“กอร์ปศักดิ์” แจงหั่นงบปี 53 เพราะต้องการตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย และไม่เกิดประโยชน์ ทั้งงบประชุมดูงานต่างประเทศ การจ้างที่ปรึกษาราคาแพง แนะให้หน่วยงานรัฐประชุมสัมมนาในประเทศแทน ยืนยัน ไม่กระทบต่อการดูแลประชาชน โฆษก รบ.ยอมรับ ครม.ตีกลับงบช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 1.5 หมื่นล้าน พร้อมงบฝึกงานพันล้าน เพราะมักง่ายแบมือขอเงิน สอดไส้โครงการเก่าปี 52 ฟาดไปแล้ว 2 ครั้ง 6 พันล้าน ภาคเอกชน ชี้ทางรอดฝ่าวิกฤตปี 52 รัฐบาลต้องบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยอมขัดใจบิ๊ก ขรก.-พรรคร่วม
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตัดกรอบงบรายจ่ายปี 2553 ที่ถูกตัดออกไป 2 แสนล้านบาท โดยยืนยันว่า จะไม่กระทบกับการให้บริการแก่ประชาชน โดยงบที่ถูกตัดไปส่วนใหญ่จะเป็นงบที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมของส่วนราชการในต่างประเทศ การจ้างที่ปรึกษา หรือการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ควรดำเนินการ งดเงินอุดหนุน หรือเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ซึ่งถูกมองว่า เป็นงบเที่ยวเตร่ต่างประเทศประจำปี และการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เกิดประโยชน์ช่วงเศรษฐกิจซบเซา เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังยกเลิกโครงการชุมชุมพอเพียงไปก่อน ที่แต่ละปีจะต้องใช้เงินถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีความคืบหน้าด้านประสิทธิภาพจริง ขณะเดียวกัน ยังยกเลิกงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็คิดเป็นเงินประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า แม้งบประมาณรายจ่ายในปี 2553 จะลดลง แต่รัฐบาลจะยังดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามแผนเดิม เพียงแต่รัฐบาลต้องจัดหาแหล่งเงินเพื่อมาหนุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กำหนดเวลาให้กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินโดยไม่กระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ
“ปีนี้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบประมาณ 4-5% และทุกๆ 1% ที่จีดีพีลดลง จะทำให้มีคนตกงานประมาณ 2.5-3 แสนคน ซึ่งเราก็หนักใจในเรื่องนี้ จึงเร่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองออกมา ซึ่งเราคาดการณ์ว่า มาตรการก๊อกสองนี้ จะช่วยสร้างงานได้ประมาณ 1 ล้านคน ใน 2 ปี”
นายศุภรัตน์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. โดยระบุว่า กระทรวงการคลังได้รายงานสรุปผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2552 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - 20 มีนาคม 2552) โดยระบุว่า ยังมีหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าถึง 16 หน่วยงาน จาก 25 หน่วยงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ไม่อนุมัติข้อเสนอขอกรอบวงเงินโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ วงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อขยายผลการช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่ รายละไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ในระยะเวลา 4 ปีแรก และข้อเสนอที่ของบกลางปี 2552 วงเงิน 1,000 ล้านบาทให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรการดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยวที่ตกงาน และช่วยเหลือบุคลากรที่ไม่ตกงาน โดยสมทบเงินช่วยเหลือกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีการลดวันทำงาน โดยให้บุคลากรดังกล่าวเข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงานในลักษณะเดียวกับโครงการต้นกล้าอาชีพ
“การจัดทำแผนมีความหละหลวม มีลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือขี่ช้างจับตักแตน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังแสดงความเห็นว่า บางเรื่องอาจจะไปซ้ำซ้อนกับเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว”
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่อยู่ในกำกับของพรรคชาติไทยพัฒนา เดิมได้รับงบประมาณเพิ่มเติมปี 2552 แล้ว 5,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ในช่วงที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกมาติงรัฐบาลถึงการกระจุกตัวของงบประมาณ ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ไปแล้ว
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเพียงบางโครงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย มาตรการการเงินให้เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณประจำงวด ครั้งที่ 3 วงเงิน 278,347,815.89 บาท ให้กระทรวงการท่องเที่ยวเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 และขอให้ผ่อนปรนวิธีการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ
ส่วนมาตรการภาษี มีมติให้ขยายระยะเวลาออกไป 1 รอบปี สำหรับมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าไปถึงสิ้นปี ต่ออายุมาตรการลดค่าจอดเครื่องบิน และมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ และการลดหย่อนค่าธรรมธรรมเข้าชมอุทยานลงร้อยละ 50
ขณะที่ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ส่วนราชการขยายเวลาการปรับแผนการฝึกอบรมจัดประชุมสัมมนา และดูงานในประเทศให้มากขึ้น โดยขยายไปถึงวันที่ 30 กันยายน.2553 ทั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นการจัดสัมมนาและประชุมในพื้นที่ของภาคเอกชนแทนของส่วนราชการ
ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ปรับปรุงรายละเอียดและวงเงินงบประมาณและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ในวงเงินรวม 16,874 ล้านบาท ตามแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยว และแผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่ง ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ให้สอดคล้องกับ “การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ” โดย นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะนำไปบูรณาการเพื่อเน้นฟื้นฟูภาพลักษณ์ และกู้วิกฤตการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
นายวัชระ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบว่า ขณะนี้กว่า 19 ประเทศ ยังเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจากสถานการณ์ในขณะนี้ โดยสาเหตุหนึ่งเนื่องบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ ไม่รับที่จะทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว และไม่รับที่จะเคลมประกันหากมีภัยกับนักท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะภัยจากการจลาจล
“ตรงนี้ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงกับแบนไม่ทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หากเราไปห้ามเขาคงทำได้ยาก จึงมีการเสนอว่า จะร้องขอให้บริษัทประกันภัยในประเทศไทยประกาศที่จะรับทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือรัฐบาลรับที่จะทำประกันภัยให้แทน”
**หนุนรัฐต้องยอมขัดใจบิ๊ก ขรก.-พรรคร่วม เพื่อนำชาติฝ่าวิกฤต
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลงเหลือ 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่า สอดคล้องกับความเป็นจริงที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่ถดถอยและปัจจัยการเมืองที่รุมเร้า โดยมองว่า งบประมาณดังกล่าวน่าจะเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า เนื่องจากเชื่อว่า เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ จากปีนี้ที่ถือว่า เลวร้ายสุด
ส่วนการที่ นายกฯออกมายอมรับว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ จะติดลบร้อยละ 4-5 นั้น เป็นไปตามที่ตนได้คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้ จะมีการขยายตัวติดลบอย่างแน่นอน แต่จะเป็นในระดับใดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ควรดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ สามารถพยุงธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า ตัวเลขการส่งออก ในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ติดลบถึงร้อยละ 20.6 นั้น ไม่น่าตกใจ เพราะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เห็นสัญญาณการทรุดตัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ให้รัฐบาลปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลงอีก 2 แสนล้านบาท เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท โดยเป็นการตัดงบพัฒนาท้องถิ่นและกองทัพลงนั้น เนื่องจากงบประมาณในส่วนดังกล่าวถือว่ามีความจำเป็นน้อย ซึ่งรัฐบาลควรเอางบที่เหลือไปใช้สำหรับการกระตุ้นลงทุนแทนโดยมองว่างบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท น่าจะเพียงพอสำหรับกระตุ้นการลงทุนในปีหน้า เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้
กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกฯ ออกมาระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าอาจติดลบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5 นั้น ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ยังติดลบถึงร้อยละ 20.6 ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้และมองว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง