xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แจงงบกระตุ้น ศก.2.2 ล้าน ลบ.เตรียมปรับโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาร์ค” เปิดแถลงผลประชุม ครม.เศรษฐกิจ วางเม็ดเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ฉวยวิกฤตเป็นโอกาส ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ พุ่งเป้าลงทุนเมกะโปรเจกต์ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง และสื่อสารโทรคมนาคม โดยใช้วงเงินจากงบประมาณ และเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ รวมไปถึงการร่วมเป็นหุ้นส่วนลงทุนกับภาคเอกชน ส่วนการจ่ายเงิน 2 พัน ให้ผู้มีรายได้น้อย 9 ล้านคน ยันเงินถึงมือ 8 เม.ย.นี้ แน่นอน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) โดยระบุว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ ได้พิจารณาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ในการลงทุนที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว ซึ่งที่ประชุมได้เสนอแผนความจำเป็นและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วง 3-4 ข้างหน้า

โดยมีการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์รวมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนด้านเครือข่ายสื่อสารคมนาคม รวมทั้งการมุ่งให้ภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะอิงพื้นฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น และการฟื้นการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จะมีเป้าหมายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารแลพลังงานทดแทนรวสมถึงภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจะรับเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยใช้วงเงินจากงบประมาณและเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ รวมไปถึงการร่วมเป็นหุ้นส่วนลงทุนกับภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน ครม.ได้พิจารณากรอบการทำงานเรื่องของส่วนกับภาคเอกชน (ppp) โดยมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีหน้าที่ดูข้อกฎหมายให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมงานกับภาครัฐได้ราบรื่น ในการจัดทำบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ยังจะดูหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีการคัดเลือกโครงการที่จะเข้าร่วม ในลักษณะนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกด้วย รวมทั้งปัญหารายละเอียดการร้องเรียนเรื่องเครดิตบูโร แต่เป็นเรื่องเพื่อทราบ

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการประชุม กรอ.ในวันนี้ โดยระบุว่า ตนเองได้มีการหารือภาคเอกชนในแง่การนำมาตราการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปสู่การปฏิบัติ โดยมีสามโครงการหลัก คือ 1.โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานฝึกอบรมแรงงาน โดยการประสาน มีงบประมาณจำนวนหนึ่ง ประมาณ 1.5 พันล้านบาท จากเดิม 6.9 พันล้านบาท ที่จะเป็นโครงการทำกับภาคเอกชน เพื่อฝึกอบรมและเพิ่มทักษะแก่คนที่ยังไม่ว่างงาน แต่มีความเสี่ยงโดยที่ภาคเอกชนจะต้องสมทบเงิน จัดวิทยากรและมข้อผูกมัดว่าจะไม่เลิกจ้างเป็นเวลา 1 ปี ในแง่ของการจัดกรองโครงการตรงนี้จะทำร่วมกันระหว่างภาครัฐโดยสำนักนายกฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาคเอกชนที่มีการกลั่นกรองผ่านองค์กรเอกชนด้วย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2.โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดค่าครองชีพ สินค้าราคาถูกได้รับรายงานจากภาคเอกชน ว่า มีผู้สนใจและให้ความร่วมมือกับโครงการลักษณะนี้ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไร โดยทางรัฐบาลได้ให้ข้อสังเกตว่า เวลานี้ยังมาสินค้าหลายรายการไม่ลดราคาอาจไม่ใช่สินค้าควบคุม ตามการลดลงมาของราคาน้ำมัน ขอให้ภาคเอกชนไปกำกับดูแลกันเองด้วย

3.โครงการเกี่ยวกับการจ่ายเงิน 2,000 บาท ซึ่งได้มีการหารืออย่างกว้างขวาง ว่า หากใช้ระบบการจ่ายเป็นเช็ค ภาคเอกชนจะมีส่วนมาเพิ่มูลค่าตรงนี้หรือไม่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เรื่องนี้มีผู้สนใจจำนวนมาก เพราะภาคเอกชนเองก็ต้องการรักษายอดขายให้มากที่สุด ฉะนั้น ถ้ารูปแบบของการจ่ายเงินตรงนี้ออกไป พูดง่ายๆ คล้ายกึ่งคูปองแต่เป็นรูปแบบเช็คจะทำให้การปลอมแปลงทำได้ยาก มั่นใจว่า มีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชน ยืนยันว่า คนที่เอาเช็คมาใช้จะมีส่วนลดให้ ตั้งแต่ร้อยละ 10-50 เท่ากับเป็นการช่วยเพิ่มยอดเงินที่จะไปถึงมือประชาชนได้ทั้งนี้กระทรวงแรงงานตั้งเป้าว่าจะจ่ายเช็ควันที่ 8 เมษายน 2552 ได้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า ใครบ้างที่จะเข้าร่วมโครงการ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีหลากหลายทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างร้านต่างๆ รวมทั้งธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่มีการตื่นตัวเป็นพิเศษ ยืนยันว่า การจ่ายเช็ค 8 ล้านใบ คาดว่า จะเสร็จทันต้นเดือนเมษายน 2552 ไม่ต้องมีหลายรอบมีรอบเดียว

เมื่อถามว่า เช็คดังกล่าวจะจ่ายผ่านธนาคารเดียวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องรายละเอียดธนาคารไหนจะทำตนไม่ทราบ แต่ที่ต้องจ่ายมี 8 ล้านคน แต่อีกล้านคนอยู่ในระบบราชการอยู่แล้ว ซึ่งฝ่ายที่รับผิดชอบคงจะไปดู คาดว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ได้เงินช่วยเหลือ จะได้พร้อมเงินเดือน ที่เหลือจะให้ประกันสังคมจ่ายผ่านสถานประกอบการ ส่วนคนอื่นที่มีสิทธิ์แต่ไม่มีสถานประกอบการในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะเป็นคนจ่าย โดยจะเริ่มจ่ายทันทีเมื่องบประมาณรายจ่ายผ่านสภาเรียบร้อย

“คงจะเป็นสัปดาห์หน้า และให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดว่า ต้นเดือนมีนาคม 2552 กระบวนการจัดทำเช็คจะเริ่มได้เลย และเริ่มจ่ายเช็คได้ ปลายเดือนมีนาคม 2552 ส่วนผลที่ออกมาเมื่อเช็คไปเข้าบัญชี เราก็จะทราบว่าเงินที่จ่ายนี้มีการหมุนเวียนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ส่วนจะเห็นความแตกต่างอย่างไร ผมคิดว่า ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกไปคงจะเห็นบรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น ในช่วงเดือนเมษายน 2552 เป็นต้นไป”

เมื่อถามว่า ไม่หวังผลมากไปหรือเพราะเป็นการช่วยเหลือคนเพียงกระจุกเดียวไม่ใช่ทั้งประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เฉพาะ 8 ล้านคนยังมีกลุ่มอื่นอีก แต่ 8 ล้านคนก็ถือว่าไม่น้อย นอกจากนี้ รัฐยังมีสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตราการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมาตาการช่วยเหลือคนกลุ่มอื่น เช่น เกษตรกร ในวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ในส่วนผู้ว่างงานจะใช้งบ 6.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการชดเชยคนว่างงาน โดยยืดระยะเวลาเป็นสองเดือน จะเห็นได้ว่าครอบคลุมมากพอสมควร ส่วนที่ไม่ได้หรือยังไม่มีความชัดเจน คือ คนที่มีรายได้เกิน 1.5 หมื่นบาท ที่ต้องยอมเสียสละให้คนที่มีรายได้น้อยก่อน

เมื่อถามว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองทั้งในระยะกลางและยาวคืออย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้เราพิจารณามาสองสัปดาห์แล้ว สัปดาห์ฯหน้าจะเป็นการประชุมเรื่องการขนส่งหรือ โลจิสติก ส่วนปัญหาที่เกรงกันว่าที่ต้องไปกู้เงินต่างชาติมาลงทุนและกระทบเงินกู้นั้น เรื่องนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เตรียมมาตรการ ซึ่งต้องยอมรับว่า ตัวเลขสองเดือนแรกของปีนี้จะหนักเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกทุกประเทศที่เป็นระบบเศรษฐกิจเปิดจะติดลบสองหลักขึ้นไป และอาจจะมากกว่าร้อยละ 20

ฉะนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญการฝึกอบรมแรงงานมากว่าการท่องเที่ยวหรือส่งออก รวมถึงให้ความสำคัญต่อ เอสเอ็มอีด้วย ส่วนกระบวนการลงทุนภาครัฐและเอกชนในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนให้ นายกอร์ปศักดิ์ ไปศึกษาเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เคยตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้แล้วแต่ยังไม่คืบหน้า และความเข้าใจในเรื่องการทำโครงการ ppp ของหน่วยราชการยังติดปัญหาพอสมควร และต้องดูข้อกฎหมายการลงทุน ปี 35 ด้วยต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปก่อน ซึ่งบางโครงการที่มีการลงทุนอยู่แล้วสามารถเดินหน้าไปได้ เช่น เรื่องการเดินรถ

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลจัดงบขาดดุลทางกระทรวงการคลังเตือนว่า อาจจะมีผลกระทบ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราคงไม่ทำงบประมาณารายจ่ายแบบขาดดุลตลอดไป แน่นอนว่าทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าภาวะแบบไหนที่ต้องใช้มาตรการงบประมาณขาดดุล คือ ภาวะการแบบนี่ซึ่งทุกฝ่ายเองก็เห็นตรงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น