ศาลรัฐธรรมนูญนัด 3 มิ.ย.ชี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ล้านชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังฝ่ายค้านแจงศาล รัฐกู้เงินมีวาระซ่อนเร้น หวังใช้ปิดหีบงบปี 52 ชี้พิรุธคนรับผิดชอบบอกไม่ออกเป็น พ.ร.ก.ก็ได้ สะท้อนไม่จำเป็นจริง ขณะที่ “กรณ์” ชักแม่น้ำทั้งห้าอ้างออก พ.ร.ก.ไม่ได้เศรษฐกิจหนักกว่านี้
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อรับฟังคำชี้แจงกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185 กรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 หรือวรรค 2 หรือไม่ โดยตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเดินทางมารอเข้าชี้แจงตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง และการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 10 คนที่มาปราศรัยโจมตีการจะออก พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในการชี้แจง ทั้ง 2 ฝ่ายต่างนำเสนอข้อมูลหักล้างกันในประเด็นว่าการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านในฐานะผู้ร้อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้แจง ระบุว่า ฝ่ายผู้ร้องไม่เห็นความจำเป็นในการขอออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แม้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ นายพฤติชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง และอธิบดีกรมบัญชีกลางเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์เองว่าสภาพคล่องของประเทศยังดีอยู่ รอได้ถึงสิ้นปีงบประมาณแล้วค่อยกู้ก็ได้ และการกู้เงิน 4 แสนล้านก็เกินความจำเป็น
นอกจากนี้ โครงการไทยเข้มแข็งปี 2555 ที่รัฐอ้างว่าการกู้เงิน 4 แสนล้านเป็นความเร่งรีบในระยะที่ 1 แต่ถ้าตรวจสอบแล้วจะเห็นว่าเป็นความเร่งรีบระยะที่ 2 โดยเงินดังกล่าวจะนำมาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ 1.43 แสนล้าน และโครงการจะเริ่มตั้งแต่ปี 53-55 จึงเกิดคำถามว่าแล้วทำไมจึงต้องมาเร่งกู้ในปี 52 อีกทั้งโครงการก็ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้ากระตุ้นจริงต้องใช้เงินลงทุนปี 52 อย่างโครงการสาธารณะที่รัฐบาลระบุไว้ เช่น โครงการปลูกต้นไม้ บ้านพักให้ข้าราชการ ก็ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการสาธารณะเลย การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน จึงเป็นเพียงความต้องการที่จะเอามาปิดหีบงบประมาณ 52 ที่ขาดอยู่ 1.11 แสนล้าน ส่วนอีก 2.88 แสนล้านเป็นการเอาไปลงทุน แล้วที่รัฐอ้างว่าต้องเร่งกู้ มิเช่นนั้นจะเกิดการตกงานจำนวนมาก แต่รัฐก็ไม่ได้ระบุว่าจะมีการจ้างงานจำนวนเท่าใด
“นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ให้มองในทางร้ายที่สุดว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ผ่านก็ยังมีวิธีการอีกหลายวิธี แสดงว่ารัฐบาลยังมีทางออกอื่นในการดำเนินการ เช่น แก้กฎหมายต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มเพดานเงินกู้ หรือแก้ไขเพิ่มเติมงบประมาณปี 52 เป็นครั้งที่ 2 ก็ได้ จึงอยากให้คณะตุลาการฯช่วยพิจารณาว่ารัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงหรือไม่ อีกทั้งจากที่ตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการในโครงการแผนงานต่างๆ ที่รัฐบาลเสนอก็มีวาระซ่อนเร้นอยู่ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ จึงคิดว่าการกู้เงินครั้งนี้ควรมีการออกเป็นพระราชบัญญัติที่ผ่านสภา เพื่อที่จะได้มีการตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต ใช้เงินผิดประเภท เพราะการออกเป็น พ.ร.ก.นั้นจะทำให้สูญเสียวินัยในการบริหารเงินโดยฝ่ายค้านพร้อมให้การสนับสนุนด้วยการผ่าน 3 วาระรวด ถ้ารัฐบาลสามารถชี้ให้เห็นว่าการกู้เงินนี้จะเป็นประโยชน์จริง”
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าชี้แจง นายสุรพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า คิดว่าฝ่ายค้านคงแพ้ตั้งแต่ยังไม่ชี้แจง เพราะเท่าที่ฟังจากการพูดของนายกฯ และนายกรณ์ดูมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไฟเขียวให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ได้ แต่ก็อยากชี้แจงให้ตุลาการทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ที่รัฐบาลซ่อนเร้นอยู่
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ในฐานะตัวแทนรัฐบาลชี้แจงว่า ขณะนี้ประเทศประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากรับผลกระทบเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปลายปี 51 มูลค่าการส่งออกหดตัวลง รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ธุรกิจปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้น หนี้เสียก็เพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีจากเดิม 3 ไตรมาสแรกของปี 51 บวกร้อยละ 5.1 แต่พอไตรมาสที่ 4 กลับหดตัวลงร้อยละ 4.2 และในไตรมาสแรกของปี 52 ก็หดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการแก้เศรษฐกิจทั้งช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ การใช้มาตรการทางภาษี การช่วยสภาพคล่องทางการเงินของภาคการผลิต ช่วยเกษตรกรฐานราก ลดภาระค่าใช้จ่าย ทำงบประมาณปี 52 เพิ่มเติม 1.16 แสนล้าน แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น ซ้ำยังมามีปัญหาจากการไม่สามารถจัดประชุมอาเซียน และผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้จีดีพีหดตัวลงร้อยละ 5.1 รัฐบาลจึงมีมาตรการไทยเข้มแข็งปี 52-55 โดยเน้นการลงทุน เพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นวงเงิน1.43 ล้านล้าน และคาดว่าจะเกิดการจ้างงาน 4-5 แสนคน
นายกรณ์กล่าวอีกว่า แต่การนำงบประมาณมาใช้ก็มีข้อจำกัดในส่วนของกฎหมาย จึงต้องมีการตรากฎหมายพิเศษขึ้นมา โดยจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน และออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 4 แสนล้าน ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรกู้เงินมาฟื้นฟู มิให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ โดยเงินที่กู้มาจะมาสมทบเงินคงคลังและใช้จ่ายในโครงการบริการสาธารณะ อีกทั้งการจัดเก็บรายได้ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า รัฐบาลขาดดุลการคลังสูงกว่ากรอบเพดานเงินกู้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยการขาดดุลปี 52 อยู่ 3.5 แสนล้าน และมีกรอบเงินกู้อยู่ที่ 4.4 แสนล้าน แต่คาดว่ารายได้จากการจัดเก็บจะอยู่ที่ 2.8 แสนล้าน ดังนั้นการขาดดุลงบประมาณทั้งหมดจะอยูที่ 6.5 แสนล้าน ซึ่งถือว่าเกินกรอบเงินที่จะกู้มาอยู่ 2 แสนล้าน
“การลงทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งที่จะเบิกจ่ายตั้งแต่ปี 52-53 ยังขาดอีกประมาณ 2.3 แสนล้าน ดังนั้น เราต้องมีอำนาจกู้เงินด่วนเพื่อดำเนินโครงการ หากไม่รีบเศรษฐกิจจะหนักกว่านี้ ผู้ประกอบการจะขาดทุน สายป่านจะขาด เกิดการลดการผลิต ลดการจ้างงาน และปิดกิจการ เป็นปัญหาสังคม และยังจะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นส่งผลต่อปัญหาของประเทศ และการแก้ยากกว่าการป้องกันไม่ให้เกิด การใช้จ่ายภาครัฐจึงมีความจำเป็น การขึ้นภาษี หรือการขายทรัพย์สินของรัฐไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม เราจึงต้องดำเนินการก่อนที่ปัญหาเศรษฐกิจจะลุกลามใหญ่โตไปสู่ภาคอื่นๆ และการชะลอการลงทุน กลับจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ และหากจะออก พ.ร.ก.แก้ไขเพดานหนี้สาธารณะก็จะส่งผลให้เสียวินัยการเงินอย่างถาวร”
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการออก พ.ร.ก.ครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณางบประมาณมาตรา 23 วรรคหนึ่งและมาตรา 24 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ เรามีนโยบายกู้เงินในประเทศอีก 9.4 หมื่นล้าน จึงไม่เข้าข่ายการทำสัญญากับต่างประเทศที่ต้องรายงานสภาตามมาตรา 190
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทั้ง 2 ฝ่ายใช้เวลาในการชี้แจงรวมประมาณ 40 นาที โดยไม่มีการซักถามจากคณะตุลาการ จากนั้นนายบุญส่งก็อ่านกระบวนวิธีพิจารณา พร้อมกับนัดคู่กรณีให้ส่งคำแถลงปิดคดีมาภายในวันที่ 3 มิ.ย. ก่อนที่คณะตุลาการจะแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันเดียวกันเวลา 10.00 น.