xs
xsm
sm
md
lg

อย่าลืมแหล่งเงินจากภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน และรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะคลื่นลมสงบ ประชาชนก็มีความมั่นใจที่จะใช้จ่าย ภาคเอกชนก็พร้อมจะลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปลงทุนอะไรมากนัก และหากเศรษฐกิจดี ประชาชนและธุรกิจเอกชนก็มีรายได้ดี ทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้มาก มีรายรับมากกว่ารายจ่าย รัฐจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน อีกทั้งสามารถบริหารงบประมาณแบบเกินดุล มีเงินคงคลังเหลือ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีเงินคงคลังสูงถึง 4 แสนล้านบาทก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

 แต่เมื่อไรก็ตาม ยามที่เศรษฐกิจเกิดประสบกับมรสุม พายุโหมกระหน่ำ ประชาชนเกิดความระส่ำระสาย ไม่มั่นใจ ภาคเอกชนชะลอการลงทุน เงินที่รัฐพึงจะได้ก็จะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาเล่นบทบาทแทนภาคเอกชนในการที่จะเป็นผู้นำในการลงทุน ส่วนจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับพละกำลังของรัฐบาลซึ่งถ้ามีน้อยก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มจำนวนมาก

 เมื่อรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหาเงินเข้ามา การบริหารงบประมาณก็จะเป็นแบบขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดยจะต้องกู้เงินเพื่อเข้ามาเสริมรายจ่ายให้เพียงพอ ซึ่งก็มีกรอบงบประมาณที่กำหนดไว้โดยรัฐบาลสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย เช่น ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่าย 1.7 ล้านล้านบาท จึงสามารถกู้เงินได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% คือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

 ดังนั้น ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน รัฐซึ่งมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลประชาชนทุกคนให้อยู่ดี กินดี มีรายได้ ไม่เดือดร้อน เม็ดเงินที่จะใช้อาจจะต้องมากกว่าปกติ กรอบการกู้เงินที่กำหนดไว้อาจจะไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.กรอบการกู้เงินให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 วิธีเป็นแนวทางในการที่จะได้มาของเม็ดเงินจากการกู้
แต่อย่างไรก็ตาม การได้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินนั้น ก็ต้องเกิดภาระหนี้ ซึ่งเมื่อประเทศมีภาระหนี้มากก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและพึ่งพาเงินกู้น้อย เรียกว่าการบริหารหนี้ประเทศอย่างมีวินัยก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 ถึงแม้แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันจะหลีกหนีการกู้เงินไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่รัฐบาลเองก็ต้องมีมาตรการที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ทั้งแผนระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว เช่น การบริหารจัดการในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณต่อปีจะอยู่เพียง 90% ซึ่งส่วนที่เหลือนั้นถ้าคิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินแล้วก็มีจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

 ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ทำให้เกิดภาระหนี้ภาครัฐลดลง แต่ยังคงให้ผลทางเศรษฐกิจเท่าเดิม

 นอกจากนี้ ยังสามารถระดมทุนจากประชาชนโดยตรง เช่น การตั้งกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน แล้วขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชน ซึ่งในปัจจุบันเชื่อว่ายังมีคนที่มีเงินและต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก

  ขณะที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการประหยัดทรัพยากรภาครัฐ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งถือเป็นช่องทางการระดมทุนในการพัฒนาประเทศในระยะยาว
 ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 60 กว่าแห่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก ทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งถ้าเกิดการแปรรูปจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการแข่งขันและดำเนินงาน รวมไปถึงรัฐก็ไม่ต้องใส่เงินลงทุนให้กับรัฐวิสาหกิจ สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อย่างมากมาย  ลดภาระในงบประมาณของชาติ
 อย่างไรก็ตาม สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คงต้องมาพิจารณากันให้ละเอียดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่ารัฐวิสาหกิจไหนสมควรและเหมาะสมที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบ้าง เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป 
 ..ท้ายที่สุด คงต้องให้กำลังใจกับทุกฝ่าย ให้ทุกคนมีแรงใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มองเศรษฐกิจเสมือนชีวิตมนุษย์ ที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง มี  รุ่งเรือง ถดถอย ตกต่ำ และฟื้นตัว  
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
รองคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า (GSPA NIDA)

กำลังโหลดความคิดเห็น