xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ตบเท้าแจง งบ “สภาสูง” อ้อนเร่งผ่าน หวังช่วยแก้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” นำทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ร่วมประชุมวุฒิฯ ถกงบกลางปี อ้อนโหวตผ่าน เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เปิดเว็บไซต์เฉพาะรับฟังข้อมูลจากทุกด้าน ฝ่าย “สภาสูง” อัดงบไม่กระตุ้นเศรษฐกิจจริง จวก โครงการประชานิยมไม่ถึงรากหญ้า ไม่มั่นใจรัฐจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า เหตุเศรษฐกิจถดถอย แนะ ลงทุนเมกะโปรเจกต์ สร้างงาน กระจายงบลงภาคส่วน

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ โดยมี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาวาระด่วน เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ที่สภาผู้แทนราษฏรเห็นชอบแล้ว ซึ่งวุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 3 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มี.ค.2552 ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมอย่างพร้อมเพียง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวชี้แจงว่า การเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 ถือเป็นส่วนหนึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกเหนือจากงบประมาณในส่วนนี้แล้ว รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีอากร และมาตรการอื่น เพื่อให้สนับสนุนให้เศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศเดินหน้าไปได้ ในภาวะเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบมาถึงการส่งออก และการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องรักษากำลังซื้อของคนในประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกไปถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เราจำเป็นต้องหามาตรการเพิ่มกำลังซื้อ โดยให้เงินไปถึงประชาชนเร็วที่สุด ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการคิดโครงการต่างๆ ที่ใช้เวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้วางแผนและวางมาตรการไปเชื่อมโยงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ กับนโยบายระยะกลาง และระยะยาว ดังนั้น ขอความสนับสนุนทางวุฒิสภาให้ช่วยผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไขปัญหาการชะลอตัวและการหดตัวของเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วุฒิสภา ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 โดยมี นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.เป็นประธาน โดย นายพิเชต ได้กล่าวรายงานผลการศึกษา โดยคณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณ คือ ในส่วนของนโยบายและการบริหารงบประมาณ โดยกระทรวงการคลัง ควรดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในด้านนโยบายการเงินคงคลังของประเทศ เร่งรัดให้หน่วยงานมีการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบรายจ่ายลงทุนอย่างเร่งด่วน เพราะในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ.2552 มีการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนเพียงร้อยละ 7.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการกระจายงบประมาณไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ ยังเห็นว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่อาจที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือ การสร้างงาน เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยใช้มาตรการภาษีเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน และอัดฉีดงบประมาณเพื่อการลงทุน ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่า โครงการจัดงานธงฟ้า โครงการศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชุม ที่ไม่สามารถลดค่าครองชีพของประชาชนได้จริง โครงการจัดจ้างบัณฑิตอาสาพาณิชย์ วงเงินงบประมาณ 43,000,000 บาท เพื่อจัดจ้างบัณฑิตอาสาพาณิชย์จำนวน 1,000 คน ระยะเวลา 6 เดือน ไม่สามารถตอบสนองต่ออัตราการว่างงานของบัณฑิตได้

ในส่วนของโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะต้องกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศมากขึ้น พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เผยแพร่กิจกรรมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ส่วนโครงการสนับสนุนการจัดการการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี คณะกรรมาธิการ เห็นว่า ควรให้การสนับสนุนแก่นักเรียนตามฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เรื่องการจัดหาหนังสือเรียนควรให้สิทธิ์ผู้ปกครองในการจัดหาเอง กระทรวงศึกษาฯไม่ควรจัดซื้อเองหรือกำหนดคุณลักษณะเฉพาะอื่น

ในด้านโครงการการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยการจัดเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ 60 ปี คณะกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี แต่เกรงว่า เบี้ยยังชีพจะไม่ถึงผู้สูงอายุอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะมารับเบี้ยยังชีพได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ โครงการส่งเสริมอาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก ที่ตั้งเป็นเงินเดือนค่าจ้างรายเดือน อาจเป็นการเพิ่มภาระต่องบประมาณให้แก่รัฐบาลในระยะยาวที่จะต้องตั้งงบในส่วนนี้อีก

คณะกรรมาธิการ ยังตั้งข้อสังเกตในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จำนวน 4,090.45 ล้านบาท รัฐบาลควรมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ส่วนรายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 19,139.48 ล้านบาท รัฐบาลได้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้จากงบประมาณการการเก็บภาษีประเภทต่างๆ ได้เพิ่มเป็นเงิน 12,900 ล้านบาท บนสมมุติฐานว่า เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวร้อยละ 0.9 จากการที่มีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 116,700 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งเป็นเงิน 6,239.48 ล้านบาท จากการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คณะกรรมาธิการ ไม่มั่นใจว่า การเก็บภาษีเพิ่มในส่วนแรกอาจไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และการใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน

จากนั้น นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ส.ว.สรรหา นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง และ นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ควรคำนึงถึงมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ควรเพิ่มเงินเดือนให้กับครูที่ต้องรับภาระสอนนักเรียนที่มีจำนวนมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการศึกษาที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี และควรส่งเสริมวิชาชีพด้านการเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน และด้านภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลด้านอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ จีดีพี ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งรัฐบาลควรคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีให้ชัดเจน เพราะอาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะเป็นจำนวนหลายแสนบ้านบาท

นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า ขอชี้แจงว่า ความห่วงใยของผู้อภิปรายว่างบประมาณนี้จะเชื่อมโยงการทำงานระยะยาวของรัฐบาลหรือไม่นั้น ซึ่งข้อสังเกตที่ให้ไว้เรื่องปัญหาเรื่องการศึกษา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ถือว่าตรงกับความคิดของรัฐบาล ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่ผ่านมา ได้พูดถึงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและยาว ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากจะให้ความมั่นใจว่ามองสภาพปัญหาและแนวทางค่อนข้างจะตรงกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนนั้นขณะนี้ตนก็ดำเนินการอย่างไม่ว่าจะเป็นการเข้าพบสมาคม หรือองค์กรธุรกิจเอกชนแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ได้พบกับนักธุรกิจด้านท่องเที่ยวมา 2 ครั้งแล้ว และขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ช่วยประสานงานกับ ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ และจะทำในลักษณะนี้ต่อๆ ไป

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักการในการทำงาน จะยึดความโปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยเฉพาะงบประมาณเพิ่มเติม จะให้ นายกอร์ปศักดิ์ ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน เกี่ยวกับเรื่องการติดตาม ตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณกลางปี โดย 1.ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อติดตามงบประมาณ และ 2.มีเว็บไซต์พิเศษ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความเห็นจากประชาชน เชื่อว่าจะเป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อติดตามการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณให้เรียบร้อยและราบรื่นที่สุด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมี 2 ส่วน คือ โครงการชุมชนพอเพียง และโครงการฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือจะมีส่วนในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ ที่สำคัญที่สุด ในการตัดสินใจของรัฐบาลทุกๆ เรื่องจะนำเอาหลักเกณฑ์ในการประเมินจะไม่เอาประเทศเข้าไปสู่ความเสี่ยงจนเกินไป ไม่สุดโต่ง มีเหตุผลรองรับ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวพระราชดำริ คือ เศรษฐกิจพอเพียง ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและจะดำเนินการต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น