xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นหัวทิ่มต่ำสุดรอบ8ปีครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ต่ำสุดรอบ 8 ปีครึ่ง เหตุคนไทยกังวลปัญหาน้ำมันเริ่มกลับมาแพง การเมืองไม่มีเสถียรภาพ จีดีพีหด ส่งออกติดลบ แนะรัฐบาลเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่โดยด่วน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,238 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยประจำเดือนพ.ค.2552 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และส่วนใหญ่ลดลงต่ำสุดรอบ 8 ปีครึ่ง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.เท่ากับ 71.5 ต่ำสุดในรอบ 90 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปัจจุบัน 61.1 ต่ำสุดในรอบ 84 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 73.4 ต่ำสุดรอบ 92 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดเหลือ 64.3 ต่ำสุดในรอบ 90 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำลดเหลือ 63.8 ต่ำสุดรอบ 89 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเหลือ 86.2 ต่ำสุดรอบ 123 เดือน
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการ มาจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 2.40-2.80 บาท ส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มสอดคล้องตาม นอกจากนี้ ยังวิตกกับเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล และคนยังกังวลต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกลงกว่าคาดการณ์อย่างมาก ทั้งจีดีพีไตรมาสแรกจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ลดถึง 7.1% รวมถึงยอดการส่งออกที่หดตัว 25.2% และการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เพิ่มต่อเนื่อง
“ความกังวลต่อสถานภาพการจ้างงานถือเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้สอย และเชื่อว่าภาวะขาดแคลนกำลังซื้อในประเทศจะเกิดขึ้นชัดเจนตลอดไตรมาสสองถึงไตรมาสสาม ซึ่งระหว่างนี้ยอดขายสินค้าของภาคธุรกิจน่าจะลดลงตามด้วย จำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดออกมากระตุ้นกำลังซื้อ”นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า แม้ตอนนี้นักวิชาการและภาคธุรกิจจะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ กับคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ในภาคประชาชนยังไม่เกิดขึ้นและไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบแรก ทั้งเช็กช่วยชาติ 2,000 บาท ต้นกล้าอาชีพ หรือมาตรการลดค่าครองชีพให้ใช้รถเมล์ รถไฟ ประปา ไฟฟ้าฟรี ยังไม่มีประสิทธิภาพแรงพอ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอัดฉีดมาตรการระลอกใหม่ โดยเฉพาะการรับมือกับปัจจัยลบจากน้ำมันที่จะแพงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
“ปัญหาการเมืองเดือนนี้คลายตัวลง แต่คนเริ่มห่วงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า 3 เดือนข้างหน้า ราคาน้ำมันตลาดโลกอาจทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะกระทบราคาขายปลีกภายในและกำลังซื้อผู้บริโภค และประเมินเบื้องต้นว่า หากน้ำมันเพิ่มลิตรละ 1 บาท จะกระทบต่อการใช้จ่ายประชาชน 2,100 ล้านบาท และทุก 1 เดือน น้ำมันจะเพิ่มลิตรละ 2 บาท จะกระทบต่อการใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่รัฐบาลต้องคำนึง และหาแนวทางการแก้ไขไม่ให้ดัชนีผู้บริโภคตกต่ำไปกว่านี้”นายธนวรรธน์กล่าว
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งกระทำ นอกจากการเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และงบประมาณประจำปีให้ได้ตามแผนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะต้องเริ่มภายในไตรมาส 4 รวมถึงเร่งรัดให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) ต้องจ่ายเงินลงทุนลงท้องถิ่นให้เร็วสุด และเร่งกระตุ้นโครงการลงทุนจากหน่วยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากรัฐทำได้ เชื่อว่าการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้น่าจะอยู่ที่ -3.5% ถึง -4.5% ได้ โดยขณะนี้จีดีพีไทยผ่านจุดต่ำสุดไตรมาสแรกที่ลบ 7.1% มาแล้ว ขณะที่ไตรมาสสองน่าจะลบเหลือ –4% ถึง -5% และเริ่มกระเตื้องในไตรมาสสามจนกลับมาบวกได้ 1-2% ในไตรมาสสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น