xs
xsm
sm
md
lg

ยันปรับลดงบปี53ไม่กระทบลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – กระทรวงการคลังระบุลดงบปีหน้า 2 แสนล้านบาทไม่กระทบเงินลงทุน ยืนยันใช้เงินกู้ 4 แสนจากกรอบเงินกู้ 3 ปี1.56 ล้านล้าน รวมกับงบประจำอีก 3 แสนล้านสานต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการปรับลดวงเงินรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 2 แสนล้านบาท ว่า เป็นการปรับลดในส่วนของงบลงทุนประมาณแสนกว่าล้านบาท ที่เหลือเป็นการปรับลดในส่วนของงบประจำ ซึ่งลดลงได้ไม่มากนัก งบประจำที่ลดลงนั้นจะไม่กระทบโครงการที่วางไว้เดิมเพราะจะโอนไปใช้เงินในส่วนของงบลงทุนโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท เป็นการปรับลดโครงการเอสเอ็มแอล และงบประจำส่วนของงบดูงานและงบประชาสัมพันธ์ ส่วนงบชำระเงินคงคลังนั้นปี 2553 ไม่ได้มีการตั้งไว้อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ได้ตั้งชดเชยไปแล้วในปี 2552 กว่า 4 หมื่นล้านบาทหากมีการนำเงินคงคลังออกไปในในปีนี้ก็จะต้องไปตั้งในปีงบ 2554 แทน

“ในส่วนของงบลบลงทุน 1.56 ล้านล้านบาทที่จะกู้เงินมาใช้ลงทุน 3 ปีคือปี 2553-2555 นั้น ปี 2553 คาดว่าจะใช้ได้จริงประมาณ 4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับงบลงทุนที่เหลือในงบประมาณรายจ่ายอีก 3 แสนล้านบาท รวมเป็นงบลงทุน 7 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ภาคเอกชนยังไม่ไม่มีความเชื่อมั่นและกล้าลงทุน”นายสมชัยกล่าวและว่า หากการเมืองในประเทศนิ่งและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นเชื่อว่างบลงทุนและงบประมาณปี 2553 ที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งการขาดดุล 3.5 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอนการพยุงเศรษฐกิจได้

จี้หน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่ายกระตุ้น ศก.

สิ่งที่สำคัญคือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่า ซึ่งขณะนี้มีคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณดูแลอยู่แล้วและการรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนถือเป็นสิ่งที่ดีเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตรงจุดและมีมาตรการเฉียบขาดออกมากระตุ้นให้ทุกส่วนราชการเร่งใช้เงิน รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจด้วยก็จะทำให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

“แม้ว่า 6 เดือนที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณจะมีสัดส่วนเพียง 54% แต่เชื่อว่าหากมีการติดตาการเบิกจ่ายอย่างใกล้ชิดและมีมาตรการเฉียบขาดออกมาเช่นการตัดงบส่วนที่ใช้ไม่ทันหรือโยกงบระหว่างหน่วยงานก็น่าจะทำให้การเบิกจ่ายทำได้ตามเป้าหมาย 94% หรืออย่างน้อยก็ 90%เพราะส่วนใหญ่ส่วนราชการจะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายอยู่แล้ว” นายสมชัยกล่าว

สำหรับการบริหารเงินสดนั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้วไม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายงบเข้ามา เพราะล่าสุดเงินคงคลังได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยปรับลดลงไปต่ำสุดเหลือ 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท จากการจัดเก็บรายได้ในช่วงเดือนมีนาคมของกรมสรรพากรที่เข้ามามากทำให้มีเงินนำส่งคลังมากขึ้น ซึ่งถือว่าไม่น่าห่วงเพราะสามารถสำรองเบิกจ่ายได้อีก 2 เดือน.
กำลังโหลดความคิดเห็น