ตลาดหุ้นที่มีความคึกคักขึ้นมาอย่างมากในช่วงนี้ เป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้นมาได้พอสมควร แต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของหลายประเทศทั่วโลกนั้น ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาแต่อย่างไร วันนี้ จึงมีรายงานภาวะเศรษฐกิจของในเอเชียและกลุ่มประเทศเกิดใหม่มาให้ติดตามกัน
ดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน ด้วยความคาดหวังว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกอาจใกล้จะถึงที่สุดแล้ว นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังได้รับแรงหนุนจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยหลายรัฐบาลทั่วโลกที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงผลประกอบการของธนาคารต่างๆของสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในภูมิภาคทั้งหมดปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยหุ้นขนาดเล็กในตลาดส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลี ดัชนีปรับตัวขึ้นสูงสุดในภูมิภาค โดยปรับขึ้น 19% หรือมากกว่า ในมูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นเอเชียทั้งหมด ยกเว้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ล้วนปรับตัวอยู่ในแดนบวก
เป็นที่น่าสังเกตว่า... นักลงทุนมีทีท่าเพิกเฉยต่อปัจจัยลบต่างๆ ตั้งแต่คุณภาพของรายได้จากองค์กรเอกชน ความล่าช้าของผลการทดสอบฐานะการเงินของธนาคารสหรัฐฯ และไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่อาจส่งผลกระทบใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เช่น ตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯในเดือนมีนาคม ซึ่งพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดนับจากปี 2526 เป็นต้นมา ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาสแรก รวมไปถึงตัวเลขการส่งออกทั่วภูมิภาคที่ยังคงเลวร้ายลง โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งการส่งสินค้าออกลดลงไปมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นรายไตรมาส (Tankan) ในเดือนมีนาคม ยังลดลงมาในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นักลงทุนเลือกที่จะให้ความสนใจแต่ข้อมูลในด้านดีได้แก่ การออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่มาจากการประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ซึ่งได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้มากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือแก่นานาประเทศ ข่าวดีเรื่องกฎระเบียบที่มีการเสนอระเบียบทางการบัญชีใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีช่องทางที่ดีขึ้นในการจัดการกับปัญหาทรัพย์ สินที่ขาดสภาพคล่อง และข่าวดีจากญี่ปุ่นที่มีการตั้งงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 15.4 ล้านล้านเยน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงทั่วภูมิภาค ธนาคารกลางของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเกิดมุมมองที่ดีจากข้อมูล เศรษฐกิจของจีนที่ออกมาดี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังมีข่าวดี ซึ่งสร้างความหวังให้เกิดขึ้นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ อาจจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นของประเทศอื่นๆทั้งหมดในเอเชียด้วย ในเดือนเมษายน ดัชนีผลผลิตภาคการผลิตยังคงปรับตัวขึ้น ขณะที่ยอดการส่งออกลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่การขยายตัวของสินเชื่อรายใหม่และปริมาณเงินในตลาดที่สูงขึ้นได้กระตุ้นการลงทุนในทรัพย์สินถาวรในเขตเมือง แม้ว่าการลงทุนทางตรงจากต่างชาติจะยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันที่กลับมาดีต่อกัน นำไปสู่การขยายความร่วมมือทางการเงินระหว่างกัน รวมไปถึงการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกันด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อจากนี้ ตลาดหุ้นเอเชียอาจประสบแรงเทขายรอบใหม่ หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นด้วยสาเหตุจากสภาพคล่องที่มีสูงในระบบ โดยไม่ใส่ใจต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี และภาวะฝืดเคืองในการสร้างรายได้ขององค์กรเอกชน ในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค ผู้บริโภคในฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา น่าจะอยู่ในช่วงที่จะสร้างฐานเงินออมขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะไปจำกัดความต้องการซื้อสินค้าจากเอเชีย แต่ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศจะต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการส่งออกเพื่อสร้างเศรษฐกิจมาเป็นการทำตลาดภายในประเทศให้มากขึ้นแทน
ขณะเดียวกัน ความพยายามของจีนในการเพิ่มการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ได้นำไปสู่ยุคเฟื่องฟูของตลาดสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้รัฐกำลังพยายามควบคุมการอัดฉีดเงินงบประมาณ เนื่องจากเม็ดเงินไม่ได้เข้าไปสู่ภาคส่วนที่ต้องการให้ได้รับ คือภาคเศรษฐกิจจริง แต่ที่กำลังเป็นที่จับตาคือเม็ดเงินงบประมาณส่วนใหญ่กลับเข้าไปสู่ตลาดการเงิน ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การก่อตัวของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตต่อไป จึงเกิดคำถามขึ้นว่าตลาดการเงินจะเติบโตไปได้อีกนานเพียงใด ในภาวะที่ยังไม่มีวี่แววของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มระยะยาวจากนี้ อเบอร์ดีนยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของเอเชีย แต่ยังคงไว้ซึ่งมุมมองอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ยังดีกว่าฝั่งตะวันตก ดังนั้นจึงยังมีฐานะที่ดีกว่า และทันทีที่สามารถปรับตัวได้จากจุดเปลี่ยนทางการส่งออก เอเชียก็จะเริ่มเข้าสู่เส้นทางแห่งการเจริญเติบโตอีกครั้ง
ตลาดเกิดใหม่ยังน่าลงทุน
ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน ด้วยความคาดหวังว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกอาจใกล้จะถึงที่สุดแล้ว นักลงทุนกลับมารับความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยมีแรงหนุนจากหลายปัจจัย นับตั้งแต่แผนกอบกู้เศรษฐกิจจากหลายรัฐบาล การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ของธนาคารใหญ่ต่างๆของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเม็กซิโก ซึ่งประสบภาวะผันผวนในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ไปทั่วโลก แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้อนุมัติวงเงินกู้ประเภทยืดหยุ่นได้ให้แก่เม็กซิโก ซึ่งช่วยหนุนความเชื่อมั่นของเม็กซิโกให้สูงขึ้น ทางด้านการประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ได้ให้คำมั่นที่จะมอบเงินทุนให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศและองค์กรอื่นๆที่ให้กู้ยืมเงิน มากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านจีนและไต้หวันเพิ่มความร่วมมือทางการเงินระหว่างกัน และบราซิลดำเนินการพักชำระภาษีเป็นเวลาสามเดือนให้แก่กลุ่มธุรกิจวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างภายในประเทศ
โดยที่มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจของเ0กาหลี เกือบเข้าสู่การมีภาวะถดถอยในไตรมาสแรก ดัชนีการผลิตของจีนขยายตัวขึ้นในเดือนมีนาคม หลังจากที่หดตัวไปห้าเดือน ขณะที่การปล่อยกู้ของธนาคารและยอดขายรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นในบราซิล หลังจากมีการพักชำระภาษี ในทางกลับกัน การเติบโตของเศรษฐกิจตุรกีหดตัวลงในไตรมาสสี่ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกและผลผลิตยังคงลดลงในหลายประเทศ
ทางด้านการเมืองนาจิบ ราซัค สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่หกของมาเลเซีย และพรรครัฐบาลของแอฟริกาใต้ คือ แอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรส กลับขึ้นสู่อำนาจ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วประเทศในอินโดนีเซีย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ซึ่งผลที่ออกมาแสดงว่าพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน มีคะแนนนำ ขณะที่ในอินเดีย การเลือกตั้งทั่วประเทศที่ใช้เวลาเป็นเดือน ยังไม่ชี้ชัดว่าพรรคใดจะได้เปรียบระหว่าง พรรคคองเกรส ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล หรือ พรรคภารัติยะ จานาตะ ที่เป็นฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นจากภาวะตลาดหมีที่ซบเซา ซึ่งไม่น่าจะมีความยั่งยืน สืบเนื่องจากสาเหตุใหญ่คือข้อมูลเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งดูเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงองค์กรเอกชนมีภาวะฝืดเคืองในการสร้างรายได้ การส่งออกในแทบทุกประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังคงปรับลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในฝั่งตะวันตกตัดลดการใช้จ่าย เพื่อสร้างฐานเงินออมขึ้นอีกครั้ง
แต่ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในประเทศกำลังพัฒนาน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของตนลดการพึ่งพาการส่งออก อย่างก็ตาม สิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ปัจจัยเศรษฐกิจพื้นฐานของกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีความแข็งแกร่งกว่าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะปรับตัวขึ้น แต่ระดับราคาหุ้นยังคงน่าสนใจ ซึ่งจะสามารถสร้างโอกาสในการซื้อหุ้นของบริษัทที่จะเติบโตได้ดีในระยะ 5 ถึง 10 ปีต่อจากนี้