xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นภาษีน้ำเมาฟื้นศก.เหล้าเบียร์พุ่งน้ำมันจ่อคิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ไฟเขียวคลังขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ 5-10% มีผลทันที ส่งผลราคาเบียร์-เหล้าผสมปรับเพิ่ม 4-5 บาทต่อขวด เหล้าขาว 2.5 บาท บรั่นดี 19 บาทต่อขวด หนุนรายได้เพิ่ม 6.3 พันล้าน เป็นส่วนหนึ่งของแผนเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เผยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้าน คิวต่อไปจะออก พ.ร.ก.ขึ้นภาษีน้ำมันอีกลิตรละ 2 บาท ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา-เอ็นจีโอชี้รัฐไม่จริงใจ หากเก็บเต็มเพดานจริง รายได้เหล้าเบียร์ต้องเพิ่ม 2 หมื่นล้าน แนะออกมาตรการห้ามขายด้วย

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (6 ) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสินค้าประเภทเบียร์ เหล้าและบรั่นดี เพื่อเป็นการเพิ่มฐานการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล เพิ่มความจูงใจในการลดการบริโภครวมทั้งลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขของรัฐบาลในอนาคต โดยมติครม.ในครั้งนี้ จะมีผลในเวลา 24.00 น.ของคืนวันที่ 6 พ.ค.52
“การปรับเพิ่มภาษีเหล้า เบียร์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเพิ่มรายได้ของรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ตามแผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อเสริมฐานรายได้ของรัฐบาลให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น และในการปรับเพิ่มภาษีแต่ละประเภท รัฐบาลจะคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างเป็นหลัก โดยในครั้งนี้ จะเน้นการปรับเพิ่มภาษีเฉพาะในส่วนที่กรมสรรพสามิตดูแลเท่านั้น” นายกรณ์กล่าว

รายได้เพิ่ม 6.3 พันล้านบาท
สำหรับอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับขึ้นประมาณ 5-10% ตามประกาศครั้งนี้ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ส่งผลต่อราคาขายปลีกของเบียร์ เหล้าและบรั่นดี ดังนี้ ราคาขายปลีกเบียร์จะปรับเพิ่มขึ้น 4-5 บาทต่อขวด เหล้าขาวปรับขึ้น 1.75 – 2.5 บาทต่อขวด เหล้าผสมปรับขึ้น 4 – 5 บาทต่อขวด และบรั่นดีเพิ่มขึ้น 19 บาทต่อขวด ผลจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6.3 พันล้านบาท
รายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้มีแผนปรับขึ้นภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิตอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังมองภาษีที่จะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น ควรจะอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่อยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิต โดยตามแผนก็มีอยู่หลายรายการที่เตรียมปรับขึ้น เพื่อให้รายได้เป็นไปตามเป้าที่กระทรวงการคลังได้กำหนดไว้
“รายได้ของรัฐบาลที่วางไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 7 หมื่นล้านบาทจะมาจากกรมสรรพสามิตกรมเดียวเพราะยังมีสินค้าฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการที่รัฐบาลยังไม่จัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยสินค้าที่จะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในระยะต่อไปอาจเป็นน้ำมันและสินค้าอื่นๆ อีกหลายรายการที่กรมสรรพสามิตได้วางแผนการจัดเก็บไว้” นพ.พฤฒิชัยกล่าว

เจ้าของเบียร์โวยก่อนโยนผู้บริโภค
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ สิงห์ไลท์ กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดานจาก 55บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็น 58 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือโดยเฉลี่ยแล้วมีผลต่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น 3-5 บาท ซึ่งหากบริษัทแบกรับภาระไม่ไหวคงต้องปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงที่ต้องปรับขึ้น แต่ทั้งนี้ คงต้องพิจารณาจากทางคู่แข่งรายอื่นประกอบกันด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยากปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างมากในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย และจะยิ่งสร้างผลกระทบต่อตลาดเบียร์โดยรวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท จากปีนี้ตลาดได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และคาดว่าตลาดจะไม่มีการเติบโต โดยเฉพาะช่องทางร้านอาหารการเติบโตลดลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคลดการทานข้าวนอกบ้านลง
“ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา คาดว่าตลาดเบียร์ติดลบ แต่จากแนวทางห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ ยอดขายช่วงเดือนมีนาคมเติบโตดีมาก เพราะร้านค้าซื้อกักตุน สำหรับการขึ้นภาษีเบียร์ทางร้านค้าหรือเอเยนต์ คงไม่มีการกักตุนสินค้า เพราะบริษัทคงต้องจัดสรรตามโควต้าที่มีอยู่ อีกทั้งเบียร์เป็นสินค้าที่ต้องจ่ายภาษีทันที จึงมีสต๊อกเก่าไม่มากนัก”
ภาครัฐปรับขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดาน เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และได้เตรียมแผนการตลาดรองรับ แต่เกรงว่าการขึ้นภาษีเบียร์ครั้งนี้ มีผลทำให้คนหันไปกินเหล้าขาวแทน ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหล้าขาว เป็นตลาดใหญ่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และคนไทยดื่มมากที่สุด แต่ภาครัฐกลับขึ้นไม่เต็มเพดาน คือ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ จากการจัดเก็บ 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ มาเป็น 120 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

เหล้าเถื่อนเตรียมทะลัก
นายวิสุทธิ์ โลหิตนาวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด และนายกสมาคมไทยไวน์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการปรับภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เหล้าหนีภาษีและเหล้าเถื่อนเพิ่มขึ้น เพราะช่องว่างระหว่างราคาที่ห่างกัน ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า ภาครัฐอาจจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยลง นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละกลุ่มมีสัดส่วนไม่เหมาะสม

เล็งขึ้นภาษีน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังระบุว่า รายการภาษีสรรพสามิตอื่นที่จะปรับขึ้นหลังจากนี้คือ บุหรี่ และภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียด ซึ่งเฉพาะภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะปรับขึ้นในอัตรา 2 บาท/ลิตร ทุกรายการน้ำมัน ซึ่งพบว่าหากมีการปรับภาษีน้ำมันทุกชนิดขึ้น 1 บาท/ลิตร จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 2 พันล้านบาทต่อเดือน หรือ 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี และหากปรับขึ้น 2 บาท/ลิตร จะทำให้มีรายได้เพิ่ม 4.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
"ได้นำเรื่องการขยายเพดานขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มเติมต่อที่ประชุม ครม. แต่ไม่สามารถแถลงข่าวได้เนื่องจากจะเข้าข่ายผิดกฏหมายและอาจเกิดการกักตุนเพราะจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องลงนามก่อนทูลเกล้า เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว คลังจึงประกาศเรียกเก็บภาษีฯต่อไปคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งแผนการขึ้นภาษีฯน้ำมันครั้งนี้จะมีรายได้เพิ่มในระดับปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าวและว่า เบื้องต้นจะขอขึ้น 2 บาทต่อลิตร เว้นแก๊สโซฮอล์ที่อาจจะขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์แทนเพื่อส่งเสริมการใช้ โดยคาดว่าจะขึ้น 10% ของภาษีน้ำมันเบนซินที่ขยับขึ้น ส่วนแอลพีจีไม่เปลี่ยนแปลง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ได้มีการหารือถึงการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันและยืนยันหลักการว่าจะไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันเพื่อดูแลผู้บริโภค
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า การขึ้นภาษีน้ำมัน คลังเป็นผู้เสนอเข้ามาแนวทางการบริหารจะพิจารณาลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุม กบง. วานนี้ (6 พ.ค.) ได้อนุมัติเพียงว่าจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯเข้าไปดูแล หากกระทรวงการคลังมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันในส่วน เบนซิน 95 จัดเก็บภาษีฯ 7 บาท/ลิตร เบนซิน 91 อัตรา 5.70 บาท แก๊สโซฮอล์ อี 10 ในส่วนออกเทน 95,91 อัตราลิตรละ 2.35 บาท และ 1.75 บาท บี 2 อัตรา 1.70 บาท/ลิตร และกองทุนชดเชย อี 20 อัตราลิตรละ 30 สตางค์ อี 85 ลิตรละ 8 บาท บี 5 อัตรา 20 สตางค์/ลิตร ทั้งนี้ การขึ้นภาษีน้ำมันดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ภาษีเบนซินอยู่ที่ประมาณ 4 บาท/ลิตร เหตุผลหลักรัฐต้องการจัดเก็บรายได้สูงขึ้นจากปัญหารายได้หดหายเพราะเศรษฐกิจหดตัว

นักวิชาการชี้ต้องขึ้นแอลพีจีด้วย
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันกล่าวว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจริงๆ ในเรื่องของรายได้เพราะต้องยอมรับว่า การขึ้นภาษีฯน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลที่เป็นน้ำมันเศรษฐกิจในช่วงนี้ อาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจช่วงชะลอตัวนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าจะต้องติดตามคือว่า รัฐบาลได้ขึ้นภาษีฯส่วนของแอลพีจีด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่ขึ้นให้สอดคล้องกันในที่สุดการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นภาระในการนำเข้ามาในที่สุด
นายเทียนชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังาน กล่าวว่า การขึ้นภาษี ก็ควรจะครอบคลุมวงเงินเฉพาะที่สูญเสียไป จากการลดภาษีน้ำมันสมัย รัฐบาล อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ที่มีการลดภาษี 6 เดือน (ก.ค.51-ม.ค.52 ) ที่ทำให้รัฐสญเสียรายได้ประมาณ 32,000 ล้านบาทเท่านั้น หลงจากนั้นก็ควรจะลดภษีน้ำมันให้ประชาชน

ศูนย์วิจัยสุราชี้ควรขึ้นยกแผง
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ขึ้นดีกว่าไม่ขึ้น แต่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่กล้า ยังคงเกรงใจธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ เพราะขึ้นภาษีช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม โดยอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ การที่ภาครัฐทำให้เหล้ามีราคาที่แตกต่างกันไม่ได้แก้ปัญหาเท่าที่ควร หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดไหนขึ้นภาษีช้าก็จะได้เปรียบ เพราะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดก็ขึ้นราคาเต็มเพดานไปแล้ว ที่สำคัญไม่ช่วยให้การบริโภคลดลง แต่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นดื่มเหล้าที่มีราคาถูกมากขึ้น
“หากรัฐบาลอยากแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง แต่การขึ้นลักษณะนี้จะไม่ลดลงจริงหรือลดไม่ได้มาก ดังนั้น รัฐควรจะขึ้นภาษียกแผง โดยไม่จำเป็นต้องชะลอ โดยเฉพาะเหล้าขาวและเบียร์ ยังขึ้นราคาน้อยมาก อีกทั้ง หากขึ้นภาษีตามที่ได้มีการเสนอก่อนหน้านี้ คือ ขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดาน 60% ส่วนภาษีสุราขาว สุราแช่ และสุรากลั่นชุมชน จาก 110 ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็น 200 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ จะได้ 20,000 ล้านบาท มากกว่ารูปแบบการขึ้นภาษีครั้งนี้ของรัฐบาลที่ได้งบเพิ่มน้อย อีกทั้ง การขึ้นภาษีอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หากขึ้นน้อยก็อาจไม่ได้อะไร”นพ.บัณฑิตกล่าว
นพ.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีแนวคิดจะขึ้นภาษีบริษัทเหล้า ทำให้บริษัทเหล้าผลิตตุนอยู่แล้ว เพราะธุรกิจจะรู้ทุกครั้งที่จะมีการขึ้นราคาโดยเฉพาะเหล้าขาวที่สามารถเก็บได้นาน ดังนั้น ในช่วงแรกราคาจะยังไม่ขึ้น ซึ่งปัญหาด้านภาษีที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาได้ช้ามาโดยตลอด และมีการแข่งขันให้ราคาถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เป็นธรรมด้านภาษี อาจส่งผลทำให้บริษัทต่างชาติกดดันผ่านทางการค้าให้ไทยเปลี่ยนโครงสร้างภาษีทำให้ระบบแย่ลง โดยเป็นการเก็บภาษีตามดีกรีของแอลกอฮอล์อย่างเดียว ขณะที่โครงสร้างภาษีเดิมของไทยเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว

เอ็นจีโอจี้ต้องพ่วงห้ามขายเพิ่ม
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การที่รัฐบาลขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลดี 2ส่วน คือภาครัฐได้เงินเพิ่มจากภาษีที่เก็บได้ ขณะเดียวกันก็ได้สุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้นด้วย เพราะเมื่อราคาสูงขึ้นก็มีผลกระทบต่อยอดการบริโภคของประชาชนที่อาจลดลง ซึ่งทั่วโลกทราบกันดีว่ามาตรการดังกล่าว ทำให้การบริโภคทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่รัฐบาลคงไม่ได้ตั้งใจดำเนินการเรื่องนี้ เพราะสุขภาพของประชาชน แต่เพื่อรายได้ที่ภาครัฐจะได้ในยามวิกฤตเช่นนี้มากกว่า
“หากรัฐบาลตั้งใจขึ้นภาษีน้ำเมา เพื่อหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจริง เหตุใดจึงไม่ออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลและวันพระใหญ่ ทั้งที่ไม่ต้องเสียหรือลงทุนอะไรเลย และข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการก็เห็นพ้องว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรและปัญหาด้านสุขภาพที่จะตามมาด้วย ดังนั้นการมองเศรษฐกิจของรัฐบาล ควรมองภาพรวม ไม่ใช่มองเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มเท่านั้น”นายสงกรานต์ กล่าว
นายสงกรานต์ กล่าวว่า ขณะนี้เงินในกระเป๋าของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากเงินที่เหลืออยู่ในกระเป๋าของประชาชนไปซื้อในสิ่งของที่จำเป็นก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยเศรษฐกิจมากกว่าการไปซื้อน้ำเมา แม้ว่าธนาคารโลกยังเคยระบุว่า หากยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะนักวิชาการเก่าไม่เชื่อ ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่กล้าแตะเรื่องการควบคุมจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเหตุใดทำไมต้องเกรงใจฝ่ายธุรกิจมากมายขนาดนั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น