xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯธปท.หนุนรัฐบาลกู้แบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยใช้กลไลตลาดช่วยให้แบงก์ลดดอกเบี้ยกู้ หลังจากใช้ทุกวิธีไม่ได้ผล ชี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 100 ล้านเหรียญต่อเดือน เทียบเมื่อก่อนเข้ามา 700 ล้านเหรียญ ส่วนแนวโน้มในตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวน ระบุการใช้จ่ายภาครัฐมีโอกาสให้การขยายตัวเศรษฐกิจติดลบน้อยลงหากผลักดันให้เงินสู่ระบบเร็วและวางแผนให้ดี ประกาศหนุนรัฐบาลกู้เงินในประเทศ เหตุสภาพคล่องล้น 1 ล้านล้าน

ในงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 9 MONEY EXPO 2009 จัดโดยวารสารการเงินการธนาคาร ระหว่างวันที่ 7 - 10 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “ไขประเด็นเศรษฐกิจ” ว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2.50% นับตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งปกติการส่งผ่านไปยังตลาดการเงินทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและกู้ค่อนข้างเร็ว แต่ขณะนี้กลไกดังกล่าวค่อนข้างช้า เนื่องจากข้อจำกัดต้นทุนเงินฝากเก่ายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับในขณะนี้ความต้องการสินเชื่อน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ราคาลดลงด้วย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์เริ่มมีอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง จึงเชื่อว่าต่อไปมีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก โดยไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ 3.12% โดยเพิ่มขึ้นทุกประเภทธุรกิจ อย่างไรก็ตามล่าสุดในเดือนมี.ค.เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี เมื่อการผิดนัดชำระหนี้ 1-3 เดือน ซึ่งยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มเอ็นพีแอล สัดส่วนเริ่มมีการก่อหนี้ลดลง รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ได้มีการกันสำรองจำนวนมาก
และสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส เรโช)สูงกว่า 14% จึงเชื่อว่าสถาบันการเงินในระบบจะสามารถรับมือได้

นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่าในปีนี้แนวโน้มเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเฉลี่ยในแต่ละเดือนลดลงประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่เฉลี่ยเข้ามา 600-700 ล้านเหรียญต่อเดือน แต่ไม่ตกใจ เพราะเชื่อว่าหากการเมืองนิ่งและเศรษฐกิจฟื้น นักลงทุนต่างชาติที่เคยลงทุนอยู่แล้วในไทยจะนำเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม แต่หากไม่มั่นใจอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการลงทุนได้ เช่นเดียวกับแนวโน้มในตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนอยู่ตามความกังวลและมองทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นการลงทุนหุ้นช่วงระยะยาว ในฐานะผู้ออมถือมีความเสี่ยงน้อย

“แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนและเกาะกลุ่มไปกับประเทศผู้ค้าและผู้ขาย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 4 พ.ค.ค่าเงินบาทแข็งค่า 1% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอ่อนค่า 1-3% โดยประเทศอ่อนค่า ได้แก่ ฟิลิบปินส์ 0.5% มาเลเซีย 1.5% สิงคโปร์ 2.2% ขณะเดียวกันมีประเทศแข็งกว่าเรา โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและจีน แสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทไทยอยู่ระดับกลางเกาะกลุ่มภูมิภาคและหากพิจารณาดัชนีเงินบาทแท้จริงพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยไม่ได้เสียเปรียบคู่แข่งเลย และที่ผ่านมาผู้ส่งออกอยากให้เราดูแลเงินบาทนิ่งและไม่ผันผวนมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เขาขาดทุนได้ง่ายกว่า”

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาจากปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่การที่รัฐบาลวางกรอบให้หนี้สาธารณะไทยสูงถึง 60%ของผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ(จีดีพี)ในช่วงงบประมาณปี 55-56 มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราวและไม่น่ากังวลเห็นได้จากสร้างวินัยการคลังของรัฐบาล ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ สูงกว่าโดยเฉพาะญี่ปุ่นสูงถึง 200%ของจีดีพี ขณะเดียวกันเชื่อว่าในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นและทำให้หนี้ลดลง

“การใช้จ่ายภาครัฐมีโอกาสให้การขยายตัวเศรษฐกิจติดลบน้อยลง แต่ขึ้นอยู่กับเงินที่ออกสู่ระบบและวางแผนให้ออกไปสู่ส่วนต่างๆ ให้ดี ซึ่งในอดีตการใช้จ่ายภาครัฐมีปัญหา แต่ตอนนี้รัฐบาลเองเข้าใจปัญหานี้ดีและพยายามผลักดันโครงการและเงินทุนต่างๆให้ออกมาเร็วให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การที่จะเกินดุลงบประมาณทั้งสิ้น 6.5%ของจีดีพีในงบประมาณ 53
เชื่อว่าไม่กระทบ เพราะมีโครงการรองรับชัดเจน”

***สภาพคล่องมีพอให้รัฐบาลกู้

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า หากรัฐบาลหันมาระดมทุนในประเทศมากขึ้นมองว่าไม่มีปัญหาแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน เนื่องจากในปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีการหมุนเวียนเฉลี่ยในแต่ละวันอยู่ที่ 8-9แสนล้านบาท ส่วนสภาพคล่องส่วนเกินมีมากกว่า 4 เท่าที่กฎหมายกำหนด หรือเกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ลงทุนรูปแบบต่างๆ แต่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย จึงสนับสนุนให้ภาครัฐหันมากู้เงินในประเทศดีกว่า และหันมาซื้อวัตถุดิบในประเทศด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากสภาพคล่องในประเทศ แต่ถ้ามีการบริหารจัดการวางแผนที่ดี และมีการกระจายอายุการออกพันธบัตรหลากหลายช่วยลดปัญหาต้นทุนแพงได้ และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ฝากเงินสามารถนำเงินออมมากระจายลงทุนเครื่องมืออื่นๆ ได้มากขึ้น

ส่วนกรณีที่สถาบันจัดอันดับน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์(S&P) ลดเครดิตตราสารหนี้ในประเทศไม่ได้กระทบมากนัก เพราะนักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้สกุลเงินบาทในสัดส่วนน้อย คือ 3% ขณะที่บริษัทฟิทช์เรทติ้งส์ลดเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวในสกุลเงินบาทและสกุลต่างประเทศ พร้อมทั้งลดเครดิตธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง เป็นผลจากปัจจัยการเมือง
จึงเชื่อว่าหากการเมืองนิ่งทุกอย่างจบเร็ว ซึ่งขณะนี้ต้นทุนพันธบัตรแพงขึ้น 0.1%

สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังให้เจ้าหน้าที่ธปท.เข้าไปตรจสอบธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ที่พนักงานระดับสูงทุจริตนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า แม้ธปท.ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่กระทรวงการคลังได้มอบให้ธปท.เข้าไปตรวจสอบหลังจากช่วงวิกฤตปี40 โดยธปท.ได้ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาเรื่องการควบคุมภายใน
โดยเฉพาะด้านระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่รองรับต่อธุรกิจ ซึ่งช่วงที่เกิดปัญหาทุจริตเป็นเวลาเดียวกันที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข

“ผลการตรวจสอบของแบงก์ชาติทุกครั้งได้ส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงเจ้าสังกัด(กระทรวงการคลัง)ทุกครั้ง ซึ่งเราเข้าไปตรวจสอบเฉพาะสำนักงานใหญ่เท่านั้น แต่เหตุที่เกิดการทุจริตธอส.กับสาขา จึงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ต้องควบคุมดูแลความเสี่ยงกันเอง เราเพียงมีหลักไว้ให้แล้ว
จึงจำเป็นที่แบงก์ทุกแห่งต้องมีระบบการค้านอำนาจและมีคณะกรรมการรู้เห็นเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 1 คน เพื่อลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ”
ส่วนกรณีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในการประเมินเบื้องต้นความเสี่ยงยังไม่มาก เนื่องจากการแพร่กระจายของผู้ป่วยน้อย และตัวโรคไม่รุนแรงนัก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะที่เม็กซิโก รวมทั้งการควบคุมและรับมือของรัฐบาลมีประสิทธิภาพที่ดี จึงมองว่าไม่น่ากลัวกว่าโรคซาร์ที่กระทบรุนแรงกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น