สภาพัฒน์ คาดอัตราการว่างงานปีนี้อยู่ที่ 2.5-3.5% คาดไตรมาส 2 รุนแรงที่สุด หลังเด็กจบใหม่ออกสู่ระบบกว่า 5 แสนคน แต่มีงานรองรับแค่ 10% เตรียมเร่งแผนกระตุ้น ศก.ชุด 2-3 เร็วๆ นี้ หลังสัญญาณวิกฤต ศก.โลก รอบที่ 2 อาจปะทุกลางปีนี้ แนะจับตาการเสื่อมค่าของทรัพย์สินในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งมูลค่าพันธบัตร และตราสารทางการเงิน กำลังเป็นชนวนสำคัญ
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช.ได้คาดการณ์ปัญหาการว่างงานในปี 2552 แนวโน้มจะทวีรุนแรงขึ้น โดยคาดว่า จะมีอัตราการว่างงาน 2.5-3.5% ซึ่งสูงจากปี 2551 ที่โดยรวมการจ้างงานยังคงขยายตัว 2.1% เพราะปี 2551 ครึ่งปีแรกภาวะการผลิตและภาคเกษตรยังรองรับแรงงานได้ในเกณฑ์ดี แต่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 พบว่า มีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 2.9 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2551 สูงขึ้น 1.3% ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการจ้างงานของไทย
ทั้งนี้ เชื่อว่า ในปี 2552 ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแผนลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ซึ่งอัตราการว่างงานที่คาดว่าจะอยู่ 2.5-3.5% ของกำลังแรงงานรวมคิดเป็นผู้ว่างงานประมาณ 9 แสนคน ถึง 1.3 ล้านคน ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบ 1-0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปีตามฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งมีผู้จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก
ขณะนี้ สศช.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลางและยาวใน 6 สาขา เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบที่ 2 ที่คาดว่า จะปะทุในเร็วๆ นี้ โดยมีสัญญาณจากการเสื่อมค่าของทรัพย์สินของประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและมีความรุนแรงแค่ไหน ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศ ก็เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง
“คงต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเพียงระลอกแรกของปัญหาจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ (ซับไพรม์) เท่านั้น ส่วนระลอก 2 ที่จะตามมาจากทรัพย์สินที่ด้อยค่าลง ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นบ้างแล้วในสหรัฐฯ ทั้งมูลค่าพันธบัตรและตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ โดยไม่สามารถประเมินได้ว่า วิกฤตรอบที่ 2 จะลุกลามมากเพียงใด และจะเกิดขึ้นเมื่อใด”
ส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลางและยาวทั้ง 6 สาขา จะเชื่อมโยงกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในเขตพื้นที่ชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ดูแลพืชผลทางการเกษตร รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาธารณูปการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสากล มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย รักษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องลงทุนด้านการศึกษาการพัฒนาห้องสมุด สื่อการสอน คุณภาพของครูเชื่อมโยงการศึกษานอกระบบ การลงทุนพัฒนาคุณภาพระบบบริการสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคและการลงทุนด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คาดว่า จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 2 ล้านล้านบาท และสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2552-2555 ได้ปีละ 1%
ก่อนหน้านี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นไตรมาส 2 (เมษายน-พฤษภาคม) คาดว่าจะเป็นช่วงที่ไทยจะประสบปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงเนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่นักศึกษาจบใหม่ที่พร้อมเข้าสู่การเป็นแรงงานจะเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนคน และคาดว่า กลุ่มผู้จบใหม่ดังกล่าวจะมีงานรองรับเพียง 10% เท่านั้นเนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันมีกำลังการผลิตเฉลี่ยเพียง 50% การเพิ่มอัตราคนงานจึงแทบไม่มีดังนั้นไตรมาส 2 ของปีนี้จึงมีโอกาสเห็นแรงงานตกงานหลักล้านคน
“คงจะต้องลุ้นการแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้ฟื้นตัวเร็ว เพราะภาคการผลิตไทยส่วนใหญ่เน้นส่งออกเวลานี้โรงงานต่างๆ ก็พยายามที่จะรักษาแรงงานไว้ให้มากที่สุดหากไม่ถึงที่สุดจะพยายามไม่ปลดคนงานออกอยู่แล้วแต่นักศึกษาจบใหม่คงจะลำบากดังนั้นคาดว่าส่วนหนึ่งอาจจะศึกษาต่อ”