xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเข้มแข็งคึกกู้งวดแรกก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ คาดปีนี้เศรษฐกิจติดลบ 3-5% ส่วนปีหน้าเป็นบวก 1.2% "กรณ์" เล็งขยายการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน จาก 2% เป็น 10% หรือมูลค่า 1.4 แสนล้าน รวม 500 โครงการภายใต้ "ไทยเข้มแข็ง 2555" ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน ผลิตไฟฟ้า รถไฟฟ้า ต่อขยายมอเตอร์เวย์ ส่วนแผนเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ดีเดย์ไตรมาส 3 ปีนี้ 1.5 แสนล้าน แบ่งอุดเงินคงคลัง 1.2 แสนล้าน อีก 3 หมื่นล้านลงทุน คลังจับมือแบงก์ชาติแก้กฎหมายทุนสำรอง หวังดึงเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน โดยมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นความโชคร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลทุกครั้งต้องเป็นช่วงเกิดวิกฤต ทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาทำได้ยาก แต่ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยรัฐบาลได้นำบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาเป็นบทเรียน และได้มีการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ซึ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว เนื่องจากมีสัญญาณชี้ให้เห็นว่า จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยผ่านไปแล้ว โดยดูจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้น ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 มาอยู่ที่ระดับ 600 จุด หลังจากปรับลดลงอยู่ที่ 400 จุด ในช่วงปลายปีก่อน ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ในส่วนเงินกู้ 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า และพร้อมรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และแม้ว่าการกู้เงินดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับสูงสุดที่ระดับ 60 แต่เชื่อว่ายังอยู่ในระดับที่รัฐบาลบริหารจัดการได้
"แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาทั้งหมด จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวที่ระดับติดลบร้อยละ 3-5 ส่วนปีหน้าคาดว่า จะขยายตัวได้เป็นบวกที่ร้อยละ 1.2" นายกรัฐมนตรีย้ำและว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงการแต่ละโครงการใช้เงินบาทในการลงทุน และหากนำเงินสำรองที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมากระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ การออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. จะเป็นการกู้เงินในประเทศและออกพันธบัตร 5 ปี โดยมีดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 2.5 นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ได้เตรียมให้รัฐมนตรีทุกคนเตรียมลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ในโครงการไทยเข้มแข็งทุกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะได้กำหนดการในเร็ว ๆ นี้

***ดึงเอกชนเข้าไทยเข้มแข็งเพิ่ม
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า เพื่อให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข้ง 2555 ในวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาทมากขึ้น รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) มากขึ้น จากเดิม 2% หรือเม็ดเงินลงทุนที่ 2.8 หมื่นล้านบาทเป็น 10% หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดจะดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐที่มีโครงการลงทุนในโครงการนี้ได้ถึง 500 โครงการ
นอกจากนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและความเข้มแข็งของประเทศไทยในระยะยาว รัฐบาลเตรียมจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5-10 ปี โดยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระบบการศึกษา เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาสร้างปัญหาทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศเกิดขึ้นได้ยาก และเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง กระทรวงการคลังเตรียมจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดทุนเพื่อเปิดเสรีตลาดการเงินและตลาดทุนให้มากขึ้น เพื่อเปิดรับผู้แข่งขันจากภาคเอกชนไทยและต่างประเทศให้เข้ามาในระบบมากขึ้น
"เรายึดหลักว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างเข้มแข็งได้ ต้องมีการแข่งขันเต็มที่ จึงมีการพิจารณาถึงการเปิดเสรีในตลาดทุนและตลาดเงิน โดยปัจจุบันในตลาดทุนไทยเราเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ 100% อยู่แล้ว แต่ในธนาคารพาณิชย์ เรายังมีเกณฑ์ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49% แต่หากมีความจำเป็นและความเหมาะสมที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่ม กระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนก็พร้อมจะปลดล็อกหากเห็นว่าจะสร้างประโยชน์กับประชาชน" นายกรณ์กล่าว

***ร่วม ธปท.แก้ กม.ใช้ทุนสำรองฯ
นายกรณ์เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงมากคือ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ประเด็นที่กำลังศึกษาคือระดับทุนสำรองฯ ที่เหมาะสม เป้าหมายเพื่อลดภาระการมีทุนสำรองมากเกินไป พร้อมพิจารณาแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำทุนสำรองฯ ส่วนเกิน ไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะต่อไป
"แบงก์ชาติจะมีบทบาทในการเข้ามาดูแลสภาพคล่องในระบบและรักษาให้สภาพคล่องมีเพียงพอ เพื่อให้รัฐบาลเข้าถึงแหล่งเงินได้ โดยไม่กระทบกับต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด อย่างไรก็ตาม ทุนสำรองระหว่างประเทศจะไม่ถูกนำมาลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้ในประเทศมีสภาพคล่องรองรับอยู่แล้ว"

***เร่งกู้อุดเงินคงคลัง 1.2 แสนล้าน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนว่า ที่ประชุมมีมติที่จะให้จัดสรรการลงทุนลักษณะร่วมทุนกับเอกชนให้ได้ 10% ของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 1.43 ล้านล้านบาทหรือ 1.4-1.5 แสนล้านบาท
โดยจะเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ เช่น การบิน ผลิตไฟฟ้า โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ เช่น รถไฟฟ้า โครงการทางหลวงพิเศษต่อขยายมอเตอร์เวย์ และโครงการ โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีภาระผูกพันในงบประมาณในอนาคต เพราะโครงการดังกล่าวจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม ดังนั้นจึงเป็นลักษณะเอกชนลงทุนก่อน แล้วรัฐบาลตั้งภาระผูกพันชดเชยให้ในภายหลัง
“เราแบ่งโครงการในลักษณะเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลถึง 1.4-1.5 แสนล้านบาท เพราะเห็นถึงประสิทธิภาพของเอกชนในการที่จะเข้ามาลงทุน จากเดิมที่มีเงินลงทุนเพียง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงโครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้าและสีม่วง ก็ควรจะขยายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องการลดภาระหนี้ของรัฐบาลลงด้วย เพราะหากแบ่งให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดคาดว่า 1-2 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดว่าโครงการใดบ้างจะมาทำเป็นแบบ PPP”นายพงษ์ภาณุกล่าว
นายพงษ์ภาณุเปิดเผยถึงแผนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกฉิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นสมทบเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาทและโครงการลงทุน 2 แสนล้านบาท ว่า หลังจากผ่านสภา จะมีการกู้เงินตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) รวม 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสมทบเงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท และโครงการลงทุน 3 หมื่นล้านบาท
"ภายในสิ้นกันยายนนี้ สบน.จะต้องกู้เงินทันที 1.2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาสมทบเงินคงคลังไม่ให้ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่เงินคงคลังลดลงเหลือ 6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคลรอบ 2 ในเดือนสิงหาคมจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย"
ส่วนระยะถัดไปคาดว่าจะกู้เงินสมทบเงินคงคลัง 8 หมื่นล้านบาท เพื่อการลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ภายในไตรมาสแรกปีหน้า อีก 3 ไตรมาสที่เหลือก็จะทยอยกู้เพื่อลงทุนอีกไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาท ก็จะครบตาม พ.ร.ก.เงินกู้รวม 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งเพื่อการลงทุนล็อตแรก 3 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยจะคงที่ใน 2 ปีแรกและปรับเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ปีที่ 3 คาดว่าจะสามารถขายได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมนี้เลย ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการที่เสนอไปแล้ว ที่เหลือจะแบ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 และ 5 ปี ตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นการกู้ระยะสั้นโดยตรงจากธนาคารพาณิชย์อายุไม่เกิน 6 เดือน และบางส่วนจะเป็นการออกตัวสัญญาใช้เงิน (PN) ซึ่งเป็นการกู้ระยะยาวโดยตรงจากธนาคารพาณิชย์อายุมากกว่า 4 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้ร่วมของธนาคารพาณิชย์ สามารถเบิกจ่ายได้ตามโครงการ จะประกาศรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 3 เดือนนี้
อย่างไรก็ตาม แผนการกู้เงินของ สบน. นอกจากอำนาจกู้เงินในประเทศ 8 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก.และพ.ร.บ.แล้ว สบน.ยังมีวงเงินกู้ต่างประเทศอีก 10% ของงบประมาณรายจ่ายหรือ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือ 8 หมื่นล้านบาท เพราะได้กู้ไปแล้ว 1 แสนล้านบาท นอกจากนั้นยังมีเงินกู้จากธนาคารโลก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐและจากไจก้าและธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อีกแห่งละ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงยังมีสภาพคล่องพอในการบริหารจัดการภาระหนี้ให้กับรัฐบาล แต่ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมและต้นทุนที่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาลมากนักด้วย

***ส่งงบขาดดุลรับไทยเข้มแข็งให้สภา
รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (9 มิ.ย.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้เสนอบันทึกวิเคราะห์สาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณราย จ่ายประจำปี 2553 ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยสรุปสาระสำคัญในปีงบประมาณ 2553 ไว้คือ 1. ดำเนินนโยบายขาดดุลควบคู่กับการลงทุนผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลังและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ 2.ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามแผนการปฏิบัติราชการแผ่นดิน พ. ศ.2552-2554 และแผนปฏิบัติราชการอย่างจริงจัง 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 4.กำหนดรายจ่ายลงทุนในระดับที่เหมาะสมกับวงเงินงบประมาณที่ลดลง เพื่อสมทบกับรายจ่ายลงทุนที่สำคัญซึ่งรัฐบาลจะใช้แหล่งเงินอื่น
5.สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอย่างต่อ เนื่องตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ 6.ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบนโยบายงบประมาณข้างต้นในงบประมาณปี พ.ศ.2553 รัฐบาลจึงกำหนดเป็นงบประมาณขาดดุล โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 1,700,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี2552 จำนวน 251,700 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 12.9และประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 1,350,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยกำหนดเป็นวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 350,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับโครงสร้างงบประมาณประกอบไปด้วย1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 มีจำนวนลดลงจากงบประมาณปี2552 จำนวน 251,700 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 12.9 2.รายจ่ายประจำที่กำหนดไว้จำนวน 1,436,389.9 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณพ.ศ.2552จำนวน 25,007.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ1.8 3.รายจ่ายลงทุน ได้กำหนดไว้เป็นจำนวน 212,689.2 ล้านบาทลดลงจากปี 2552 จำนวน 217,272.6 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ50.5 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่จัดสรรไว้จำนวน 50,920.9 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2552 จำนวน 12,755.2 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 20.0
นอกจากนั้นหากจำแนกงบประมาณปี53 ตามรายกระทรวงพบว่า อันดับ1 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 345,665.4801 ล้านบาทหรือ 20.3% อันดับ 2กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรร 215,886.1197ล้านบาทหรือคิดเป็น 12.7% อันดับ 3 งบกลางจำนวน 215,006.8352 ล้านบาทหรือคิดเป็น 12.7% อันดับ 4 กระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรร 185,993.8019ล้านบาทหรือคิดเป็น 10.9% อันดับ 5 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรร 154,708.6724 หรือคิดเป็น 9.1% ตามด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คิดเป็นร้อยละ3.3 และกระทรวงคมนาคมคิดเป็นร้อยละ 3.0
การจัดสรรงบประมาณประจำปี53 ได้จัดสรรตามยุทธศาสตร์ 8 ด้านคือ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 144,591.4 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัฐจำนวน 173,192 ล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตจำนวน 506,640.2 ล้านบาท 4.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพจำนวน 158,707.7 ล้านบาท 5.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจำนวน 29,719.4 ล้านบาท 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยจำนวน 11,960.8 ล้านบาท 7.ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจำนวน 7,357.7 ล้านบาท 8.ยุทธศาตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจำนวน 241,228.3 ล้านบาทและ9.รายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 426,602.5 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น