xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีระบบโลก กับ การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์โลก (3)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

มองจากภาพกว้าง The Great Depression มีบทบาทอย่างสูงต่อการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ แม้ว่า The Great Depression จะเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ที่สำคัญวิกฤตครั้งนี้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจยุโรป ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการทรุดตัวหนักลงไปอีก และส่งผลทำให้จักรวรรดิอังกฤษซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของระบบโลกในสมัยนั้น ไม่สามารถฟื้นฐานะผู้นำระบบโลกในด้านเศรษฐกิจได้ แม้จะมีฐานะเป็นผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ตาม

ถ้าเปรียบเทียบ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กับ The Great Depression เราจะพบความคล้ายกันตรงที่ ในขณะที่ The Great Depression ได้สั่นคลอนฐานะของจ้าวจักรวรรดิอังกฤษ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็กลายเป็นพลังที่กำลังบั่นทอนฐานะทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจอเมริกา

ตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งมีตลาดหุ้น Wall Street เป็นศูนย์กลางทรุดตัวลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ตลาดบริโภคใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์ใหญ่ที่สุดในการบริโภคของโลก คิดเป็นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดการหดตัวอย่างหนัก น่าจะทรุดตัวลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

บทบาทของ G-8 ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาจึงลดลง และต้องถูกแทนที่ด้วย G-20

อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาทางการเมืองเริ่มลดลง ยุโรป และจีน รวมทั้งรัสเซีย เริ่มมีฐานะทางอำนาจ และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นสำคัญ ระบบโลกในช่วงนี้ ศูนย์อำนาจใหม่ของโลกเริ่มปรากฏตัวขึ้น 2 ศูนย์

ศูนย์แรกคือ จีน และเอเชีย ส่วนอีกศูนย์หนึ่งคือ ยุโรป

ทั้ง 2 ศูนย์ มีฐานขนาดใหญ่ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ขนาดใหญ่พอๆ กับสหรัฐอเมริกา)

ปัจจุบัน ผู้นำจีนพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดัน ‘ยุทธศาสตร์โลกใหม่’ โดยพยายามใช้ ‘วิกฤตเป็นโอกาสสำคัญ’ ที่จะผนึกเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ส่วนหนึ่ง เพราะจีนตระหนักว่า ลำพังประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์ของระบบเศรษฐกิจโลกได้

มองอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศจีนเองมีขนาดเศรษฐกิจ ใหญ่เป็นที่ 3 ของโลก คิดได้ประมาณ 2.9 ล้าน ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบกับอเมริกาซึ่งมีขนาดประมาณ 15 ล้าน ล้านดอลลาร์ ย่อมไม่มีทางเทียบกันได้ แต่ถ้าจีนผนึกรวมกับญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นที่ 2 ของโลก (ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมทั้งสามารถผนึกกับไต้หวัน เกาหลี และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ร่วมกับประเทศอาหรับต่างๆ

การผนึกกันดังกล่าวนี้จะสามารถสร้างฐานเศรษฐกิจและการเมืองของเอเชียขนาดใหญ่ขึ้นมาได้

ถ้าทำสำเร็จ เอเชียก็จะครองฐานะศูนย์อำนาจใหม่ของระบบโลกในอนาคตได้

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าจีนสามารถผนึกกับโซเวียต ลดความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ และระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียลงไปได้ โอกาสที่ ‘มหาเอเชียบูรพา’ จะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของระบบโลก ยิ่งมีโอกาสสูงมากขึ้น

ที่สำคัญ การผนึกรวมกันนี้จะมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียก้าวพ้นหรือลดทอนผลกระทบในด้านลบซึ่งเกิดจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ด้วย

ถ้ามองประวัติศาสตร์แบบเปรียบเทียบ เราจะเห็นว่า 2 ช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคประวัติศาสตร์นี้ มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายๆ กันอยู่บ้าง

ที่ดูเหมือนกันมากคือ ‘การเกิดขึ้นของวิกฤตแบบรอบด้าน’ ซึ่งซ้อนทับกันในหลายด้านในเวลาเดียวกัน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม จนยากที่จะแก้ไขได้ และข้อสำคัญ ‘วิกฤตทั้งหมดเหล่านี้ คือพลังที่นำสู่การเปลี่ยนผ่านยุคประวัติศาสตร์’

แต่รายละเอียดหรือองค์ประกอบ และความหนักหน่วงของสภาพวิกฤตใน 2 ช่วงประวัติศาสตร์นี้ไม่เหมือนกัน

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคสงครามโลก หัวใจของวิกฤตคือ ‘การเมือง’ หรือ ‘สงคราม’ ซึ่งรุนแรงอย่างมาก รองลงมาคือ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’

แต่ในช่วงปัจจุบัน วิกฤตที่ดูจะรุนแรงอย่างมาก (ขึ้นเรื่อยๆ) น่าจะเป็นเรื่อง ‘วิกฤติสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘วิบัติภัยทางธรรมชาติ’ รวมทั้งเรื่องโรคร้ายที่กำลังคุกคามมนุษยชาติ รองลงมาคือวิกฤตเศรษฐกิจ

วิกฤตคราวนี้ อาจมีเรื่องราวสงครามบ้าง แต่จะจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่ช่วงชิงกันเฉพาะที่ และมีลักษณะที่กระจัดกระจาย ไม่หนักหน่วงเท่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

มองในแง่เศรษฐกิจ ผมคิดว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์น่าจะหนักกว่า The Great Depression เนื่องจากระบบโลกในยุคปัจจุบันเชื่อมโยงและพึ่งพากันมาก จึงสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะพบว่า ระบบโลก (แบบใหม่) ได้เกิดการเคลื่อนตัวใหม่ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โลกได้ก้าวสู่การสิ้นยุคล่าอาณานิคมแบบเก่า ระบบโลกแยกออกเป็น 2 ค่าย (หรือ 2 ระบบ) พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของการปฏิวัติด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมใหม่

ปัจจุบัน เราเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ ด้าน เช่นกัน

1. การเปลี่ยนผ่านพลังงานโลก จากยุคน้ำมันและถ่านหินสู่พลังงานทางเลือก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า การปฏิวัติสีเขียว ซึ่งรวมไปถึงการสร้างเมืองและชุมชนแบบใหม่ และวัฒนธรรมใหม่ที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติ ปัจจุบันถือว่าประเทศในย่านยุโรปก้าวหน้าไปในด้านนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ

2. การเปลี่ยนผ่านระบบการผลิต จากการใช้คนงานสู่ระบบที่ใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ (Robot) อย่างสมบูรณ์แบบ ประเทศที่นำหน้าหรือก้าวหน้ามากในเรื่องนี้น่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น

3. การเปลี่ยนผ่านจากยุคการผลิตสินค้า (หรือยุคบรรษัทขนาดใหญ่ครองโลก) มาสู่ยุคธุรกิจการบริการ (ขนาดกลาง และขนาดเล็ก) ซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วในเกือบทุกประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนจะเชี่ยวชาญเรื่องการทำธุรกิจบริการแบบเล็กๆ มากกว่าประเทศอื่นๆ)

4. การเปลี่ยนผ่านจากยุคเมืองแบบอภิมหานคร เช่น นิวยอร์ก มาสู่ยุคเมืองนิเวศน์และชุมชนยั่งยืน ไม่เน้นความใหญ่ แต่ตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติ

5. การสิ้นลงของยุคการผลิตสินค้าเพื่อการตลาด (แบบไร้พรมแดน) สู่ยุคเมืองและชุมชนที่เพียงพอ โดยมีตลาดภายในที่มั่นคงและเลี้ยงตนเองได้แบบยั่งยืน

6. การสิ้นสุดลงของยุคเงินไร้พรมแดนที่ไร้เสถียรภาพ สู่ยุคการสร้างระบบเงินตราโลกใหม่ที่มีเสถียรภาพมั่นคง โดยไม่มีเงินตราระบบใด (เช่น เงินดอลลาร์) มีฐานะสูงกว่าเงินตราอื่นๆ

7. การสิ้นลงของยุคที่ระบบโลกมีจ้าวจักรวรรดิเพียงศูนย์กลางเดียว สู่ระบบโลกที่มีหลายศูนย์ (เอเชีย ยุโรป อเมริกา และรัสเซีย) โดยไม่มีศูนย์ใดมีฐานะอำนาจสูงสุด

มองในแง่วัฒนธรรม วิกฤตปัจจุบันกำลังรื้อทิ้งกระแสวัฒนธรรมแบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีวัฒนธรรมอเมริกาคาวบอยเป็นศูนย์กลาง

วัฒนธรรมอเมริกาคาวบอย คือรากที่มาของวัฒนธรรมโลกแบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งแพร่ไปทั่วโลกพร้อมกับการสร้างกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมและบันเทิงนิยมแบบสุดขั้ว (ความรุนแรง เสพสุข มั่วยา เล่นการพนัน และมั่วกาม)

ปัจจุบัน กระแสต้านโลกาภิวัตน์ทางด้านวัฒนธรรมได้เริ่มเติบใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามต่อกระแสวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมและบันเทิงนิยม เพราะกระแสดังกล่าวได้ส่งกระทบในด้านลบต่อเยาวชนในประเทศต่างๆ

บางประเทศถึงขั้นตั้งกำแพงทางวัฒนธรรม สกัดไม่ให้วัฒนธรรมตะวันตกแบบอเมริกานิยม แพร่เข้ามากจนเกินไป

บางประเทศ อย่างเช่น จีน และเกาหลี มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมแบบตะวันออกขึ้นมาใหม่ เช่น จีนกำลังส่งเสริมวัฒนธรรมแบบขงจื้อ

แต่การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้ภายในปีหรือสองปี คงน่าจะใช้ช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

กล่าวอย่างสรุปก็คือ

ถ้าเราเรียนรู้เรื่องราวของอดีตจากภาพกว้าง เราจะพบว่าวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ก่อเกิดขึ้น เช่น The Great Depression ที่แท้แล้วคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนยุคประวัติศาสตร์โลก : การเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมโลกใหม่ทั้งระบบ ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ผมยืนยันว่า

“วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น น่าจะเป็นวิกฤตที่นำสู่การเปลี่ยนผ่านระบบโลกครั้งใหญ่ ส่วนการเปลี่ยนแปลงจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความยาวนาน และความหนักหน่วงของวิกฤตครั้งนี้” (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น