xs
xsm
sm
md
lg

คลังฝัน2ปีเศรษฐกิจไทยฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กระทรวงการคลัง คาดเศรษฐกิจไทย ใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปี ระบุตอนนี้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ก่อนจะเห็นแสงสว่างปีหน้า ด้าน "ณรงค์ชัย" แนะ ธปท. ดึงเงินสำรอง 2-3 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในตราสารต่างประเทศของรัฐบาล เชื่อพยุงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าได้ทางอ้อม ขณะที่ สบน. รับลูก กฏหมายเงินกู้ผ่านสภา เดินหน้ากู้เงินลงทุนทันที พร้อมเร่งหารือ เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน "พิชิต" หนุนภาคเอกชน เดินหน้าลงทุนตามรัฐ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "Financiial Situation to The Current Economic Crisis" ซึ่งจัดขึ้นโดย บลจ.เอ็มเอฟซี ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้เงินจากภาคประชาชนมาช่วยแก้ไข เพราะเงินของรัฐบาลหดหายไปมาก โดยปัจจุบัน มีเงินที่หมุนเวียนมีสภาพคล่องถึง 1.7 ล้านล้านบาท และเป็นส่วนที่นำมาใช้ได้ทันทีกว่า 820,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้รัฐบาลออกตราสารต่างประเทศ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งไม่รวมส่วนของทุนสำรองเงินตรา เข้ามาลงทุนในตราสารดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลมีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นเสนอว่า ควรดึงออกมาใช้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่ ธปท.ผลิตธนบัตรออกใช้จำนวน 894,5000 ล้านบาท แต่ยังมีเงินในบัญชีสำรองพิเศษ 878,2000 ล้านบาท ดังนั้น จำนวนเงินในส่วนนี้จึงสามารถนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
ทั้งนี้ ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่ส่วนที่เป็น พ.ร.บ ทุนสำรองเงินตรานั้น ต้องแก้กฎหมายถึงจะสามารถนำออกมาใช้ได้ ซึ่งการนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังมีเหลืออยู่มาใช้ จะมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงดีกว่าการไปแทรกแซงค่าเงิน เพราะจากนี้ไปทิศทางเงินดอลลาร์จะเป็นขาลง ซึ่งมีผลให้เงินบาทแข็งค่าจนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีข้อดีอยู่ที่ ผลตอบแทนที่ได้รับ น่าจะสูงว่าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ ธปท.ไปซื้อไว้ ซึ่งให้ผลตอบแทนเพียง 1% กว่าเท่านั้น ขณะเดียวกัน ตราสารต่างประเทศที่รัฐบาลจะออก ยังสามารถออกตราสารที่มีอายุนานถึงสิบปีได้เพราะเป็นการนำเงินเย็นมาลงทุน
“ถ้าเราไปกู้เงินสำรองระหว่างประเทศมาเก็บไว้ เงินบาทก็ยิ่งแข็งค่าขึ้นไปอีก เงินสำรองตอนนี้มันมีมากเกินไป วิธีนี้อาจไม่ทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงไป แต่จะช่วยให้ไม่แข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งเพราะการที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงคงทำได้ยาก เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทอาจแข็งค่าถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออก”นายณรงค์ชัยกล่าว
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า รายได้ของรัฐบาลที่หดหายไปนั้น เห็นได้จากในปีงบประมาณ 2552 ฐานะการคลังในเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลมีรายได้ 655,000 ล้านบาท มีรายจ่าย 1.1 ล้านล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณ 458,500 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2552 คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลจริงมากกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีรายได้ต่ำกว่าคาดการณ์ 150,000 ล้านบาท ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีสูงถึง 127,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

**สบน.เดินหน้ากู้เงินทันที**
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้วางกรอบเงินลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการต่าง ๆ แล้ว 1.06 ล้านล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอโครงการให้พิจารณา โดยหลังจากร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 800,000 ล้านบาทผ่านสภาฯ แล้ว จะเร่งเดินหน้ากู้เงิน เพื่ออัดฉีดเงินให้กับโครงการต่าง ๆ ตามกำหนด ซึ่งการกู้เงินเหล่านี้ จะกู้เงินผ่านตลาดเงิน และสถาบันการเงิน โดยจะพยายามบริหารไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่อง และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เกิคความผันผวน และอาจจะกระทบต่อการระดมทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ วงเงินที่เหลือประมาณ 4-5 แสนล้านบาทนั้น จะมีการพิจารณาโครงการ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางเดือน ก.ค.หลังจากนั้นจะมีการเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินรายงานต่อสภาฯ ต่อไป
นายพงษ์ภาณุกล่าวว่า สำหรับแนวทางการลงทุนของรัฐบาลตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนั้น ส่วนหนึ่งจะดำเนินการในลักษณะการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public Private Partnership:PPP) ในสัดส่วน 10% ของโครงการลงทุนเป็นวงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดรายละเอียด รูปแบบโครงการลงทุน การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือน
โดยโครงการลงทุนในลักษณะ PPP จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มการลงทุนเชิงพาณิชย์ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และกลุ่มสื่อสาร พลังงาน กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการทางหลวงพิเศษต่อขยายมอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ กลุ่มที่ 3 เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องมีภาระผูกพันในงบประมาณในอนาคต
"หลังจากนี้ จะต้องออกระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ทั้งการเปิดประมูลงานให้กระชับรวดเร็ว มีความชัดเจน และต้องกำหนดสัญญาให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เป็นแม่แบบในการเจรจากับภาคเอกชน เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าเหมือนกับการหน่วยงานรัฐประมูลโครงการรัฐอย่างเดียว ทำให้บางโครงการมีขั้นตอนยืดเยื้อนานหลายเดือน เพื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วจะจัดประชุมเวิร์กช็อปเชิญภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมารับฟังแผนการลงทุน PPP ของรัฐบาล"นายพงษ์ภาณุกล่าว
ทั้งนี้ หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร สบน. จะเตรียมแผนกู้เงินภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ทันทีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ใน 2 ด้าน คือ 1.2 แสนล้านบาทกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง ส่วนอีก 3 หมื่นล้านบาทจะนำมาใช้เพื่อตามโครงการไทยเข้มแข็งหรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ การเริ่มต้นการกู้จะเริ่มได้ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.52 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่ง สบน.จะกู้ในรูปแบบพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี จำนวน 3 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ซื้อก่อนประชาชนรายอื่น 3 วัน โดยกำหนดเพดานการซื้อที่ไม่เกิน 2-10 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ทั่วถึงทั้งประเทศ จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อ

**เล็ง3ปีปรับวินัยการคลังลดหนี้สาธารณะ**
นายพงษ์ภาณุกล่าวต่อว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลจะต้องมีการปฏิรูปวินัยการเงินการคลัง การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันระบบภาษียังมีช่องโหว่อีกมากที่ต้องแก้ไข รวมทั้งปฏิรูปการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ภาระหนี้สาธารณะกลับมาอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่ต้องกู้เงินจำนวนมากมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
"หลังจากนี้หนี้สาธารณะจะขึ้นไปถึง 60%ของจีดีพี แต่ใน 3-4 ปีข้างหน้าจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้และมีเงินชำระหนี้ ลดภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบความยั่งยืน"นายพงษ์ภาณุกล่าว

**มองเศรษฐกิจไทยใช้เวลาฟื้น2ปี**
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะใช้เวลาประมาณ 8 ไตรมาสนับจากไตรมาส 4 ของปี 2551 ที่จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระดับปกติ 3% ต่อปีได้ โดยในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังติดลบในระดับ 3.5% โดยช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2552 เศรษฐกิจคงจะติดลบไตรมาสละประมาณ 5% ส่วนไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกประมาณ 2% แต่ทั้งปีก็จะยังติดลบ แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ก่อนที่จะเริ่มเป็นบวกในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2553
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในไตรมาส 2 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่งสัญญาณว่าอยู่ในช่วงฟื้นตัวและได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ก่อนจะเมเห็นแสงสว่างในปีหน้า
สำหรับแผนการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มองว่าจะไม่เป็นภาระหนี้ในอนาคต เนื่องจากสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะในระดับปัจจุบันที่ 40% หรือจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 60% ในอนาคตนั้น มีส่วนที่เป็นสินทรัพย์รวมอยู่ด้วยประมาณ 15% ดังนั้น จึงมองว่าไม่ใช่หนี้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการพูดกันมานานแล้ว ซึ่งหากใครเข้ามาทำ ก็จำเป็นต้องกู้เงินเข้ามาลงทุนเช่นกัน ดังนั้น การกู้เงินของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องทำ

**หนุนเอกชนลงทุนตามภาครัฐ**
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ภาคเอกชนกล้าที่จะเริ่มลงทุนตามภาครัฐ ซึ่งผลจากการใส่เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น จะช่วยให้จีดีพีปรับตัวสูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจก็ยังคงโตติดลบ แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4
สำหรับความคืบหน้าของกองทุนวายุภักษ์ 2 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น มองว่าขณะนี้รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินได้อยู่ ดังนั้น จึงน่าจะยังไม่เห็นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม กองทุนวายุภักษ์ ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนของรัฐบาล โดย 6 ปีที่ผ่านมา กองทุนวายุภักษ์ 1 ได้ส่งเงินให้กับรัฐบาลไปแล้วร่วม 40,000 ล้านบาทโดยไม่ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเลย
นอกจากนี้ หากรัฐบาลเปิดทางให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนด้วย การตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็น่าสนใจเช่นกัน แต่ในขณะนี้ ในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุน ซึ่งสำนักงานคระกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดูแล ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดตั้งกองทุน ก็เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชน ถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่อการลงทุนสูง ก็จะได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น