xs
xsm
sm
md
lg

ใช้จ่ายภาครัฐเพื่ออะไรและงบประมาณขาดดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล CFA
ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
อีเมล์ : arunsak@scbq.co.th


เห็นข่าวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านถกเถียงกันถึงเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐทั้งโครงการใหม่ๆ และนโยบายการช่วยเหลือโดยรัฐบาล (Subsidy) ในแง่ของความคุ้มค่าและความผิดปกติต่างๆแล้วรู้สึกดีใจว่า วันนี้สังคมให้ความสนใจและขอมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงตั้งคำถามกับการนำเงินภาษีอากรของประชาชน (ขอย้ำ - ไม่ใช่เงินของรัฐบาลและนักการเมือง) ไปใช้โดยรัฐบาล ในอดีตเรื่องแบบนี้เหมือนจะเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนแทบจะไม่สามารถเข้าไปแตะได้เลย สิ่งที่จะกล่าวต่อไปเป็นหลักการทั่วไปของการใช้จ่ายภาครัฐว่า จุดประสงค์ที่สำคัญของการใช้เงินแต่ละบาทนั้นเพื่ออะไรกันแน่

เป้าหมายของการใช้จ่ายภาครัฐ
เพื่อกระจายรายได้และความมั่งคั่งให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น (Wealth Distribution)
ตัวอย่างหนึ่งของจุดประสงค์ดังกล่าวได้แก่ ระบบประกันสังคม (Social Security System) ซึ่งในทางหลักการคือการจัดตั้งระบบเพื่อที่จะกระจายรายได้ของประชาชนให้ทั่วถึงให้มากที่สุด และเพื่อลดช่องว่างของมาตรฐานการดำรงชีพระหว่างคนรวยและคนจนให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนว่างงานหรือไม่สามารถจะทำงานหารายได้ให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

เพื่อควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามนโยบาย
ได้แก่การใช้จ่ายผ่านหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการใดๆที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมโดยรวมเป็นหลัก (Public Interest) ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างได้แก่ การมีหน่วยงานของรัฐที่มีเจ้าหน้าที่และระบบที่คอยควบคุมการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรมและให้มีการแข่งขันอย่างเสรี (Fair Trade and Fair Competition)

เพื่อสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Allocation Efficiency)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดสรรเงินรายได้ของรัฐผ่านนโยบายของรัฐบาลและในระหว่างการดำเนินการจริง ประเด็นสำคัญได้แก่ ความพยายามที่จะทำให้มีการจัดสรรและการนำเงินงบประมาณไปใช้อย่างมีประสิทธิผลให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน เนื่องจากการใช้เงินของรัฐดังกล่าวจะผ่านข้าราชการและนักการเมืองซึ่งมักจะไม่มีกลไกในการควบคุมจากประชาชน (เจ้าของเงิน) อย่างเพียงพอในแง่ของประสิทธิภาพ ในบางประเทศ ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตทำให้เกิดการรั่วไหลเพิ่มขึ้นอีก

เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค
การใช้จ่ายเพื่อสาธารณะโดยรัฐบาลมีบทบาทอย่างสูงในการช่วยปรับหรือควบคุมอุปสงค์โดยรวมในระบบเศรษฐกิจ ในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยซึ่งการใช้จ่ายและการลงทุนโดยเอกชนและผู้บริโภคมีความอ่อนแอนั้น การเพิ่มระดับการใช้จ่ายภาครัฐจะช่วยทำให้เกิดการใช้อุปทานของสินค้าและบริการที่สะสมจนเป็นส่วนเกินมากขึ้น และทำให้สามารถประคับประคองภาวะที่ย่ำแย่ให้สามารถผ่านพ้นไปได้จนกว่าภาคเอกชนจะกลับมาใช้จ่ายลงทุนเหมือนเดิมซึ่งจะเป็นช่วงที่รัฐอาจจะลดบทบาทดังกล่าวให้น้อยลงและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนในการเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป อย่างเช่น ถ้าเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิม GDP เป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น รัฐก็จะมีการใช้จ่ายเรื่องของระบบประกันสังคมน้อยลงในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับคนว่างงาน

การกู้ยืมโดยรัฐบาลและงบประมาณขาดดุล
ระดับภาระหนี้ของรัฐที่เกิดจากการกู้ยืมเพิ่มเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนิน Fiscal Policy และการบริหารกิจกรรมต่างๆในระบบเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลหมายถึง ในปีนั้นๆ ค่าใช้จ่ายของรัฐมากกว่าเงินรายได้ที่รัฐบาลเก็บได้จากภาษีรูปแบบต่างๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำการกู้ยืมเพิ่มจากการออกพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผ่านธนาคารกลางซึ่งผู้ซื้อมีทั้งสถาบันการเงินและประชาชนทั่วไป

งบประมาณขาดดุลหากมีขนาดการขาดดุลมากเกินไปอาจจะกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาต่อรัฐบาลและเศรษฐกิจได้ อาทิเช่น
1. การจัดหาเงินที่ขาดดุล
งบประมาณขาดดุลจำเป็นต้องถูก Finance โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อออกขายให้นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สิ่งที่เป็นปัญหาคือถ้าหากจำนวนอุปทานของพันธบัตรดังกล่าวมีจำนวนมาก รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อดึงดูดผู้ลงทุน ผลก็คือในระยะยาว รัฐบาลจำเป็นต้องเก็บภาษีมากขึ้น และทำให้เงินได้ของภาคเอกชนและผู้บริโภคน้อยลง การใช้จ่ายและลงทุนก็น้อยตามไปด้วย

2. ภาระหนี้ภาครัฐจำนวนมหาศาล
ระดับภาระหนี้รวมที่สูงของรัฐ หมายถึงรัฐบาลต้องสำรองเงินส่วนหนึ่งไว้จ่ายดอกเบี้ยด้วย ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) จากเงินค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะแทนที่จะต้องนำไปชำระเป็นผลตอบแทนให้กับเจ้าของพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว รัฐอาจจะนำไปใช้ในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่าได้ เช่น ใช้ในโครงการการพยาบาลรักษาสุขภาพหรือการศึกษา

3. การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่เกิดประโยชน์
สัดส่วนของ GDP ที่เกิดจากภาครัฐยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลเสียต่อการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะยาว จากความเชื่อที่ว่าการรั่วไหลของการใช้งบประมาณโดยภาครัฐนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าถ้าเปรียบเทียบกับภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น