xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนยำเละเมล์อเวจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “โสภณ” เปิดเวทีเสวนาเช่าเอ็นจีวี 4,000 คันดีที่สุด รักษาการ ผอ.ขสมก.เผยต้องมีรถใหม่ใช้เอ็นจีวี มีระบบE-Ticket แก้ขาดทุนเดือนละ 600 ล้านบาท ลดภาระค่าน้ำมันและค่าจ้างพนักงาน ภาคเอกชนระบุคมนาคมทำโครงการโดยไม่มองภาพรวม ไม่เคยสอบถามความเห็นประชาชนและเอกชนก่อน แต่พอถูกติงไม่โปร่งใส เพิ่งได้คิด แฉจัด 145 เส้นทางจงใจทับซ้อนเอกชน มองแค่ตัวเองมีกำไรชี้ระบบE-ticket ไม่ประหยัดจริง เหตุประชาชนยังต้องจ่ายค่าโดยสาร2 ต่อ ด้านบอร์ดสภาพัฒน์มุบมิบเสนอ 3 ออฟชั่นรถเมล์โฉ่เข้า ครม.

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการเสวนา”รถเมล์...อนาคตของคนกรุง”วานนี้ (29 มิ.ย.) ว่า การที่กระทรวงคมนาคมโดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจรจาจร (สนข.) และองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จัดเสวนาโครงการเช่ารถเมล์ปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ (CNG) เป็นเชื้อเพลิงจำนวน 4,000 คัน เพื่อรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะซึ่งผลที่ได้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพราะขณะนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และไม่ว่าสศช.จะเสนอครม.อย่างไรและครม.จะมีมติอย่างไร ตนพร้อมที่จะปฎิบัติตาม เพราะการบริหารประเทศอยู่ที่ครม.
นายโสภณกล่าวว่า หากมติครม.ออกมาตรงข้ามกับสิ่งที่กระทรวงคมนาคมเสนอก็ไม่มีปัญหาและไม่ส่งผลกระทบต่อการร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย แต่ครม.และสศช.ต้องอธิบายให้ได้ว่า ข้อสรุปที่เลือกนั้นดีกว่าที่กระทรวงคมนาคมเสนออย่างไร เพราะทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คิด ซึ่งทำไปแล้วไม่ดีคนคิดก็ต้องรับผิดชอบ
“การจัดเสวนาไม่มีเป้าหมายเป็นอย่างอื่น แต่เพราะสังคมเคลือบแคลงโครงการ มาตั้งแต่ต้นเพราะไม่ได้รับข้อมูล การจัดเสวนาจะมีการให้ข้อมูลกับสังคมว่า วิธีการเช่าดีกว่าการซื้ออย่างไร พร้อมกับรับฟังความเห็นโดยเฉพาะคนที่ไม่เห็นด้วยหากมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าก็ให้เสนอมาพร้อมที่จะรับฟัง แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การเช่าดีกว่า และพยายามอธิบายว่าการเช่าดีที่สุดอย่างไร ซึ่งหากมีรถที่ราคาถูกกว่านี้โดยมีสเปคเดียวกัน ก็ให้เสนอมา และถ้าไม่เอาแบบนี้ต้องติดคุก แต่ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้อย่าพูด”นายโสภณกล่าว
นายโอภาส เพชรมุณี รักษาการผู้อำนวยการขสมก. กล่าวว่า โครงการจัดหารรถเอ็นจีวี 4,000 คันมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากขณะนี้ขสมก.ประสบภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมากหากไม่ได้ทำอะไรเลยก็จะทำให้ตัวเลขการขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะขณะนี้ ในแต่ละเดือน ขสมก.จะขาดทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท เพราะมีรายจ่ายเรื่องหนี้สินและดอกเบี้ยและเงินเดือนพนักงาน รวมไปถึงต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงจะต้องจัดหารถใหม่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเท่านั้นและใช้ระบบตั๋วอิเลกทรอนิกส์ (E-Ticket) ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพนักงานจากเดิมที่มีประมาณ 20,000 คน เหลือเพียง 9,900 คน
อย่างไรก็ตามเส้นทางการเดินรถก็จะต้องมีการปรับเนื่องจากขณะนี้จำนวนรถไม่เพียงพอ ส่วนปัญหาการวิ่งทับเส้นทางรถร่วมบริการขสมก.นั้น ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการหารือกับรถร่วมฯ บริการอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป

***เอกชนอัด ขสมก.ไม่ดูภาพรวม
นายธวัชชัย ตั้งสง่า ผู้ประกอบการร่วมร่วมฯ บ.ลาดกระบังขนส่ง จำกัด กล่าวว่า ต้องแยกระหว่างการจัดหารถใหม่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีออกจากการแก้ปัญหาขาดทุนขสมก.เพราะถ้าเอามารวมกันจะไม่สนองกับความต้องการโดยในสวนของการจัดหารถใหม่เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าเพราะจะทำให้ประชาชนมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นโดยรัฐบาลต้องกำหนดค่าโดยสารที่ไม่ได้เอื้อเฉพาะรถขสมก.อย่างเดียวแต่ต้องดูแลทั้งระบบให้เกิดความยุติธรรมเพราะรถร่วมฯบริการเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณะ
นางภัทราวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมรถโดยสารประจำทางกล่าวยืนยันว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ไม่คัดค้านการจัดหารถเมล์ปรับอากาศใช้เอ็นจีวีมาให้บริการเพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพดีขึ้น แต่ขสมก.ทำโครงการนี้โดยไม่ไดหารือกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาก่อนทำให้การจัด 145 เส้นทางออกมาทับเส้นทางเอกชนทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนมาก ขณะที่เอกชนเสนอขอหารือและเข้าสู่ระบบการปรับโครงสร้างมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ที่เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ให้ความเห็นตรงกันว่า กระทรวงคมนาคมแก้ปัญหาขสมก.โดยไม่มองโครงสร้างในภาพรวมของระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดก่อน แต่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนของขสมก.อย่างเดียว โดยเห็นว่าภาครัฐควรจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งประชาชนและภาคเอกชนก่อนที่จะเสนอโครงการไม่ใช่เมื่อถูกโจมตีถึงออกมาชี้แจง ซึ่งไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังเห็นว่าเช่น การนำระบบ E-Ticket มาใช้ในโครงการรถ 4,000 คัน แล้วบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติประชาชนยังต้องใช้บริการรถนร่วมฯ แต่รถร่วมฯไม่มีระบบ E-Ticket เท่ากับประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จริงและต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มอีก
ทั้งนี้ ก่อนที่จะดำเนินโครงการ รถเมล์ 4,000 คัน กระทรวงคมนาคมและขสมก.ควรจัดการระบบการให้บริการขั้นพื้นฐานให้พร้อมก่อน ทั้งBus Lane ป้ายรถเมล์ ซึ่งต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาดำเนินการโดยในระหว่างนี้ ขสมก.ควรบริหารจัดการรถที่มีอยู่ให้ดีเสียก่อน เพราะการนำรถเข้ามา โดยที่ระบบพื้นฐานไม่พร้อมรองรับการให้บริการจะมีปัญหาแน่นอน เช่นจำนวนรถไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง เกิดการแย่งผู้โดยสารกันและกระทบต่อรายได้

***นักวิชาการแนะตั้งกรรมการร่วม
ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้ริเริ่มการจัดทำแผนฟื้นฟู ขสมก. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปัญหาทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะวิธีการบริหารจัดการ และการบริหารสัญญาการเดินรถกับรถร่วมบริการ ซึ่งหากนำรถใหม่เข้ามาทั้ง 4,000 คันจะเกิด ปัญหาการเดินรถที่ทับซ้อนเส้นทางกัน ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหา ขสมก. ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อกำกับดูแลในเรื่องของการบริหารสัญญาว่าจ้างเดินรถคุณภาพ (performance -based contracts : PBC) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่าน กระทรวงคมนาคม ,กรุงเทพมหานคร, ขสมก. และสำนักงานจราจรเป็นกรรมการร่วมกัน
“การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดนั้น ตั้งขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายในทุกๆส่วน โดยเฉพาะการบริหารสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน ส่วนโครงสร้างของขสมก.จะต้องแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน ประกอบด้วยการกำกับสัญญา และการเดินรถ ซึ่งในส่วนของการบริหารสัญญานั้น ในปัจจุบันจะเห็นว่า ขสมก. เก็บค่าสัมปทานกับเอกชน แล้วก็วิ่งแข่งขันไปด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เท่าไร”
สำหรับ การบริหารเส้นทางของขสมก.ขณะนี้รถเมล์แต่ละเส้นทางมีการวิ่งซ้อนเส้นทางกับกว่า 10 สาย ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก ส่งผลถึงภาระรายจ่ายของขสมก.ต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหา ขสมก.ควรจะปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

***สหภาพฯ ยื่นนายกฯ วันนี้
ด้านสหภาพแรงงานรัฐสวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่า สหภาพฯ ขสมก.รับหลักการมติครม.วันที่ 3 มิ.ย. 2552 ในการจัดหารถเอ็นจีวี 4,000 คัน โดยมอบหมายให้สศช.และกระทรวงการคลังไปพิจารณาให้รอบคอบว่าจะใช้วิธีการเช่าหรือซื้อ โดยเห็นว่าขสมก.มีความจำเป็นเร่วด่วนในการจัดหารถใหม่ มาแทนรถเก่าที่หมดอายุการใช้งานหรือปลดระวาง โดยสหภาพฯ ขสมก.มีมติสนับสนุนให้รัฐบาลจัดซื้อหรือเช่าซื้อรถ4,000 คันแทนการเช่าตามแผนของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการจัดซื้อจะเป็นประโยชน์แก่ขสมก.และรถจะตกเป็นทรัพย์สินของขสมก.ในอนาคตซึ่งขสมก.มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและสมบัติของประชาชน โดยจะยื่นมติดังกล่าว ต่อนายกรัฐมนตรีวันนี้ (30 มิ.ย.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากในการเสวนาได้มีการเปิดให้กับผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสาร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า โครงการนี้ไม่มีความจริงใจต่อคนกรุงเทพ และหลายฝ่ายมีการได้ประโยชน์จากโครงการ ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมตรึงเครียดขึ้นทันที ซึ่งนายโอภาส กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงที่จะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และการที่ขสมก.จะเรียกผู้ประกอบการรถร่วมมาหารือด้วยนั้น เป็นการหาทางออกให้กับผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว
นายสุรชัย ธาริทธิพงษ์ ปลักระทรวงคมนาคม กล่าว่า ข้อคิดเห็นส่วนใหญ่ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ หลายฝ่ายยังมี้อสงสัย ในเรื่องการริหารต้นทุน รวมทั้งมูลค่าโครงการที่ได้มีการปรับตัวเลขกันหลายครั้ง ดังนั้น ขมม.จะต้องกลับไปพิจารณาในส่วนของเนื้อหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรืองการให้บริการผู้พการ และในขั้นตอนต่อป สนข.จะรวบรวมข้อคิเห็นทั้งหมด โพสต์ลงนเวปไซต์ของสนข. และสมก. เพื่อให้ประชาชน ได้แสดงความคิดเห็น ละทางผู้ที่เกี่ยวของจะทำการตอบคำถาม ส่วนข้อเสนอใดที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ สนข.จะนำเสนอระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป

***บอร์ดสภาพัฒน์มุบมิบ 3 ออฟชั่น
วานนี้ (29 มิ.ย.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) เพื่อพิจารณาโครงการรถเมล์ NGV 4,000 คัน ว่า วันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีการสรุปข้อมูลภาพรวมโครงการรถเมล์ NGV 4,000 คันแล้ว โดยได้สรุป 3 แนวทางเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินโครงการนี้ให้ ครม.พิจารณาในวันนี้ (30 มิ.ย.) ซึ่งในรายละเอียดคงไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากจะเป็นการกดดันการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
“ผมเอาข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ข้อมูลจากการเปิดเสวนาของสภาพัฒน์ มาประกอบด้วยและวิเคราะห์ให้บอร์ดสภาพัฒน์ รับทราบ ซึ่ง บอร์ดสภาพัฒน์เห็นว่า ข้อเสนอที่บอร์ดเห็นชอบควรจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจใน 3-4 ออฟชั่น”
อย่างไรก็ตาม บอร์ดสภาพัฒน์เหลือระยะเวลาทำงานถึงวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในเรื่องการขยายระยะเวลาการทำงานของบอร์ดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐฒนตรีเช่นกัน ขณะที่ยอมรับว่า การขยายระยะเวลาเพื่อพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม 1 เดือนนั้น ก็อยู่เพจเกจเดียวกันที่จะเสนอ ครม.
นายอำพนปฏิเสธกรณีสภาพัฒน์อาจจะเสนอให้ปรับลดจำนวนรถเมล์เอ็นจีวีลงจาก 4,000 คันนั้นว่า ไม่เป็นความจริง
รายงานข่าวแจ้งว่า คาดว่า ข้อเสนอของสภาพัฒน์ จะเป็นการเสนอให้ขยายระยะเวลาการทำงานของบอร์ดชุดปัจจุบันที่จะครบวาระ โดยนำข้อมูลที่สภาพัฒน์ ได้รับมาจากหน่วยงานต่างๆ มาพิจารณา โดยจะเสนอ ครม.ให้ต่ออายุการทำงานของบอร์ด ขณะที่ในเรื่องการเช่า การซื้อ หรือการเช่าซื้อ เป็นองค์ประกอบที่บอร์ดสภาพัฒน์ที่ได้รับการขยายระยะเวลาในการทำงานจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น