรัฐฯในพม่าขึ้นมาใหม่เช่นกัน ภายหลังจากที่ได้สูญเสียไปตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามในกลางทศวรรษ 1970

มองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ แผนการของคณะรัฐบาลโอบามาย่อมจะเป็นการสร้างความท้าทายให้แก่ดุลแห่งอำนาจที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งนโยบายของสหรัฐฯย่อมจะเป็นที่สนใจเฝ้าติดตามจากบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศมหาอำนาจที่เป็นเพื่อนบ้านของพม่าเฉกเช่นจีนและอินเดีย กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายใหม่ที่มีต่อพม่าของสหรัฐฯไม่เพียงแต่จะเสริมส่งภาพลักษณ์ในโลกของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันของภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย ทั้งนี้บนเงื่อนไขที่ว่าวอชิงตันสามารถดำเนินนโยบายใหม่นี้ได้อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ

ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน, อิรัก, ปากีสถาน, และที่อื่นๆ สหรัฐฯได้ใช้นโยบายที่เป็นปรปักษ์กับพม่า บีบคั้นพม่าในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน, กระบวนการสร้างประชาธิปไตย, และการปล่อยตัวผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทางการพม่า ทว่าในทางเป็นจริงแล้วสหรัฐฯไม่บรรลุผลอะไรจากการใช้นโยบายที่มุ่งจำกัดปิดล้อมพม่าเหล่านี้ โดยที่ภาพรวมแล้ว นโยบายเหล่านี้ก็ไร้ประสิทธิภาพที่จะทำให้ประเทศผู้ถูกโดดเดี่ยวทั้งหลายต้องยอมจำนนยอมคุกเข่าขอความเมตตา อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังคงเย้ยเยาะการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพม่า และปฏิเสธไม่ยอมให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศนั้น ในเมื่อคณะรัฐบาลบุชมองการปกครองของพม่าว่าเป็นระบอบปกครองเผด็จการ

จีนได้หยิบฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ โดยได้บ่มเพาะสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพม่า ซึ่งก็เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองให้กระเติ้องขึ้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ความสัมพันธ์แบบต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันเวลานี้คือความเป็นจริงทั้งสำหรับจีนและทั้งสำหรับพม่า จากพัฒนาการของความสัมพันธ์เหล่านี้ อิทธิพลของจีนในพม่าจึงเพิ่มพูนขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัดเจน

เมื่อกวาดตามองทีแรกสุดย่อมจะรู้สึกว่า ความพยายามของสหรัฐฯที่จะฟื้นฟูอิทธิพลของตนในพม่า น่าที่จะกลายเป็นการท้าทายจีน เพราะอาจจะลดทอนหรือกระทั่งทำให้อิทธิพลของจีนในประเทศนั้นต้องจบสิ้นลง นอกจากนั้น อนาคตที่คงจะต้องเกิดขึ้นสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือเกิดการแข่งขันกันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างพวกมหาอำนาจใหญ่ ซึ่งย่อมไม่ใช่ข่าวดีสำหรับเหล่าประเทศในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประเทศจีนก็ไม่น่าที่จะถอนตัวออกไปจากพม่า เนื่องจากจีนได้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งมากกับประเทศนั้นแล้ว จีนต้องการวัตถุดิบต่างๆ จากพม่า และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ จีนต้องการใช้ท่าเรือต่างๆ ของพม่า ในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ดูจากรูปโฉมภายนอกแล้ว นโยบายใหม่ของวอชิงตันในการเข้าไปผูกพันกับพม่า ดูจะสามารถก่อให้เกิดความเป็นปรปักษ์กันในทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้อย่างง่ายดาย ทว่านี่ยังไม่ใช่ภาพทั้งหมดหรือภาพอันแท้จริงของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคแถบนี้ ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงผลพวงต่อเนื่องของนโยบายใหม่ที่สหรัฐฯจะใช้กับพม่า ควรที่จะต้องถามคำถามหนึ่งเสียก่อน นั่นคือ สหรัฐฯจะเข้าผูกพันมีความสัมพันธ์กับพม่าในลักษณะไหน?

ประการแรก สหรัฐฯอาจหาทางเปิดการสนทนาโดยตรงกับพวกผู้นำพม่า และขอให้พม่าเริ่มต้นกระบวนการสร้างประชาธิปไตย โดยแลกเปลี่ยนกับการได้รับความสนับสนุนทางเศรษฐกิจหรือกระทั่งทางการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศ ทว่าวิธีนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เพราะมันก็ยังเป็นลักษณะเดียวกันกับบรรดานโยบายจำกัดปิดล้อมพม่า ที่สหรัฐฯใช้อยู่ พม่านั้นจะไม่ปฏิรูประบบการเมืองของตนไปตามกำหนดเวลาที่จัดวางโดยวอชิงตัน หรืออภิปรายหารือกิจการทางการเมืองภายในประเทศของตนกับสหรัฐฯหรอก

ประการที่สอง สหรัฐฯอาจเข้าไปเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านสำคัญของพม่า นั่นคือ สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนผูกพันกับพวกที่ไม่พึงพอใจทางการพม่า ซึ่งต้องการที่จะเห็นระบอบปกครองของทหารในปัจจุบันถูกโค่นล้มไป แต่เมื่อพูดกันตรงไปตรงมาแล้ว “การเกี่ยวพัน”ในลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะคณะรัฐบาลสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านมาทุกชุด รวมทั้งคณะรัฐบาลบุชด้วย ต่างก็เคยทดลองวิธีนี้กันมาแล้ว โดยบางครั้งถึงกับดำเนินการผ่านสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ(ซีไอเอ)ด้วยซ้ำ วิธีนี้จึงไม่ได้ดีไปกว่าวิธีแรกและก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ผล

ทางเลือกที่สามสำหรับสหรัฐฯ คือการเข้าไปเกี่ยวพันกับพม่าโดยผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือความช่วยเหลือทางการเงิน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯชอบที่จะกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าในเวลาที่จะสร้างสายสัมพันธ์ด้านความช่วยเหลือหรือด้านเศรษฐกิจ เมื่อเป็นการติดต่อตกลงกับพวกชาติกำลังพัฒนา แต่พม่านั้นมีแหล่งที่จะให้ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจแหล่งอื่นๆ อยู่แล้ว เป็นต้นว่าจากประเทศจีน ดังนั้นพม่าจึงไม่เคยยอมรับความช่วยเหลือที่มีเงื่อนไขจากสหรัฐฯ

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ปราศจากการตั้งเงื่อนไขทางการเมือง คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับสหรัฐฯ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องเข้ากับจุดมุ่งหมายหยาบๆ ของนโยบายใหม่ต่อพม่าของสหรัฐฯอีกด้วย รัฐมนตรีช่วยสไตน์เบิร์กพูดย้ำเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดในนโยบายของสหรัฐฯที่มีต่อพม่านั้นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สหรัฐฯยังหวังที่จะให้พม่า “เปิดกว้างมากขึ้น” , เคารพสิทธิมนุษยชน, และนำตัวเองเข้าร่วมในเศรษฐกิจโลก

สหรัฐฯจะต้องค้นพบอย่างรวดเร็วว่ามีความลำบากที่จะเข้าไปเกี่ยวพันกับพม่า ดังนั้น ในขณะนี้จีนจึงไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับการแทรกตัวเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯที่ทำท่าจะบังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทั่งว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดการแข่งขันกันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เอาเข้าจริงแล้ว การแข่งขันนี้ก็ไม่ใช่ว่ากำลังจะเกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน เมื่อมองจากข้อคำนึงทางด้านยุทธศาสตร์ของตนเองแล้ว จีนย่อมไม่ยินดีหากการเข้าเกี่ยวพันในพม่าของสหรัฐฯ กระทำไปในฐานะของมหาอำนาจครองความเป็นเจ้า ซึ่งจะพยายามบงการพม่าในเรื่องกิจการทางการเมือง เพราะสภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศพม่า อันจะส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นการคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาค

อย่างไรก็ดี จีนย่อมยินดีต้อนรับการเข้าเกี่ยวพันในทางเศรษฐกิจหรือในทางการค้าของสหรัฐฯในพม่า ประเทศพม่าที่มั่งคั่งไพบูลย์และมีเสถียรภาพทางสังคม ย่อมสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีนและของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจในพม่าจากความช่วยเหลือสนับสนุนของสหรัฐฯ ย่อมสามารถที่จะสร้างเสริมความเป็นเอกภาพของอาเซียน และสมาคมอาเซียนที่เป็นเอกภาพกันและมีประสิทธิผล ย่อมสามารถที่จะรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนยินดีต้อนรับ

เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้แล้ว จีนย่อมไม่คัดค้านการเกี่ยวพันในทางบวกใดๆ ของสหรัฐฯในพม่า สิ่งที่จีนคัดค้านคือยุทธวิธีใดๆ ของสหรัฐฯที่จะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าและนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯควรต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลาที่สหรัฐฯวางแผนการเกี่ยวกับนโยบายเข้าเกี่ยวพันในพม่านั้น จีนคือตัวแสดงที่สำคัญตัวหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้สหรัฐฯจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง ถ้าหากพยายามที่จะกีดกันจีนออกไปจากนโยบายใหม่ต่อพม่าของตน

สหรัฐฯไม่ควรพยายามที่จะนำเอากลไกแบบการเจรจา 6 ฝ่ายเข้ามาใช้ในการเข้าเกี่ยวพันกับพม่า ทั้งจีน, พม่า, และอาจจะรวมถึงอาเซียนด้วย จะต้องปฏิเสธการเสนอแนะแบบนี้ ถึงแม้สไตน์เบิร์กได้พูดถึงแนวความคิดนี้เมื่อหลายๆ วันที่ผ่านมา พม่านั้นไม่ใช่เกาหลีเหนือ และไม่ได้กำลังเป็นภัยคุกคามประเทศใดๆ พม่าไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหาสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอภิปรายหารือเรื่องพม่าภายในกรอบโครงพหุภาคี

ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ ที่สหรัฐฯจะประสบความสำเร็จในการเข้าเกี่ยวพันกับพม่า ถ้าหากยังคงพยายามใช้วิธีการต่างๆ อันล้าสมัยที่บุชได้เคยใช้มาแล้ว จีนจะไม่มีทางยินดีกับความพยายามเช่นนี้ ทว่าปักกิ่งจะพอใจมากถ้าสหรัฐฯสามารถเข้าเกี่ยวพันกับพม่าในฐานะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันอย่างบริสุทธิ์ สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของสหรัฐฯในการเข้าไปเกี่ยวพันกับพม่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่าทีของประเทศอื่นๆ เลย หากแต่ขึ้นอยู่กับวิธีการของสหรัฐฯเอง

ดร.เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น