เอเอฟพี/เอเยนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างตระเวนเยือนเอเชีย เดินทางถึงอินโดนีเซียเมื่อวันนี้(18) โดยที่เธอหยอดยาหอมให้เจ้าภาพว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นชาติซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมแห่งนี้ จะสามารถแสดงบทบาทอันสำคัญในนโยบายใหม่ของคณะรัฐบาลโอบามา ซึ่งจะอาศัยเพื่อนมิตรโดยไม่เดินหน้าทำอะไรตามลำพังคนเดียว
"การสร้างความเป็นหุ้นส่วนอันครอบคลุมกับอินโดนีเซีย เป็นจังหวะก้าวอันสำคัญยิ่งยวดในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นผูกพันกับ 'อำนาจฉลาด' ของสหรัฐฯ" เธอกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงจาการ์ตา เคียงข้างกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮัสซัน วาราจูดา ของแดนอิเหนา
เธอบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ "ที่จะต้องรับฟังและพูดจากับใครๆ ทั่วโลก ที่จะต้องสนับสนุนประเทศหนึ่งให้สามารถแสดงออกอย่างชัดเจนเหลือเกิน ... ว่าอิสลาม, ประชาธิปไตย, และความทันสมัย ไม่เพียงอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น หากยังเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน"
ทั้งนี้ "อำนาจฉลาด" (smart power) เป็นศัพท์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่นิยามกันไว้ว่า เป็นความสามารถที่จะผสมผสาน "อำนาจแข็ง" (hard power เช่น การทหาร) กับอำนาจอ่อน (soft power เช่น การทูต, การสร้างภาพลักษณ์, ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ, ความนิยมชมชื่นทางวัฒนธรรม) เพื่อให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่ชัยชนะ
ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน เองก็เอ่ยถึงคำๆ นี้บ่อยๆ ภายหลังเธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเธอเคยอธิบายว่า "อำนาจฉลาด" หมายถึงการใช้เครื่องมือทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นการทูต, เศรษฐกิจ, การทหาร, การเมือง, กฎหมาย, และวัฒนธรรม โดยที่จะต้องหยิบเครื่องมือที่ถูกต้อง หรือนำเอาหลายๆ อย่างมาผสมผสานให้ถูกต้อง สำหรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ ทั้งนี้เธอแสดงให้เห็นชัดเจนว่า "อำนาจฉลาด" เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนโยบายการต่างประเทศในยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งมุ่งเดินหน้าทำอะไรไปตามลำพัง
การเยือนอินโดนีเซียของเธอคราวนี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนชาติมุสลิมครั้งแรกนับแต่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ คลินตันบอกว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา "ต้องการที่จะเข้าให้ถึงทั่วทั้งโลก" และอินโดนีเซียก็จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งในความพยายามดังกล่าว
"แน่นอนที่ว่าอินโดนีเซีย จากการเป็นชาติมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลก, เป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่อันดับ 3 ของโลก จะสามารถเป็นผู้แสดงบทบาทนำรายหนึ่ง ในการส่งเสริมอนาคตอันร่วมกันดังกล่าว" เธอบอก
"ดังนั้น เราจึงกำลังมุ่งหน้าที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในประเด็นปัญหาต่างๆ ร่วมกันจำนวนหนึ่ง" เธอพูดต่อ โดยระบุยกตัวอย่างว่า อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจโลก, การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ, ความมั่นคง, และสิทธิมนุษยชน
ทางด้านรัฐมนตรีวิราจูดาแถลงว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่โอบามาเคยมาเรียนในโรงเรียนประถมระหว่างปี 1967-1971 กำลังมองหาความสนับสนุนของสหรัฐฯ ในขณะที่บรรดาชาติเอเชีย-แปซิฟิกกำลังแสวงหาทางก่อร่างสร้าง "สถาปัตยกรรม" ทางการทูตอย่างใหม่ในภูมิภาคแถบนี้
คลินตันเองก็กล่าวว่า "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย" ที่การเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกในฐานะเป็นรัฐมนตรีของเธอ จะมีกำหนดการเยือนอินโดนีเซียด้วย เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวพันส่วนตัวของโอบามาต่อประเทศนี้
"ดิฉันนำเอาคำทักทายแสดงความปรารถนาดีจากประธานาธิบดีโอบามามาด้วย โดยที่ท่านประธานาธิบดีเองก็ได้กล่าวและได้เขียนเกี่ยวกับความสำคัญของช่วงเวลาที่ท่านพำนักอยู่ในอินโดนีเซียในฐานะเด็กวัยเยาว์"
โอบามานั้นมีบิดาเป็นชาวเคนยาผิวดำ และมีมารดาเป็นอเมริกันผิวขาว เขาเกิดที่มลรัฐฮาวาย และโยกย้ายมาอยู่อินโดนีเซียตอนอายุ 6 ขวบ หลังจากมารดาของเขาซึ่งได้หย่าขาดกับบิดาของเขาก่อนแล้ว ได้แต่งงานใหม่กับชายชาวอินโดนีเซีย