xs
xsm
sm
md
lg

คาดงบปี 53 ขาดดุล 4 แสน ล.หวั่น ศก.ไม่ฟื้น ลดความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กอร์ปศักดิ์” เผย ที่ประชุม ครม.วันนี้ เตรียมพิจารณากรอบงบประมาณปี 53 คาดตั้งขาดดุล 4 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงผลกระทบ ศก.โลก ยังลงลึก อาจกดันสรรพากรรีดภาษีหนักขึ้นเพื่อทำเป้า กระทบกระเป๋าประชาชน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2553 ซึ่งจะมีการประเมินจากข้อเท็จจริง คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะโตเท่าใด และงบประมาณรายจ่าย จะจัดแบบไหนโดยคงต้องมีการขาดดุลที่ตั้งไว้ไม่เกิน 4.3 แสนล้านบาท โดยต่ำกว่านั้น ขณะที่ งบสุทธิตั้งไว้ไม่เกิน 1.9 ล้านล้านบาท

ในงบปี 2553 นั้น หากพิจารณาถึงความจำเป็นใช้เงินของแต่ละหน่วยงานจะมีวงเงินรวมกันสูงถึง 3 ล้านล้านบาท แต่ในการจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงรายได้ด้วยหากมีข้อจำกัดก็ต้องกู้เงินมาชดเชย โดยอาจจะขาดดุลถึง 4 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้ภาวะทางการคลังเกิดการตึงตัวจนเกินไป เพราะตามกฎหมายแล้วสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้ไม่เกิน 4.3 แสนล้านบาท อนกจานั้นทุกหน่วยงานประเมินว่ารายได้ของรัฐบาลน่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนรายจ่ายจะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดทำงบปี 2553 จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริง โดยโครงการใดที่เห็นว่ายังไม่จำเป็น หรือยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จะชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นโครงการที่ช่วยสร้างงาน ช่วยกระตุ้นการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ ที่ต้องมีการประเมินการไว้ต่ำนั้น ต้องเผื่อว่า เศรษฐกิจโลก จะยังไม่ดีขึ้นขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจไม่ตรงเป้า จะเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ ตนเห็นว่ายังไม่มีการประเมินการรายได้ เพราะจะเป็นการกดดันกรมสรรพากร เพราะหากเจ้าหน้าที่ไปเก็บภาษีมากขึ้น ก็จะเป็นการกดดันประชาชนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า หากตัวเลขการส่งออกยังไม่ดี ก็จะมีการออกมาตรการ อีกทั้งคาดการณ์ว่าช่วงปลายปี เงินกู้ค้างจะลดลง รัฐบาลก็จะไปดูว่า มีสินค้าชนิดใดที่จะเข้าประเทศต่างๆ ได้บ้าง โดยจะเน้นประเทศจีน เป็นหลัก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า กรอบรายได้ของปีงบ 2553 น่าจะต่ำกว่ารายได้ตามที่คาดการณ์ในปีงบ 2552 ที่วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่รายจ่ายยังจำเป็นต้องกำหนดไว้ในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้งบประมาณปี 2553 ยังเป็นงบขาดดุลส่วนจะเป็นเท่าไรอยู่ที่ ครม.อนุมัติ

อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยนั้น รัฐบาลจะเน้นรักษาเสถียรภาพทางการคลังแม้การหาเงินจะทำได้ 2 ทางเลือกคือ การเพิ่มภาษีจากประชาชนและการกู้เงินจากแหล่งต่างๆ แต่รัฐบาลมองว่าขณะนี้การกู้เงินน่าจะเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มภาษีเพราะฐานะการคลังของรัฐบาลยังเข้มแข็ง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนมกราคม 2552 โดยระบุว่า รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 101,665 ล้านบาท จากการที่รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 90,752 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน 9,215 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.2% แต่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 192,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34,015 ล้านบาท คิดเป็น 21.5%

ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 58,737 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 42,928 ล้านบาท และรัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 19,000 บาท ส่งผลให้ดุลเงินสดรัฐบาล ขาดดุลจำนวน 23,928 ล้านบาท

**ยอมรับ 4 เดือนแรกรัฐขาดดุลเงินสด 2.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (งวดตุลาคม 2551 ถึงมกราคม 2552) รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 229,348 โดยรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 367,409 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ก่อน 59,231 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% แต่รายจ่ายรัฐบาล มีทั้งสิ้น 596,757 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 45,081 ล้านบาท คิดเป็น 8.2% และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 21,714 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดของรัฐบาลขาดดุล 251,062 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชดเชยการขาดดุลดังกล่าวโดยการออกพันธบัตรจำนวน 59,000 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 192,062 ล้านบาท

ด้าน นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ตนจะหาโอกาสหารือร่วมกับ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงเรื่องมาตรการภาษีที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกในภาคที่สำคัญต่อการทำรายได้เข้าประเทศ อย่างภาคส่งออกสินค้าเกษตร ประมง เพื่อรักษาระดับของการส่งออกไว้ให้ได้ในระดับที่น่าพอใจ

โดยเบื้องต้น รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ตนได้นำเรื่องมาตรการภาษีที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชนเสนอต่อ รมว.คลัง ไปในบางส่วนแล้ว และเชื่อว่า จะได้รับการพิจารณาอย่างดีที่สุด

นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวอีกว่า มาตรการภาษีในขณะนี้ถือเป็นมาตรการเดียวที่ภาคเอกชนยังคงมีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อรักษาระดับการส่งออกของประเทศไว้ หลังจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น