xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐขึ้นภาษีเหล้าหน่อมแน้ม! ไม่ช่วยลดขี้เมา หวั่น บ.เหล้านอกสบช่องจี้เปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ชี้ รัฐขึ้นภาษีแบบกระปริบกระปรอย อาจไม่ค่อยได้อะไร คนดื่มเหล้าไม่ลด แค่ไหลจากเหล้าแพงไปเหล้าถูก ชี้ ควรขึ้นภาษียกแผง ห่วงขึ้นแบบไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำ บ.ต่างชาติ สบช่องกดดันไทยเปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่ ด้านเอ็นจีโอ ชี้ ขึ้นภาษีหวังรายได้เข้ารัฐมากกว่าสุขภาพประชาชน จี้ หากห่วงจริงต้องออกมาตรการห้ามขายเพิ่มไปด้วย ยกธนาคารโลกคุมเหล้าเบียร์ เศรษฐกิจกับสุขภาพคนในประเทศดีกระฉูด

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ขึ้นดีกว่าไม่ขึ้น แต่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่กล้า ยังคงเกรงใจธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ เพราะขึ้นภาษีช้ากว่าที่ควรจะเป็นแบบกระปริบกระปรอย ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม โดยอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ การที่ภาครัฐทำให้เหล้ามีราคาที่แตกต่างกันไม่ได้แก้ปัญหาเท่าที่ควร หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดไหนขึ้นภาษีช้าก็จะได้เปรียบ เพราะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดก็ขึ้นราคาเต็มเพดานไปแล้ว ที่สำคัญ ไม่ช่วยให้การบริโภคลดลง แต่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นดื่มเหล้าที่มีราคาถูกมากขึ้น

“หากรัฐบาลอยากแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง แต่การขึ้นลักษณะนี้จะไม่ลดลงจริงหรือลดไม่ได้มาก ดังนั้น รัฐควรจะขึ้นภาษียกแผง โดยไม่จำเป็นต้องชะลอ โดยเฉพาะเหล้าขาวและเบียร์ ยังขึ้นราคาน้อยมาก อีกทั้งหากขึ้นภาษีตามที่ได้มีการเสนอก่อนหน้านี้ คือ ขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดาน 60% ส่วนภาษีสุราขาว สุราแช่ และสุรากลั่นชุมชน จาก 110 ต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็น 200 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ จะได้ 20,000 ล้านบาท มากกว่ารูปบบการขึ้นภาษีครั้งนี้ของรัฐบาลที่ได้งบเพิ่มน้อย อีกทั้งการขึ้นภาษีอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หากขึ้นน้อยก็อาจไม่ได้อะไร”นพ.บัณฑิต กล่าว

นพ.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีแนวคิดจะขึ้นภาษีบริษัทเหล้าทำให้บริษัทเหล้านี้ผลิตตุนอยู่แล้ว เพราะธุรกิจจะรู้ทุกครั้งที่จะมีการขึ้นราคาโดยเฉพาะเหล้าขาวที่สามารถเก็บได้นาน ดังนั้น ในช่วงแรกราคาจะยังไม่ขึ้น ซึ่งปัญหาด้านภาษีที่มีความไม่เป็นธรรมทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาได้ช้ามาโดยตลอด และมีการแข่งขันให้ราคาถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เป็นธรรมด้านภาษี อาจส่งผลทำให้บริษัทต่างชาติกดดันผ่านทางการค้าให้ไทยเปลี่ยนโครงสร้างภาษีทำให้ระบบแย่ลง โดยเป็นการเก็บภาษีตามดีกรีของแอลกอฮอล์อย่างเดียว ขณะที่โครงสร้างภาษีเดิมของไทยเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว

ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การที่รัฐบาลขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลดี 2 ส่วน คือ ภาครัฐได้เงินเพิ่มจากภาษีที่เก็บได้ ขณะเดียวกัน ก็ได้สุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้นด้วย เพราะเมื่อราคาสูงขึ้นก็มีผลกระทบต่อยอดการบริโภคของประชาชนที่อาจลดลง ซึ่งทั่วโลกทราบกันดีว่ามาตรการดังกล่าวทำให้การบริโภคทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่รัฐบาลคงไม่ได้ตั้งใจดำเนินการเรื่องนี้เพราะสุขภาพของประชาชน แต่เพื่อรายได้ที่ภาครัฐจะได้ในยามวิกฤตเช่นนี้มากกว่า

“หากรัฐบาลตั้งใจขึ้นภาษีน้ำเมา เพื่อหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจริง เหตุใดจึงไม่ออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลและวันพระใหญ่ ทั้งที่ไม่ต้องเสียหรือลงทุนอะไรเลย และข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการก็เห็นพ้องว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรและปัญหาด้านสุขภาพที่จะตามมาด้วย ดังนั้นการมองเศรษฐกิจของรัฐบาล ควรมองภาพรวม ไม่ใช่มองเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มเท่านั้น” นายสงกรานต์ กล่าว

นายสงกรานต์ กล่าวว่า ขณะนี้เงินในกระเป๋าของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากเงินที่เหลืออยู่ในกระเป๋าของประชาชนไปซื้อในสิ่งของที่จำเป็นก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยเศรษฐกิจมากกว่าการไปซื้อน้ำเมา แม้ว่าธนาคารโลกยังเคยระบุว่า หากยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะนักวิชาการเก่าไม่เชื่อ ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่กล้าแตะเรื่องการควบคุมจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเหตุใดทำไมต้องเกรงใจฝ่ายธุรกิจมากมายขนาดนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น