xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หวังจีดีพีลบ5%ต่ำสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยหดตัว 5-6% ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ระบุได้อานิสงส์จากการเบิกจ่ายของรัฐเป็นตัวสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทย ส่วนการบริโภค-ลงทุนหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลผลิตที่ส่งขายหดตัวตามอุปสงค์ในและต่างประเทศ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9,112 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือน มี.ค.หรือไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 5-6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่หดตัว 4.3% ถือเป็นระดับต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ากลับดีขึ้น คือ หดตัว 0.9% ถึงบวก 0.2% จากไตรมาสก่อนที่เคยหดตัวอยู่ที่ระดับ 6.1% เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวเร่งที่สำคัญ และดุลการค้าสูงขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญให้ช่วยพยุงเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้

“เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ต้องติดตามดูว่าการใช้จ่ายภาครัฐมีการเร่งจ่ายและมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแค่ไหน พร้อมทั้งติดตามดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในรอบ 2 และโครงการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะงบการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ช่วยเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้ดี และเป็นส่วนหนึ่งของกำลังใจให้เอกชนมีการลงทุนมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยอยู่ โดยแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดี แต่ก็ยังคงมีความผันผวนอยู่ ประกอบกับเสถียรภาพการเมืองเป็นจุดที่สำคัญในการเบิกจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย”

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีก่อน และในไตรมาสนี้ยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่แม้จะมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ก็ตาม สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีอ่อนตัวอยู่ เช่นเดียวกับการลงทุนหดตัว 15.7% สูงกว่าไตรมาสก่อนที่หดตัว 3.6% โดยเครื่องชี้ทุกตัวลดลงอย่างมากตลอดทั้งไตรมาส เนื่องจากผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น ซึ่งได้รับผลจากปัญหาเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำและดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการยังมีความกังวลอยู่

ส่วนการผลิตเพื่อเพื่อการขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออกหดตัวจากเดือนก่อน 8.8% และหดตัว 21.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามมาลดลงตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ต่างกับการผลิตเพื่อขายในประเทศและผลิตเพื่อการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในหมวดเครื่องดื่มผลิตเพิ่มขึ้นเกรงว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ด้านการผลิตเพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อหมวด Hard Disk Drive หลังจากในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.51ยอดตกมากจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ด้านต่างประเทศ การส่งออกหดตัวและเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตามหากไม่รวมการส่งออกทองคำมูลค่า 2,951 ล้านเหรียญ การส่งออกหดตัวถึง 25.8% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,593 ล้านเหรียญ หรือหดตัว 38.3% ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดดุล 1,365 ล้านเหรียญ และเมื่อนับรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 1,312 ล้านเหรียญลดลงจากรายรับการท่องเที่ยว ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9,112 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

“การนำเข้าหดตัวตามอุปสงค์ในอัตราที่สูง ไม่น่าจะเป็นสัญญาณแสดงรู้สึกหดหู่ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อการผลิตต่ำจะหวังให้ภาคเอกชนมีการลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นไปได้ยาก แต่กลับมองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่ต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศมีการออมมากกว่าการลงทุน ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อรัฐบาลให้สามารถนำเงินออมเหล่านี้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต้องไปแย่งภาคเอกชน”

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน มี.ค.ยังคงเป็นเงินทุนไหลออกสุทธิ 1,459 ล้านเหรียญ โดยนักลงทุนต่างชาติมีการขายพันธบัตรของ ธปท.และรัฐบาล ส่วนภาคธุรกิจธนาคารเกิดจากผู้ส่งออกมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศน้อยลง ทำให้เมื่อครบกำหนดนำเงินเหล่านั้นส่งออกไปต่างประเทศ

ขณะเดียวกันทั้งภาคธนาคารและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารมีการทำสินเชื่อการค้าน้อยลงเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารยังคงเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในทุนเรือนหุ้นและการนำเข้าเงินกู้ในเครือเป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิ 2,953 ล้านเหรียญ

นางอมรากล่าวว่า ขณะนี้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นบ้างมาอยู่ที่ระดับ 1.9% ในเดือน ก.พ. เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 1.5% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ส่วนภาคอื่นๆ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากการจ้างงานนอกภาคเกษตร 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ทำงานล่วงเวลา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.8%ต่อวันในเดือน มี.ค.เทียบกับเดือน ก.พ.อยู่ที่ระดับ 5.07%”

ส่วนปัญหาโรคไข้หวัดเม็กซิโกในขณะนี้ ธปท.ประเมินว่าอาจมีผลต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่น แต่ผลกระทบต่อการส่งออกให้ต่างชาติต้องการสินค้าไทยน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศมากกว่าที่จะส่งออก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนไทยมีการส่งออกเนื้อหมูแค่ 0.1%ของการส่งออกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบรุนแรงอาจกระทบการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.จับตาอย่างใกล้ชิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น