xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์คาดจีดีพีติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 52 ลงเหลือ -1 ถึง 0% จากที่ขยายตัวในระดับ 2.6% ในปี 51 ชี้ตัวเลขหดเพราะเศรษฐกิจโลกพ่นพิษ-ส่งออกทรุด เผยไตรมาส 4 ปี 51 จีดีพีติดลบ 4.3% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี แต่ยังไม่เท่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ส.อ.ท.ประเมินส่งออกไตรมาส 2 ส่อเค้าแย่กว่าไตรมาส 1 เหตุคำสั่งซื้อมาต่ำกว่าที่คาดไว้ แนะรัฐรับมือปัญหาแรงงานตกงานพุ่งสูงหากจีดีพีไตรมาส 2 ติดลบ 2.5% แรงงานตกงาน 1.2 ล้านคน เตรียมจับมือกรมจัดหางานจัดตลาดนัดพบแรงงานเน้นระดับปริญญาตรีวันที่ 20-21 มี.ค.ที่สยามพารากอน

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 52 ลงเหลือ -1 ถึง 0% จากที่ขยายตัวในระดับ 2.6% ในปี 2551 ต่ำกว่าที่คาด จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดประมาณการรายได้ทั้งโลกเมื่อเดือนมกราคม 2552 ครั้งสุดท้ายไว้ที่ ร้อยละ 0.5 จากเดิมที่ประมาณไว้ที่ร้อยละ 1.5-2 และคาดว่าคำแถลงของไอเอ็มเอฟในเดือนมีนาคมนี้ เศรษฐกิจโลกจะปรับลดลงอีก
ขณะที่การส่งออกของไทยโดยเฉพาะเดือนมกราคม 51 ที่หดตัวถึงร้อยละ 26 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเหล็กมีการหดตัวถึงร้อยละ 43 เฉพาะฉะนั้นตัวเลขที่รวบรวมในไตรมาส 4 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 51 จะขยายตัวติดลบหนักถึง 4.3% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2540 ที่จีดีพีติดลบประมาณร้อยละ 10

"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอตัวลงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลกระทบให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากและเร็วกวาที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับ สถาบันการเงินเข้มงวดในการขยายสินเชื่อ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าภาคธุรกิจจะลดการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมติดลบครั้งแรกร้อยละ 6.8 ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ติดลบร้อยละ 12.8 และการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ภาคโรงแรมและภัตตาคารหดตัวมากถึงร้อยละ 8.3 ดังนั้นทำให้การลงทุนโดยรวมติดลบที่ร้อยละ 33"

ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/51 มาจากปัจจัยหลักจากการลดลงของการส่งออก และการลงทุน รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2-3 ปี 2551 และสภาพัฒน์ยังคาดว่าในไตรมาส 1/52 เศรษฐกิจจะหดตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2551 และอาจจะรุนแรงกว่า แต่อัตราเงินเฟ้อลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งปี 51 ที่ร้อยละ 7-8 จากการใช้นโยบายการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่วนอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 และเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะมาขอรับเงินชดเชยมากกว่า 6 หมื่นราย อย่างไรก็ตามมีสัญญาณว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตและการลงทุนที่หดตัว

อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลางปี 2552 จำนวน 1.167 แสนล้านเข้าไปยังระบบได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม และเข้าสู่ระบบได้ในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 มีการเร่งรัดได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 94 และหากสามารถเบิกจ่ายงบปี 53 ได้ทันทีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินการโครงการลงทุนของรัฐทั้งในระยะปานกลาง และระยะยาว
ขณะที่การพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำจนเกินไปโดยการประกันราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ การเพิ่มมาตรการค้ำประกันสินเชื่อและขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลาย ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบต้องเฉลี่ยไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์

**ปลอบใจปัจจัยพื้นฐานแกร่งขึ้น

นายอำพนกล่าวว่า ประเทศไทยยังมีทุนทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่มีความเข้มแข็ง ประการแรก วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เรายังไม่มีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน แต่วิกฤติในปี 2551 มีการนำผู้ที่ถูกเลิกจ้างเข้าสู่ระบบ 5-6 แสนคน สามารถได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ ประกอบกับรัฐบาลมีงบประมาณ 6.9 พันล้านบาทเข้ามาฝึกอาชีพให้กับผู้ถูกเลิกจ้างและนักศึกษาจบใหม่ ทั้งนี้เป็นเงินที่ไม่ได้มาจากเงินงบประมาณ แต่เป็นเงินที่มีจากเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมด้วย เพราะหากรัฐเข้ามาดูแล วิกฤติเศรษฐกิจโดยเฉพาะการว่างงานจะต้องนำงบประมาณกว่าแสนล้านบาทมาแก้ปัญหา

ประการที่สอง งบประมาณที่รัฐผลักดันทั้ง เบี้ยยังชีพ อสม. งบประมาณโครงการเอสเอ็มแอล ฯลฯ ที่จะลงสู่ประชาชนในเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าทั้งปี 52 ก็คงจะไม่เกิดการติดลบอย่างแน่นอน
"7-8 เดือนข้างหน้า เรากำลังเจอกับพายุโลก เราจะทำอย่างไรให้พายุพัดน้ำเข้ามาในเรือน้อยที่สุดเพื่อช่วยกันฝ่ามรสุม ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งรัฐที่วางแผนไว้ เอกชน และประชาชน จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาร่วมกันถือเป็นหัวใจสำคัญที่เราจะไม่ติดลบ”นายอำพนกล่าว

**รมว.คลังหวังไตรมาส 4 กระเตื้อง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ สศช.แถลงว่า กระทรวงการคลังได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้แล้วว่าจีดีพีจะติดลบในช่วงไตรมาส 4/51 จนถึงช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ออกมาจากสภาพัฒน์ เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่ฟื้น ทำให้เรามองว่าในไตรมาส 1-2/52 จีดีพีจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 อีก แต่เท่าไรนั้น คงไม่สามารถประมาณการได้ ส่วนในไตรมาส 4/52 จะฟื้นหรือไม่นั้นคิดว่าต้องดูประเทศคู่ค้าเป็นหลักว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีการฟื้นตัวหรือไม่ หากประเทศคู่ค้าไม่ฟื้นก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สถานการณ์ที่ลำบาก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก 70% มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าหลายประเทศในเอเชีย ที่บางประเทศมีสัดส่วนการส่งออกถึง 100%

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณกลางปี 2552 มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจและสามารถช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศได้ รวมถึงทดแทนการหดตัวเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

รมว.คลังกล่าวว่า ข้อได้เปรียบอีกอย่างของไทยคือสถานะทางการเงิน การคลังและระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันยังมีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก จากการพูดคุยกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มั่นใจว่า การไหลเข้าออกของเงินทุนต่าง ๆ ไม่น่าเป็นห่วง ไม่มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับสูง สามารถรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้

"สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้ เพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจไว้ ดูแลผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่กลไกหลักที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน คือ ภาคเอกชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาล" นายกรณ์กล่าว

**บิ๊ก ส.อ.ท.ผวาคนตกงาน 1.2 ล้าน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ) เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดวานนี้ (23ก.พ.) จากการสอบถามสมาชิกส่วนใหญ่พบว่าคำสั่งซื้อไตรมาส 2 ยังเข้ามาน้อยมากจึงมีแนวโน้มว่าภาคส่งออกไตรมาส 2 มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าไตรมาสแรกหรือเฉลี่ยจะติดลบ 15-20% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักคือสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ยังคงชะลอตัวอยู่และทิศทางยังไม่ฟื้นตัวเร็วนัก

“เวลานี้สต็อกสินค้าในไทยเองก็ยังมีอยู่สูงซึ่งสอดคล้องกับต่างประเทศจนถึงต้นไตรมาส 2 สต็อกสินค้าน่าจะทยอยหมดลง ทำให้คำสั่งซื้อมาแบบระยะสั้นๆ เท่านั้นจนกว่าสต็อกจะหมดลงจึงคาดว่าการส่งออกน่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาส 3-4 “นายธนิตกล่าว

จากการหารือปัญหาแรงงานแล้วพบว่าผลพวงดังกล่าว ถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไตรมาส 2 ติดลบ 2.5% อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับ 1.2 ล้านคน

"มาตรการรัฐบาลที่ออกมาจะเน้นการดูแลแรงงานที่ตกงานไปแล้วซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอในระยะยาวซึ่งประเทศอื่นจะเน้นแก้สภาพคล่องก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ปลดคนงาน" นายธนิตกล่าว

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า คำสั่งซื้อจากต่างประเทศทยอยเข้ามาระดับหนึ่งแต่ยังถือว่าน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรนักประกอบกับสต็อกสินค้าเก่ายังคงมีอยู่โดยมองว่าสต็อกเก่าน่าจะทยอยหมดลงในช่วงไตรมาสแรกปีนี้และหวังว่าการผลิตน่าจะเริ่มเข้ามาได้ในไตรมาส 2 จึงยังคาดหวังว่าไตรมาส 2 ส่งออกน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก

“เราเองพยายามหวังว่าการส่งออกไตรมาส 2 ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าไตรมาสแรกแต่ก็ยอมรับว่าคงจะต้องติดตามคำสั่งซื้อในช่วงมี.ค.ว่าจะเป็นอย่างไรแต่ยอมรับว่าเวลานี้ยังมีเข้ามาไม่มากนัก”นายสันติกล่าว

**นักศึกษาจบใหม่ส่อเคว้ง 5 แสนคน

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายงานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการสอบถามสมาชิกส่วนใหญ่พบว่าคำสั่งซื้อไตรมาส 2 ยังเข้ามาน้อยมากจึงมีแนวโน้มว่าภาคส่งออกไตรมาส 2 จะติดลบมากกว่าไตรมาสแรกซึ่งปัจจัยหลักมาจากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักคือสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป มีแนวโน้มไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดขณะที่ตลาดใหม่ๆ ก็มีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน ดังนั้นปัญหาแรงงานจะเป็นปัญหาหนักที่ต้องหามาตรการรองรับไว้พอสมควรโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ 5 แสนคนนั้นคาดว่าจะตกงานทั้งหมดเว้นแต่จะต้องไม่เลือกงาน

“เราเป็นห่วงแรงงานจะเป็นปัญหาตามมาหากส่งออกไตรมาส 2 ยังชะลอตัวต่อเนื่องซึ่งเรามองว่าปีนี้น่าจะทะลุหลักล้านคน แต่ส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมงต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นซึ่งเดิมกลางปีที่แล้วได้เสนอให้รัฐจดทะเบียนต่างด้าวเพิ่มอีก 7 แสนคนดังนั้นจากที่จดทะเบียนอยู่แล้ว 5 แสนกว่าคนทางกรมการจัดหางานจึงต้องการให้มีการจัดตลาดัดพบแรงงานเพื่อที่จะประเมินตัวเลขให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการ”นายทวีกิจกล่าว

**เล็งจัดงานนัดพบแรงงาน 20-21 มี.ค.

นายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้หารือกับ ส.อ.ท.เพื่อที่จะจัดตลาดนัดพบแรงงานภาคอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.นี้ที่สยามพารากอนซึ่งจะเน้นระดับแรงงานปริญญาตรีซึ่งจะมีอัตราการรับสมัครหลายตำแหน่งรวม 1.2 แสนคน โดยเวทีนี้น่าจะช่วยลดปัญหาแรงงานว่างงานได้อีกระดับหนึ่งหากแรงงานไม่เลือกงาน

อย่างไรก็ตาม กรมฯได้มีการเปิดให้แรงงานมายื่นใบสมัครที่กรมฯและจัดงานตลาดพบแรงงานที่ผ่านมาแต่ยังพบว่ามีแรงงานเข้ามาสมัครค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดหวังไว้โดยเข้าใจว่าแรงงานส่วนหนึ่งได้รับเงินชดเชย และอาจจะมีเงินประกันสังคมช่วยเหลืออยู่จึงยังทำให้แรงงานที่ตกงานแล้วมีเวลาที่จะรองานที่เหมาะสม.
เอกชนลุ้นเช็ค2พันบ.ฟื้นกำลังซื้อเม.ย. จับตาห้าง-ร้านเล็งงัดโปรโมชั่นดึงเงิน
ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.คาดหวังเทศกาลสงกรานต์นี้แรงซื้อไทยจะคึกคักจากมาตรการจ่ายเช็ค 2,000 บาทแก่ผู้มีรายได้ต่ำของรัฐบาล จับตาเร็ว ๆ นี้ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆจะเริ่มออกมาจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงการใช้เช็ค แนะรัฐบาลทำนโยบายเชิงรุกทางด้านส่งออกด่วนแม้แรงซื้อในประเทศจะดีแต่อย่าลืมศก.พึ่งพิงส่งออกมากกว่า ด้านกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมเรียกร้องรัฐช่วยอุ้มด่วนก่อนแรงงานในระบบ 5 แสนคนระส่ำ หลังยอดส่งออกม.ค.หด30-40% จี้ของบฯอุดหนุนพยุงการว่าจ้างงาน ลดภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้ราคาสินค้าถูกลง กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น