xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ยันจำเป็นขึ้นภาษีบาป กู้ 8 แสนล้านดันไทยเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “อภิสิทธิ์” แจงต้องขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำมัน เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไป 2 แสนล้าน พร้อมปรับลดงบปี 53 ให้ขาดดุลอยู่ที่ 350,000 ล้านบาท ส่วนการกู้เงินในประเทศ 8 แสนล้าน ก็เพื่อสภาพคล่องทางการคลัง และเพื่อการลงทุนตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ ตามแผนประเทศไทยเข้มแข็งในปร 2555 ยันทุกขั้นตอนโปร่งใส ชี้แจงได้ ด้าน “สภาพัฒน์” ให้รัฐเตรียมพร้อม หลังแจงธนาคารโลก กรณีเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง 1 พันล้านเหรียญ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวานนี้(10พ.ค.) ว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการตัดสินใจ และอนุมัติในเรื่องสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะกำหนดแนวยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออก หรือแม้กระทั่งการนำเข้าของเรา ไปจนถึงการท่องเที่ยวได้หดตัวอย่างรุนแรง นั่นหมายถึงว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้รับผลกระทบไปด้วย และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ติดลบ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกของปีนี้ ผลอย่างหนึ่งที่ตามมาด้วยก็คือเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การจัดเก็บภาษี ก็จะต่ำกว่าเป้าหมาย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันที่เข้ามารับตำแหน่ง เวลาของปีงบประมาณผ่านไปเพียง 3 เดือน ก็มีการประเมินว่า การจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท และเมื่อมาเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในทางการเมืองด้วย หลังจากที่เราได้ดูตัวเลขในช่วงต้นปีในทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ก็มีการคาดการณ์กันว่าการจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าถึง 2 แสนล้านบาทขึ้นไป ตรงนี้ก็ย่อมมีผลกระทบกับการบริหารจัดการทางด้านการเงินการคลังของรัฐบาล และที่สำคัญคือ การวางแผนเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ หรือกำหนดวงเงินงบประมาณ สำหรับปีงบประมาณที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ก็คือปีงบประมาณ 2553 ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย รัฐบาลได้ใช้เวลาในการที่ติดตามศึกษาปัญหาเรื่องนี้ และเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ได้มีมติครม.ออกมานั้น ก็เป็นการกำหนดแนวทางสร้างความชัดเจนแล้วว่า เราจะมีแนวทางในการเดินหน้าอย่างไร

เดินหน้ารีด “ภาษีบาป” หารายได้เข้ารัฐ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประการแรกในแง่ของการจัดเก็บรายได้ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นฐานภาษีที่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับ ก็มุ่งไปในเรื่องของภาษีบาป นั่นคือเรื่องของเหล้ากับบุหรี่ นอกจากจะเป็นการเอื้อต่อการที่เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังสอดคล้องกับแนวนโยบายทางด้านสาธารณสุข ในแง่ของสุขภาพของคนไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีเรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ เพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยในการปรับพฤติกรรมของประชาชนที่ยังสูบบุหรี่ ที่ยังดื่มเหล้าอยู่ด้วย

ในส่วนของเหล้านั้นจะทำได้ง่าย เพราะไม่ได้มีปัญหาเรื่องของเพดานภาษีที่จะจัดเก็บ เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บอยู่ก่อนหน้านี้ ไม่ได้เต็มเพดาน เพราะฉะนั้นได้มีการขยับเรื่องของภาษีของเบียร์ขึ้นไปชนเพดานจาก 55 เปอร์เซ็นต์ ไปที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็คงมีผลทำให้เบียร์มีราคาแพงขึ้น ขวดละประมาณ 4-6 บาท ซึ่งตรงนี้จะมีรายได้เข้าสู่รัฐปีหนึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8 พันล้านบาท

เมื่อปรับในเรื่องของเบียร์ขึ้นไปแล้ว สุราตัวอื่น แม้ว่าฐานภาษีจะแคบลง ก็ต้องมีการปรับตามขึ้น ยกเว้นสุราประเภทที่อัตราภาษีชนเพดานอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถขยับได้ เพราะฉะนั้นที่เราปรับก็จะมี สุราขาว สุราผสม และบรั่นดี โดยปรับขึ้นในสัดส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีของสุราขาว ที่ต้องระมัดระวังก็คือว่า มีเรื่องของสุราชุมชน เรื่องของโอทอป ที่ไปทำกันมากในช่วงหลัง ก็พยายามที่จะไม่ให้กระทบกับตรงนั้นมากจนเกินไป

สำหรับบุหรี่นั้น อัตราที่เก็บอยู่ก่อนหน้านี้ ชนเพดานแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการดำเนินการ ก็ต้องมีการขยับเพดานขึ้นไป และก็มีการปรับเพิ่มอัตราภาษี โดยหลักการเช่นเดียวกัน ก็จะดูราคา สมมติว่า ซองหนึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาท อันนี้คือบุหรี่ในประเทศ ถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลได้พิจารณา เพื่อที่จะดำเนินการ และคิดว่าเป็นการจัดเก็บภาษีที่จะสมเหตุสมผลที่สุด ในยามที่เราต้องการมีรายได้เพิ่ม

ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อีกตัวหนึ่งที่มีการพิจารณาในเรื่องของการปรับในเรื่องของเพดาน และอัตราการจัดเก็บคือ น้ำมัน ความจริงแล้วการจัดเก็บภาษีน้ำมันในบ้านเราก็ยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศมาก แต่รัฐบาลก็ตระหนักดีว่าน้ำมันเป็นต้นทุนที่สำคัญ เพราะฉะนั้นวิธีการที่เราใช้ในการบริหารจัดการ คือ ถ้ามีการขยับภาษีน้ำมัน เราก็จะใช้กลไกอีกตัวหนึ่ง คือ กองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเก็บเงินจากประชาชนที่ไปเติมน้ำมันเข้าสู่กองทุนนี้ และขณะนี้เงินกองทุนก็มีฐานะที่ดีพอสมควร สะสมอยู่ประมาณ 20,000 กว่าล้าน ถ้ามีการขยับภาษี เราก็จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม แต่ขณะเดียวกันผู้ที่ใช้น้ำมันก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

“ผมขอยืนยันนะครับว่า นอกเหนือจากภาษีเหล่านี้แล้ว รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะไปเพิ่มภาษีตัวอื่น เว้นเสียแต่นโยบายสำคัญซึ่งเคยพูดไปตั้งแต่ต้นก็คือ เรื่องของภาษีทรัพย์สิน และการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีมรดก แต่ว่าภาษี 2 ตัวนี้ คงยังไม่เริ่มต้นในเร็วๆ นี่ เพราะว่าจำเป็นที่จะต้องไปจัดทำเป็นกฎหมาย เนื่องจากเราไม่มีภาษี 2 ตัวนี้อยู่ก่อน เพราะฉะนั้น คงจะเป็นระยะเวลาอีกพอสมควร กว่าสิ่งเหล่านี้จะมีผลมาบังคับใช้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ลดงบให้ขาดดุลอยู่ที่ 350,000 ล้าน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อปรับฐานภาษีขึ้นไปแล้ว ก็มาดูเรื่องวงเงินงบประมาณ จากการที่จัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าไปประมาณ 2 แสนล้าน การกำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับปีหน้า เราก็ต้องอิงอยู่กับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณต่อไป

รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงในการที่จะไปประมาณการรายได้เกินความเป็นจริง เพราะทราบดีว่าในอดีต เมื่อไรก็ตามรัฐบาลไปกำหนดเป้าหมายไว้สูงเกินความเป็นจริง นั่นหมายความว่า กรมที่จัดเก็บภาษีอากร ก็จะไปมีแรงกดดันว่ าต้องจัดเก็บให้ได้ตามเป้า และหลายครั้งก็ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เราไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในยามที่ภาวะเศรษฐกิจ ประชาชน และผู้ประกอบการ ประสบกับความยากลำบากอยู่แล้ว

เมื่อมาประเมินดูก็ยืนยันตัวเลขที่รัฐบาลได้เคยตัดสินใจไปก่อนหน้านี้ว่า จำเป็นต้องปรับวงเงินงบประมาณลงมา เพื่อให้การขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 350,000 ล้านบาท อยู่ในกรอบของกฎหมาย และเป็นการขาดดุลที่ใกล้เคียงกับการขาดดุลงบประมาณในปีปัจจุบัน นั่นหมายความว่า รัฐบาลยังใช้นโยบายการคลังในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ แต่วงเงินงบประมาณจะต้องลดลงมาจากปีนี้ จากปีที่เราใช้งบประมาณอยู่ ซึ่งก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเลย เท่าที่จำได้ว่ามีการปรับลดวงเงินงบประมาณ แต่เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่จะรักษาวินัยทางการเงินการคลัง

ทั้งนี้ ในการปรับลงมาก็ต้องมีหลักว่าเราจะปรับลดตรงไหนอย่างไร สิ่งที่เราปรับลดก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เราคิดว่าเหมือนกับเป็นไขมัน หรือสิ่งที่ไม่เป็นความจำเป็นอยู่ในระบบ รายจ่ายไหนที่เป็นรายจ่ายประจำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เงินเดือน ค่าใช้สอยต่างๆ รวมไปถึงเงินที่เป็นรายจ่ายผูกพัน การชำระหนี้หรืออะไรก็แล้วแต่ตรงนี้เราจะไม่ตัด เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการ เรียนฟรี รักษาฟรี ซึ่งมีการเพิ่มเงินในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่อหัวไปจนถึงเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการเหล่านี้จะไม่มีการตัด

จากนั้นเราก็มาดูว่า เมื่อใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้แล้ว มีเงินในแง่ของการลงทุนเท่าไร ดูโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย และก็มีการผูกพันมาเบื้องต้น และจากนั้นก็จะดูโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญคือจะพยายามดูว่า โครงการทั้งหลายที่ระบุอยู่ในกฎหมายงบประมาณนั้น ต้องเป็นโครงการที่พร้อมที่จะใช้จ่ายได้ ไม่ใช่เราอนุมัติวงเงินไปให้ แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการ และใช้เงินได้ทัน เงินก็จะไปค้างอยู่เฉยๆ ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

ฉะนั้น เงินงบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่ลดลง เกือบทุกกระทรวง เท่าที่จำได้ จะมีกระทรวงที่เพิ่มขึ้น 2 กระทรวงเท่านั้นคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะว่าถึงจังหวะเวลาครบรอบที่เขาต้องจัดทำโครงการในเรื่องของการสำมะโนประชากร กับ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องของภาระในการชำระหนี้ของรัฐบาล ที่ไม่สามารถที่จะไปปรับลดได้ แต่ที่เหลือต้องมีการปรับลด จริงๆ แล้วถ้าไม่นับกระทรวงแรงงาน ที่งบประมาณจะลดลงที่เทียบกับปีนี้ เพราะว่าปีหน้าไม่ได้มีโครงการเช็คช่วยชาติ

กระทรวง หรือหน่วยงานที่ถูกปรับลดมากที่สุดก็คือ สำนักนายกรัฐมนตรี นั่นเอง งบกลางก็มีการปรับลด สำนักนายกรัฐมนตรีก็ปรับลด บางโครงการที่เขาเริ่มต้นไว้ หรือคิดไว้ในอดีต และกำลังจะดำเนินการ แต่ถ้าเราเห็นว่ายังไม่จำเป็นจะต้องทำในขณะนี้ ก็ตัดไป เช่น ที่ทำเนียบรัฐบาล มีโครงการจะสร้างที่จอดรถใต้ดิน 800 ล้าน ก็ตัดไปเลย เพื่อที่จะให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานต้องกลับมาสำรวจ แล้วก็ปรับลดโครงการที่คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนออกไป เพื่อจะได้ใช้เงินงบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด

กู้ในประเทศ 8 แสนล. กระตุ้น ศก.
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับลดลงไปอย่างนี้แล้ว ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการวางแผนสำหรับเศรษฐกิจต่อไปข้างหน้า รัฐบาลยังมีความเชื่อว่าเรายังจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ซึ่งเรามีโครงการลงทุนตามวัตถุประสงค์หลักๆ 7 ข้อคือ

1. เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน กระจายน้ำให้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร

2. ปรับปรุงในเรื่องระบบขนส่งคมนาคม โลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นระบบราง คือขนส่งมวลชน รถไฟรางคู่ หรือถนนหนทางต่างๆ โดยเฉพาะถนนไร้ฝุ่น

3. การปรับปรุงด้านสาธารณสุขที่จะมีการปรับปรุงทั้งในเรื่องสถานีอนามัย และการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในโรคที่สำคัญๆอย่าง มะเร็ง เบาหวาน ไต

4. การปรับปรุงสถานศึกษาโดยเฉพาะการปรับปรุงโรงเรียน ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่างๆ

5. การสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว และภาคการบริการของประเทศ

6. การส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหมายความว่า เราต้องลงทุนในเรื่องของการศึกษา วิจัย ค้นคว้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ

7. การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เช่น กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เงินจำนวน 1 ล้าน 5 แสนล้านบาทที่เราจะลงทุนใน 3 ปีข้างหน้า ถ้าหากเอาจากสิ่งที่เราคิดว่าสามารถใช้จ่ายได้จากเงินงบประมาณในปีต่อไปก็ดี จากการที่เราเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนก็ดี ก็มีเงินประมาณ 8 แสนล้าน หรือ 6 แสนล้าน ที่รัฐบาลคิดว่าน่าจะมาจากการกู้เงิน ประชาชนอาจจะสอบถามว่า เราจะไปกู้เงินจากต่างประเทศหรือเปล่า ไม่ใช่นะ ที่บอก 6 แสน หรือ 8 แสน เพราะว่า 6 แสน จะเอาไปลงทุน 2 แสน จะมาบริหารในเรื่อ.ความคล่องตัวในทางการคลัง หลังจากที่เงินภาษีอากรหายไป พอเรามาดูตรงนี้ 8 แสนล้านที่จะกู้ เราจะกู้ในประเทศ เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับเป็นการกู้เงินจากคนไทยด้วยกันเอง เช่น จะมีการออกพันธบัตร เป็นต้น ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าฐานะของประเทศในความเป็นคนไทยเรามีหนี้มากขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าตัวเลข 8 แสนล้าน ก็บังเอิญสอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เรามีเงินที่อยู่ในระบบธนาคารที่เป็นสภาพคล่องส่วนเกิน หรือเงินที่แช่อยู่ ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ ใกล้เคียงกันเลย เงินจำนวนนี้ที่จริงแล้ว ถ้าในภาวะปกติเราคงจะได้เห็นธนาคารนำออกมาปล่อยสินเชื่อ แต่ตนเชื่อว่าประชาชนทราบดีว่า ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ มีความไม่แน่นอน ทั้งในเศรษฐกิจโลก ทั้งในเรื่องปัจจัยต่างๆ มากมาย เราพบความเป็นจริงว่า สถาบันการเงินก็ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อ รัฐบาลก็มีนโยบายโครงการต่างๆ ที่จะสนับสนุนอยู่

ทำประเทศไทยเข้มแข็งภายในปี2555
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนไปเปิดงานมหกรรมการเงิน ก็หวังว่าจะกระตุ้นได้บ้าง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ จะมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มากพอสมควร เท่ากับว่า การที่รัฐบาลกำลังดำเนินการกู้เงินตรงนี้ ก็เป็นการนำเอาเงินของประชาชนคนไทย ซึ่งไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เอามาลงทุนใน 7 เรื่องที่ได้พูดไปแล้ว เชื่อว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เป็นการลงทุนภายใต้กรอบความคิดว่า เราจะทำประเทศไทยเข้มแข็งภายในปี 2555 แล้วการลงทุนตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมทางด้านการแข่งขัน แล้วก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ทั้งนี้ การกู้เงิน 8 แสนล้านนั้น ในทางกฎหมาย รัฐบาลก็มาดู ส่วนแรกก็จะเป็นการกู้เงินที่เราคิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน 2 แสนล้านในส่วนที่มาบริหารจัดการ อีก 2 แสนล้าน เพื่อการลงทุนในโครงการที่มีความพร้อมแล้ว จึงมีการเสนอกฎหมายในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่จะให้อำนาจกระทรวงการคลัง ในการกู้เงิน 4 แสนล้านนี้ ซึ่งเป็นการให้อำนาจกู้เงินได้เกินกรอบที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติ คือ กฎหมายหนี้สาธารณะ กฎหมายวิธีการงบประมาณ แต่ว่าในการนำเสนอ พ.ร.ก.นั้น เราจะเอารายละเอียดของโครงการ 2 แสนล้าน ให้สมาชิกของรัฐสภาได้รับรู้รับทราบ และก็สามารถให้ความเห็นได้

ส่วนที่จะทำต่อไปอีก 4 แสนล้านนั้น เนื่องจากไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน ก็จะทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งความจริงในอดีต รัฐบาลกู้เงิน ก็มักจะใช้ พ.ร.ก.เหมารวมไปเลย แต่ครั้งนี้ในส่วน 4 แสนล้านหลัง เห็นว่าไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน จะไม่เข้าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็จะออกเป็นพ.ร.บ. ซึ่ง สมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นส.ส. หรือส.ว. ก็จะสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าเงิน 4 แสนล้านนั้น จะไปใช้ที่ไหนอย่างไร และสามารถให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย

ทุกอย่างโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมด จะโปร่งใส เมื่อเราดำเนินการอย่างนี้แล้ว จำนวนหนี้สาธารณะอาจจะสูงขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ หลายคนฟังแล้วก็ไม่แน่ใจว่า ร้อยละ 60 มันสูง มันต่ำมันมากเกินไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตามมาตรฐานสากล การที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ เป็นระดับที่ยอมรับกันได้ และขณะนี้ประเทศอื่นๆ ก็ใช้แนวทางเดียวกันหมด ในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้รัฐลงทุนมากๆ ในยามที่ธุรกิจภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะของความไม่แน่นอน และดูไปแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอื่น เทียบเป็นรายได้ประชาชาติ จะสูงกว่าเรา และเกือบทุกประเทศ หนี้สาธารณะจะต้องกระโดดขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกใจ ไม่ใช่เรื่องที่บ่งบอกว่า เราบริหารจัดการอะไรผิดพลาด เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจของทุกประเทศ ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

“ผมมั่นใจครับว่า แนวทางนี้คือแนวทางที่เราจะไม่เพียงแต่ฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่ว่าเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นไป ประเทศไทย เศรษฐกิจไทย จะมีความเข้มแข็งอยู่ในฐานะที่ดี ที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกครับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อมาในช่วงการถามตอบ โดยมีนายธีระ ธัญญไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้ถามนายกรัฐมนตรี ว่า เงินกู้ 8 แสนล้านบาท ที่ภาครัฐจะเอามาใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ได้มีการคิดไว้หรือยังว่า จะเอาใช้ลงทุนในโครงการอะไรบ้าง

นายกรัฐมนตรีตอบว่า ขณะนี้รายละเอียดโครงการมีเกือบจะครบแล้ว อาจจะมีการปรับบ้าง จริงๆ ใน 8 แสนล้านนั้น อย่างที่บอกก็คือ 2 แสนล้าน เป็นเรื่องของการบริหารในส่วนของการคลัง อีก 6 แสนล้าน ลงทุน ซึ่งการลงทุนก็มีกรอบ 7 กรอบ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้ง เรื่องน้ำ เรื่องถนน เรื่องศึกษา เรื่องสาธารณสุข เรื่องท่องเที่ยว เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรื่องพื้นที่พิเศษ และหลักสำคัญคือ ในทุกโครงการนอกจากสอดคล้องกับกรอบนี้แล้ว หนึ่ง ต้องพร้อมที่จะดำเนินการจริง ๆ สอง ถ้าเป็นโครงการที่มุ่งสร้างงานได้ จะได้รับการพิจารณาก่อน เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ ก็จะมีการจัดทำโครงการ ของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มาแล้ว ในส่วนของ 2 แสนแรก ที่ถือว่าเร่งด่วน ก็จะแนบเอาโครงการเหล่านี้ ให้ทางสมาชิกรัฐสภาได้เห็น ในช่วงที่เราไปขออนุมัติพ.ร.ก.ในการกู้เงิน ในส่วนของ 4 แสนหลัง อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้อีก เพราะว่า มีเวลาที่จะกลั่นกรองโครงการเพิ่มเติม แต่โดยสรุป คือว่าจะมีรายละเอียดอยู่แล้ว อย่างเช่น แหล่งน้ำก็จะต้องตอบได้ว่า แหล่งน้ำสร้างที่ไหน อย่างไรบ้าง พื้นที่ไหนได้ประโยชน์

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการแต่ละโครงการ จะมุ่งในเรื่อง การสร้างงาน และก็เป็นการลงทุนที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะว่ากรอบรวม เราใช้ชื่อว่า ประเทศไทยเข้มแข็ง เช่นทำแหล่งน้ำ ก็ต้องตอบคำถามว่าทำแหล่งน้ำตรงนี้แล้ว พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน จากการกระจายน้ำ จะสามารถเพิ่มผลผลิต อาจจะเป็นข้าว อาจจะเป็นพืชผลตัวใดก็ตาม คือ หมายความว่า ส่งเสริมเรื่องผลผลิตทางการเกษตร และจะไปสอดรับกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนา ที่เราจะเน้นเรื่องของการที่เราเป็นผู้ส่งออกอาหาร และสามารถที่จะผลิตพลังงานทดแทนได้ด้วย

ถ้าเป็นเรื่องของคมนาคม เส้นทางรถไฟฟ้า เส้นทางรถไฟ เส้นทางถนน ต้องมีรายละเอียดอยู่ แน่นอนที่สุดต้องดูว่า เส้นทางเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการในการขนส่ง ในการเดินทาง ส่วนเรื่องสาธารณสุข ก็ง่ายหน่อย เพราะหลักของเราคือ พยายามที่จะปรับสถานบริการด้านสาธารณสุขในระดับตำบล ขึ้นมา เพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจในสถานให้บริการที่ใกล้บ้านตัวเอง ส่วนโรงเรียน จะมีเรื่องห้องสมุด เรื่องห้องแล็บ เรื่องอะไรอย่างนี้ จะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดที่ตรวจสอบได้ชัดเจน ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน อย่างไร

กู้ในประเทศเพราะเงินเรามี
ต่อข้อถามว่า เงิน 8 แสนล้านบาท จะกู้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กู้ในประเทศไทย จะเป็นการออกพันธบัตร หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในวงตรงนี้หมด ประชาชนจะได้ไม่ต้องกังวลว่า คนไทยจะไปเป็นหนี้ชาวต่างประเทศ เราใช้เงินของเราเอง ซึ่งก็สอดคล้องอย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่า ขณะนี้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบของเราก็มีมาก ก็เท่ากับว่าเรามีเงินของคนของเราไปกองอยู่ ไม่สามารถดึงออกมาใช้ เพื่อเสริมความเข้มแข็งของประเทศได้ เมื่อเราทำวิธีนี้ คิดว่าน่าจะดีกว่าการที่มีบางฝ่ายคิดอยู่เหมือนกัน บอกเหมือนกับทุบกระปุก ไปเอาเงินสำรอง โดยเฉพาะเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ออกมา ก็คิดว่ามันก็เป็นปัญหา เพราะว่าหนึ่ง จะต้องไปแก้กฎหมาย และจะเริ่มเป็นปัญหาว่า จะไปกระทบกับวินัยระยะยาวหรือไม่ และที่สำคัญคือว่า เงินสำรองที่มีอยู่ เป็นเงินตราต่างประเทศ ถ้าสมมติเอาออกมา ก็ต้องมาแลกเป็นเงินไทย เงินไทย ก็จะแข็งขึ้น เงินบาทก็จะแข็งขึ้น ก็ไม่สอดคล้องกับทิศทางที่เราคิดว่าควรจะเป็นในการบริหาร จัดการ

ธนาคารโลกอนุมัติกู้พันล้านเหรียญ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานถึงผลการหารือระหว่าง นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กับนายจวน โจส ดาบูบ กรรมการผู้จัดการธนาคารโลก ในการพิจารณาถึงเงินกู้ วงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนในเอสพี 2 ซึ่งธนาคารโลกจะพิจารณาในเดือนพ.ค.- มิ.ย.นี้ จึงคาดว่าจะลงนามและเบิกจ่ายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

“ดังนั้น ไทยต้องเตรียมการทุกอย่างให้พร้อม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องรัฐสภา รวมทั้งต้องเตรียมข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจว่าโครงการลงทุนจะดำเนินการต่อไปได้ หากเปลี่ยนแปลงการเมือง รวมถึงประโยชน์ของโครงการลงทุน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งแผนความร่วมมือในระยะยาวกับธนาคารโลก และบทบาทของไทยในภูมิภาค เป็นต้น”

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สศช.ได้เสนอให้ ครม.เร่งศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสังคมเกี่ยวกับโครงการลงทุนตาม เอสพี 2 ให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบของวิกฤติต่อคนและสังคม รวมทั้งต้องติดตามความก้าวหน้าแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป อย่างใกล้ชิด

ขณะที่รายงานผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารโลก และการชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยให้กับบรรดาภาคเอกชนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งบริษัทโคคา โคล่า, เชฟรอน, ฟอร์ด มอเตอร์, ฟิลลิป มอริส อินเตอร์เนชั่นแนล ,โบอิ้ง ,ไฟเซอร์, เอไอจี และไอบีเอ็ม เป็นต้น รวมถึงผู้แทนจาก ยูเอส-เอเซียน บิซิเนส เคาน์ซิล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปประกอบการพิจารณาการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการร่วมลงทุนในโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 หรือเอสพี 2 ที่ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อ วันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สศช.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักลงทุนของสหรัฐฯได้ยืนยันว่า สนใจที่จะขยายการลงทุนในไทย แต่ได้สอบถามถึงการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะแผนการปรับปรุงภาษีสรรพสามิต เครื่องดื่ม, กำหนดการเจรจาข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย และกัมพูชา, แผนการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพลังงานทางเลือกของไทย, การสนับสนุนให้มีการหารือระหว่างรัฐบาลและเอกชนต่างประเทศเรื่องนโยบายสาธารณสุข และการบังคับใช้กฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

อัดรัฐบาลฉวยโอกาสออก พ.ร.ก.กู้เงิน
นายคณวัฒน์ วศินสังวร
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลออกพ.ร.ก. และพ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท ว่า เป็นการใช้กฎหมาย กู้เงินมาใช้จ่ายในลักษณะเงินนอกงบประมาณโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา หลีกเลี่ยงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งจะต้องถูกรัฐสภาอภิปรายตรวจสอบ รับหลักการ และตั้งกรรมาธิการแปรญัตติในรายมาตรา ซึ่งส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 เพราะการออกพ.ร.ก.จะทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

นายคณวัฒน์กล่าวอีกว่า ในส่วนของ 2 แสนล้านบาทแรก เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า มีความจำเป็นรีบด่วน แต่ในส่วนของ 2 แสนล้านบาทหลัง ที่จะใช้เป็นงบลงทุนนั้น น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น