xs
xsm
sm
md
lg

ลดงบจ่ายปี53แผนกู้ท่องเที่ยวเข้าครม.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลเตรียมลดกรอบงบรายจ่ายปี 53 ลง 1-2 แสนล้าน ให้สอดคล้องรายได้ เข้า ครม.วันนี้ "กอร์ปศักดิ์" โวมีทางแก้ เล็งใช้เงินนอกงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ 2 การกู้ต่างประเทศและตั้งกองทุนสาธารณูปโภค บอร์ด ททท.เร่งประชาสัมพันธ์ฟื้นท่องเที่ยวไทย พร้อมขอ ครม.เจียดงบให้เอกชนใช้จ่ายค่าเดินทาง-จัดบูธโรดโชว์พร้อมเสนอ ครม.ต่ออายุยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าไปถึงสิ้นปี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (21 เม.ย.) จะมีการพิจารณากรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 ใหม่ หลังประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากทั้งปัญหาภายในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าต้องลดกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 53 ลงราว 1-2 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ลดน้อยลง
"มีความจำเป็นต้องเสนอ ครม.ปรับลดวงเงินงบประมาณปี 53 เพื่อให้การขาดดุลอยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งจะลดลงประมาณ 1-2 แสนล้านบาท" นายกรัฐมนตรีกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 โดยทำงบประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท แต่ตามกฎหมายรัฐบาลขาดดุลได้ถึง 4.3 แสนล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 1.9 ล้านล้านบาท และรายได้ที่ 1.51 ล้านล้านบาท ใช้สมมุติฐานอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ที่คาดว่าจะขยายได้ 3% และอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดว่าขยายตัว 2%
นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง จะไปพิจารณา แต่ในเรื่องวงเงินลงทุนคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายกฯ กล่าวด้วยว่า วันนี้ (21 เม.ย.) จะได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ การเสริมสภาพคล่องจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออกมาตรการช่วยเหลือผ่านระบบธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไปแล้วโดยจัดหาแหล่งเงินกู้ให้เอกชน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดให้ ครม.รับทราบเช่นกัน

นายกฯ เปิดเผยว่า กำลังเตรียมออกมาตรการแก้ปัญหาสภาพคล่องภาคผู้ประกอบการ เพราะเป็นจุดที่ยังมีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องว่ามีธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง จากเดิมที่มีมาตรการที่ได้สนับสนุนไปแล้ว คือ เรื่องของการประกันสินเชื่อที่ได้ผลในระดับหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือการทำงานผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เมื่อมีการประเมินตัวเลขแล้ว มีการปล่อยสินเชื่อได้ ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นจะต้องมีการพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง 
ผู้สื่อข่าวถามว่าเท่าที่ประเมินเศรษฐกิจจะกระทบต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในสองสามปีข้างหน้าโดยเฉพาะในเรื่องของวงเงินหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของวงเงินอาจจะไม่ปรับเปลี่ยน แต่จะดูเรื่องของแหล่งเงินทุนใหม่ เพราะเดิมทีมีการแบ่งแหล่งเงินทุน คือ งบประมาณส่วนหนึ่ง ร่วมกับ  ภาคเอกชนส่วนหนึ่ง และเงินกู้อีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนที่ออกมาจากงบประมาณก็อาจจะได้รับผลกระทบ
เมื่อถามว่า เรื่องของแหล่งเงินกู้ จะต้องมาพิจารณาภายในประเทศมากกว่านอกประเทศ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความตั้งใจเดิม ก็ตั้งใจจะเป็นภายในประเทศ เนื่องจากระบบของเราสภาพคล่อง ส่วนเกินก็เยอะ และในแง่ของความจำเป็นที่จะต้องได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ก็ค่อนข้างน้อย เพราะที่ลงทุนแม้นจะต้องมีส่วนที่ต้องนำเข้าบ้าง ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่สูง เพราะเราไม่ได้เน้นโครงการที่มีการนำเข้าสูง

***อุ้ม "กอร์ปศักดิ์" คุม รมต.เศรษฐกิจ นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาล รุมตำหนิการทำหน้าที่ของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เนื่องจากแทรกแซงการทำงาน ของพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไปว่า ได้คุยกับนายกอร์ปศักดิ์แล้ว ก็เป็นธรรมดา เมื่อนายกอร์ปศักดิ์ กำกับดูแลแล้วมีความกังวล มีความห่วงใย อยากจะดูให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกสิ่งเรียบร้อย บางครั้งอาจทำให้เห็นอะไรไม่ตรงกับผู้ปฏิบัติในระดับกระทรวง ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไม่ปรับนายกอร์ปศักดิ์ออกจาก ครม. ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ไม่ละครับ ยังไม่มีความคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวอะไร เพียงแต่ต้องมาพูดคุยกันว่า ที่มันติดขัดกันอยู่ มันติดขัดตรงไหนอย่างไร”เมื่อถามย้ำว่านายกอร์ปศักดิ์ จะยังเป็นรองนายกฯ อีกนานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “นาน (ลากเสียงยาว)”

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเงินนอกงบประมาณ ซึ่งยังมีอีกหลายแนวทาง เช่น การระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ 2 การออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชนโดยให้อัตราดอกเบี้ยสูง การกู้ต่างประเทศซึ่งยังมีวงเงินเหลือให้กู้ได้อีก หรือการตั้งกองทุนสาธารณูปโภค หรือ อินฟราสตักเจอร์ ฟันด์ ซึ่งแนวทางต่างๆอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ
“รัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะไม่ใช้เงินงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า และถ้าคงระดับรายจ่ายไว้เท่าเดิม ก็ต้องกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกินกรอบวินัยการคลังได้” นายกอร์ปศักดิ์กล่าวและว่า จะต้องมีการพิจารณางบลงทุนในปี 2553 ใหม่ ซึ่งกำหนดวงเงินเดิมที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ตามแผนการลงทุนระยะ 3 ปี เม็ดเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องมาพิจารณาโครงการต่างๆว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และหากจะมีการคงเม็ดเงินลงทุนไว้เดิมที่ 3 แสนล้านบาท ก้จะต้องหาเงินนอกงบประมาณมาสมทบ
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณาปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2553 เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่เคยประมาณการไว้ การปรับลดรายจ่ายของรัฐบาลจะมีผลต่องบในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการลงทุนระยะยาว 1.56 ล้านล้านบาท ไว้เช่นเดิม และตั้งงบลงทุนไว้ที่ 3 แสนล้านบาท โดยภายใน 2 สัปดาห์จะมีความชัดเจนในเรื่องแล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้ในโครงการต่างๆ
“การลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินการคลัง โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง รัฐบาลจะไม่ฝืนการใช้จ่ายงบเกินกว่าที่รายได้จะรองรับได้ ส่วนเม็ดเงินเพิ่มเติมที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลจะต้องมีคำตอบให้ประชาชนและสังคมได้ความรู้ เพื่อที่จะได้เกิดความเชื่อมั่น”นายกรณ์ กล่าวและว่า เศรษฐกิจในปี 2553 จะขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2552 ซึ่งในส่วนของปี 2552 คลังมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวติดลบ 2.5% ถึงลบ 3% แต่หลังจากเกิดการประท้วงรุนแรงมีหลายหน่วยงานประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเพิ่มขึ้นอีกลบ 1% ถึง ลบ 2% หรือขยายตัวติดลบ 4% ถึงติดลบ 5%
"เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบมากหรือไม่ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผลของนโยบายและมาตรการของรัฐที่ออกมา ความพร้อมของภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน ที่จะให้ความร่วมมือในการช่วยฟื้นความเชื่อมั่น" รมว.คลังกล่าว

***ททท.ของบให้เอกชนร่วมโรดโชว์
วานนี้ (20 เม.ย.) ภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ ททท.เร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเดินหน้าแผนงาน เทรดโชว์ และโรดโชว์ตามที่วางไว้ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มเติมบ้างในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยให้มีการพิจารณาช่วยเหลือเอกชนที่จะร่วมเดินทางไปด้วย เพราะผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน หมดทุนที่จะใช้เดินสายเพื่อโรดโชว์
“ขณะนี้แผนโรดโชว์ของ ททท.ที่กำหนดไว้จากนี้ถึงปลายปี รวม 9 แห่ง ได้แก่ เกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ จีน อเมริกา แคนาดา เวียดนาม และประเทศอาเซียนในลุ่มน้ำโขง ส่วนตลาดในประเทศ ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเร่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศโดยเร็วบนเงื่อนไขที่ต้องใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยว เพราะปัจจุบัน การจัดสัมมนาในส่วนท้องถิ่น นิยมเช่ารถไปกันเอง"
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า เอกชนต้องการให้ททท.ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปร่วมงานโรดโชว์ประมาณ 50-80% เพราะขาดสภาพคล่องมาก เพราะต้องเจอกับปัจจัยลบที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจมานานกว่า 7 เดือนแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมยอดการจองห้องพักและการยกเลิกในช่วงนับจากนี้ไปว่าจะเป็นเท่าใด โดยล่าสุด เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการยกเลิกห้องพักที่จองไว้ในเขตกรุงเทพฯมากถึง 7,000 รูมไนท์

***วาระแห่งชาติฟื้นท่องเที่ยวเข้า ครม.
ด้านแผนการดำเนินงานที่จะผลักดันให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาตินั้น นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือและจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (21 เม.ย.) ได้แก่ การต่ออายุให้แก่มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าไปถึงสิ้นปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย และจีนได้เป็นอย่างดี ต่อมาตรการลดค่าจอดเครื่องบิน และมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะต้องเสียให้แก่รัฐลงบ้าง เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่ต่อไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดการเลิกจ้างงาน
"ควรจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ในเรื่องของระยะเวลา พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการ ดูแลในแต่ละส่วนงาน เช่น ตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยกรรมการจะต้องประกอบด้วยบุคลากรจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว"
รัฐบาลยังต้องช่วยเร่งพัฒนาบุคคลากร และแหล่งท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกันเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา ในส่วนของงบประมาณที่ ครม.อนุมัติแล้ว เช่น งบฉุกเฉิน 1,000 ล้านบาท ให้เร่งเบิกจ่ายโดยเร็ว มาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็ให้ผ่อนปรนเงื่อนไข เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมโครงการได้ และยังยื่นยันที่จะเสนอขอขยายวงเงินกู้อีก 10,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป โดยอาจออกเป็นพันธบัตรรัฐบาล ดอกเบี้ย 4-5%ระดมเงินภาคประชาชนเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ ที่ททท.ต้องปรับลดเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลง 25-30% ดดยรวมอาจจะเหลือไม่ถึง 10 ล้านคน จากเป้าหมายเดิมที่ 14 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 5.3 แสนล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น